×

อาลัยหนังตะลุงเคล้าน้อย ‘เคล้า โรจนเมธากุล’ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้สืบสานการแสดงหนังตะลุงในภาคใต้

โดย THE STANDARD TEAM
25.09.2023
  • LOADING...

วันนี้ (25 กันยายน) โกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่า เคล้า โรจนเมธากุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พ.ศ. 2555 ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 สิริอายุรวม 81 ปี ซึ่งทางญาติได้แจ้งว่าจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันที่ 25 กันยายน 2566 ประชาชนทั่วไปรดน้ำศพเวลา 14.00-16.00 น. พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพเวลา 16.00 น. และในเวลา 19.30 น. เป็นพิธีสวดอภิธรรมศพ ณ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านปักษ์ใต้ บ้านคลองเสียด หมู่ 6 ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และพิธีเก็บศพไว้ โดยกำหนดสวดอภิธรรมศพอีกครั้งในวันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 และพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ต่อไป

 

โกวิทกล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม ยังให้การช่วยเหลือด้านต่างๆ เกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ คือมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ 3,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาทอีกด้วย

 

สำหรับ เคล้า โรจนเมธากุล หรือ หนังเคล้าน้อย เกิดวันที่ 1 มกราคม 2485 ที่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ สีชุม มารดาชื่อ เทียน มีพี่น้อง 8 คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาจากการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สมรสกับ ฉลวย หรือ โนราฉลวย ศิลปินโนราแห่งจังหวัดกระบี่ อาศัยอยู่ที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีบุตรและธิดารวมกัน 3 คน

 

เคล้าได้รับการฝึกฝนหนังตะลุงจากหนังสีชุมผู้เป็นบิดา และหนังใหม่หรือปู่ใหม่เป็นครูหนังฝึกสอนให้เข้าใจการแสดงหนัง รวมทั้งติดตามหนังสีชุมเดินทางไปแสดงหนังในท้องถิ่นต่างๆ บางครั้งแสดงหนังแทนบิดา ได้ฝึกฝนกับนายหนังคณะต่างๆ เช่น หนังจันทร์แก้ว หนังประทิน และหนังแคล้ว เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงประกอบพิธีครอบมือกับหนังจันทร์แก้ว บัวขวัญ จากนั้นก็ได้เล่นหนังตะลุงให้ครบสามวัด สามบ้าน ตามธรรมเนียมของหนังตะลุงใหญ่

 

หนังเคล้าน้อยเริ่มการแสดงเป็นอาชีพเมื่อปี 2502 และมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในช่วงปี 2507-2521 มีขันหมากว่าจ้างงานการแสดงเดือนละ 20-30 คืน หนังเคล้าน้อยมีความเป็นเลิศในการขับบทกลอนสดโดยไม่มีการร่างบทกลอนและเจรจารูปหนัง และเป็นยอดในการเชิดรูปหนัง เคยชนะในการแข่งขันเชิดรูปพระอิศวรทรงโคของกรมประชาสัมพันธ์ เสน่ห์ของหนังเคล้าน้อยคือการนำเสนอนิยายที่สร้างความเพลิดเพลิน มีคติธรรมสอนใจ โดยเฉพาะเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ กว่า 40 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีตัวตลกประจำโรงคือ สีแก้วและยอดทอง ที่เป็นที่ชื่นชอบและเป็นสัญลักษณ์ของหนังเคล้าน้อย ด้วยความสามารถในการแสดงหนังตะลุงจึงได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนังตะลุงชั้นครู มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก

 

ผลงานของหนังเคล้าน้อยเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทำให้ได้รับพระราชทานโล่ เข็มประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พ.ศ. 2555 โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นเกียรติประวัติแก่ตนเอง ครอบครัว และวงการศิลปะการแสดงของภาคใต้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising