×

เพียงหวังให้ชาวประชาอยู่ดีกินดี 18 อาหารจากน้ำพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 2)

23.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เมื่อปี พ.ศ. 2512 เกิดภาวะน้ำนมโคล้นตลาดขึ้น จนสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างโรงนมผงขนาดย่อมขึ้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตดังกล่าว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของนมอัดเม็ดสวนดุสิตที่เป็นของโปรดของใครหลายคน
  • สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 นับเป็นพันธุ์ที่แพร่หลายที่สุด และดีที่สุดของไทย ลักษณะเด่นคือ ผิวสวย ผลใหญ่ และมีรสหวาน แต่ล่าสุดมีสตรอว์เบอร์รีอีกพันธุ์หนึ่งคือ ‘พันธุ์พระราชทาน 88’ ซึ่งได้รับพระราชทานนามในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระชนมพรรษา 88 พรรษา แต่หลายคนอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มรส ทั้งนี้เพราะทางโครงการหลวงยังมิได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกันมากนัก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงระยะทดลอง

     เพื่อระลึกถึงและแสดงความซาบซึ้งต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรของพระองค์เสมอมา ในการต่อสู้กับความยากจนให้ประชาชนมีอยู่มีกินตลอดรัชสมัย งานด้านหนึ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดจึงเป็นงานด้านเกษตรกรรม โดยทำผ่านโครงการในพระราชดำริต่างๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างผลผลิตต่างๆ มากมายให้เราได้อิ่มท้องกันแล้ว โครงการทางด้านอาหารต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนยิ้มได้เต็มใบหน้า

     ในบทความตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงอาหาร 9 อันดับ ที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 กันไปแล้ว (อ่านบทความตอนที่แล้ว คลิกที่นี่) มาในตอนที่ 2 ของบทความชุด ‘เพียงหวังให้ชาวประชาอยู่ดีกินดี 18 อาหารจากน้ำพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 9ในตอนนี้ เราขอนำเสนออาหาร ลำดับที่ 10-18 ซึ่งทุกครั้งที่เราได้รับประทานผลผลิตและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คงอดไม่ได้ที่จะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยผู้เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาพระองค์นี้    

 

 

10. นมอัดเม็ดสวนดุสิต

     เรื่องราวของนมอัดเม็ดของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แสดงให้เห็นถึงความวิริยอุตสาหะที่ทรงทำเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 เกิดภาวะน้ำนมโคล้นตลาดขึ้น จนสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างโรงนมผงขนาดย่อมขึ้น โรงนมผงสวนดุสิต เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตดังกล่าว โดยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 140,000 บาท เป็นทุนในการก่อสร้างเบื้องต้น และได้ใช้รายได้จากการจำหน่ายนมสดในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมเป็นมูลค่า 354,000 บาท เริ่มแรกผลิตนมผงจากน้ำนมโคที่รับซื้อจากเกษตรกร ต่อมาจึงได้ตั้งโรงนมเม็ดสวนดุสิต ทดลองเริ่มผลิตนมอัดเม็ดในปี พ.ศ. 2527 หลังจากการทดลองพัฒนากระบวนการผลิตควบคุมคุณภาพและรสชาติจนได้ที่ นมอัดเม็ดสวนดุสิตจึงเป็นของโปรดของใครต่อใครหลายคน รวมไปถึงชื่อเสียงในหมู่ของชาวต่างชาติที่ติดใจในรสชาติด้วย

 

 

11. สตรอว์เบอร์รี  

     การปลูกสตรอว์เบอร์รี เกิดจากมูลนิธิโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชาวไทยภูเขาปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกฝิ่น ช่วงเริ่มแรกของโครงการในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้พระราชทานพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่ชื่อว่า ‘16’ มาให้ทดลองปลูก ซึ่งเป็นสตรอว์เบอร์รีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จนผ่านไป 20 กว่าปี จึงมีการคิดค้นผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีของไทยขึ้นมาเองหลากหลายสายพันธุ์เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างงานให้กับพสกนิกรในพื้นที่สูง เช่น พันธุ์พระราชทาน 50 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตรงกับช่วงครองราชย์ครบ 50 ปี และยังมีพันธุ์พระราชทาน 60, 70, 72 ตามลำดับจนมาถึงพันธุ์พระราชทาน 80 ที่แพร่หลายที่สุด นับเป็นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่ดีที่สุดของไทย ลักษณะเด่นคือ ผิวสวย ผลใหญ่ และมีรสหวาน ล่าสุดมีสตรอว์เบอร์รีอีกพันธุ์หนึ่งคือ ‘พันธุ์พระราชทาน 88’ ซึ่งได้รับพระราชทานนามในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระชนมพรรษา 88 พรรษา แต่หลายคนอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มรส ทั้งนี้เพราะทางโครงการหลวงยังมิได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกันมากนัก เนื่องจากยังอยู่ในระยะทดลอง ทั้งนี้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 88 เป็นพันธุ์ผสมระหว่าง พันธุ์ 60 กับพันธุ์ 80 เป็นพันธุ์ที่หมายมั่นปั้นมือจะส่งขายในตลาดพรีเมียม เชื่อแน่ว่าในอนาคตเราจะได้ลิ้มรสสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ใหม่นี้กันแน่นอน

 

 

12. ผักสดและดอกไม้กินได้โครงการหลวง

     เป้าหมายหนึ่งของโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2512 นั้น นอกจากจะเป็นการลดปัญหาการปลูกฝิ่นช่วยเหลือชาวเขาแล้ว ยังทรงมองการณ์ไกลถึงการช่วยชาวไทยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธารรักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ทำสวนในพื้นที่ส่วนที่ควรเพาะปลูก ตั้งแต่ที่โครงการหลวงได้ดำเนินงานมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันนี้มีการสนับสนุนให้ปลูกพืชผักนานาชนิด ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายมากกว่า 123 รายการ รวมถึงดอกไม้กินได้อีกไม่น้อยกว่า 31 รายการ นี่ยังไม่นับรวมถึงพืชไร่และผลไม้อื่นๆ ที่โครงการหลวงให้การสนับสนุนอีก ผลผลิตเหล่านี้นอกจากมีจำหน่ายที่ร้านโครงการหลวงแล้ว ยังมีส่งตามโรงแรมและร้านอาหารชั้นนำ ซึ่งถ้าหากไม่มีการสนับสนุนให้ปลูกพืช และจัดจำหน่ายโดยโครงการหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันนี้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อาจจะมีมากกว่านี้ และเกษตรกรชาวเขาย่อมมีความเป็นอยู่ที่ลำบากกว่านี้

 

 

13. พาสต้าสดรวม 3 สี

     ผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงในปัจจุบันมีมากมายหลายรายการ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสามารถนำไปปรุงประกอบอาหารหรือรับประทานสด และชนิดแปรรูปตามสำรับไทย-เทศ พาสต้าสดรวม 3 สี นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพที่เหมาะสำหรับคนใส่ใจสุขภาพ ใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตมาจากพืชพันธุ์ของโครงการหลวงทั้ง 38 โครงการ สีเขียวได้จากผักโขม หรือ ปวยเล้ง สีม่วงจากบีทรูท และสีส้มจากแครอต ตัวเส้นเหนียวนุ่ม ไม่ขาดง่าย แถมยังอร่อยมากเพราะเป็นเส้นสด และมีรสชาติของผักผสมอยู่ด้วย นอกจากมีขาย ณ ร้าน Golden Place และร้านจำหน่ายสินค้าโครงการหลวงแล้ว ยังมีเสิร์ฟในร้านอาหารตามยอดดอยต่างๆ ที่เป็นที่ตั้งของโครงการหลวงยอดนิยมด้วย นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย เกี่ยวกับการต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

 

 

14. ชาปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

     สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับวิจัยและทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวแล้ว หน้าที่หลักอีกอย่าง คือ ส่งเสริมให้ชาวเขาในละแวกรอบสถานีปลูกพืชพื้นถิ่น และส่งเข้าสถานีเพื่อนำไปแปรรูป

     หนึ่งในนั้นคือ ‘ชาปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า’ ชาสมุนไพรจากต้น ‘บัวดอย’ พืชพื้นถิ่นบนที่สูง ซึ่งค้นพบมากในแถบเชียงดาว ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ ฯลฯ มีรสชาติหวานธรรมชาติ สามารถดื่มได้ตลอดเวลา ชาวเขานิยมเก็บมาตากแห้งและต้มดื่มเพื่อสุขภาพ หรือลดอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย เพราะอยู่บนเขาต้องเดินทางระยะไกล ข้ามภูเขา และยังต้องแบกสัมภาระด้วย เมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกสดชื่น คลายปวด แข็งแรง เดินคล่อง จนปู่เฒ่าต้องทิ้งไม้เท้า และนั่นคือที่มาของชื่อ ‘ชาปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า’ ที่เราได้ยินกัน

 

 

15. ข้าวกล้องหอมมะลิงอก จากวิสาหกิจวิสาหกิจชุมชน จังหวัดสกลนคร

     ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ทรงเสด็จฯ ไปยังหมู่บ้านนางอย-โพนปลาโหล กิ่งอำเภอเต่างอย ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำริให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน เข้าดำเนินการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยที่ให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาต่อไปได้เอง จากโครงการตามพระราชดำริดังกล่าว ทำให้ ตำบลเต่างอยมีอ่างเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้เพียงพอแก่การทำนาปี และมีการจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นเพื่อรับซื้อผลผลิตของชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่มักเป็นข้าวเปลือกและมะเขือเทศสด

     แต่การขายข้าวแบบปกติได้ราคาต่ำกว่าการแปรรูป กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงสนใจข้าวกล้องงอกที่ขายได้ดีกว่าเท่าตัว โดยได้แรงบันดาลใจจากอาหารบนโต๊ะเสวยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันข้าวกล้องหอมมะลิงอก จากวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดสกลนคร ผลิตขึ้นจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 และส่งขายให้แก่ดอยคำ โดยบริษัทรับซื้อทั้งหมด ก่อนบรรจุหีบห่อและส่งขายออกสู่ร้านค้าในโครงการหลวงทั่วประเทศ

 

 

16. ปลาหมอเทศ

     นอกจากปลานิลที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยง จนกลายเป็นหนึ่งในพันธุ์ปลาสำหรับบริโภคที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทยแล้ว อีกหนึ่งในพันธุ์ปลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้เพาะเลี้ยงเพื่ออำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศไทย คือ ‘ปลาหมอเทศ’ ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาพันธุ์แรกที่พระราชทานให้กับคนไทยก่อนหน้าปลานิลเสียอีก ความจริงแล้วปลาหมอเทศนั้นกรมประมงเมืองปีนังส่งมาให้กรมประมงไทยทดลองเพาะเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ. 2492 เมื่อรัชกาลที่ 9 ทรงทราบ ในปี พ.ศ. 2494 ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้นำพันธุ์จำนวนหนึ่งมาทดลองเลี้ยงในพระที่นั่งอัมพรสถาน ปรากฏว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว อดทนต่อโรค และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว หลังจากนั้น 2 ปีต่อมา คือปี พ.ศ. 2496 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศเข้ารับพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศที่ผลิตได้เพื่อนำไปเลี้ยงแพร่ขยายพันธุ์ในตำบล และหมู่บ้านของตนต่อไป กลายเป็นพันธุ์ปลาที่คนไทยรู้จักต่างก็รู้จักกันดี และได้อิ่มท้องกันไปทั่ว  

 

 

17. น้ำผึ้งจากสวนกาแฟอาราบิก้าของโครงการหลวง

     จัดเป็นแรร์ไอเท็มหายากของโครงการหลวงที่ควรค่าแก่การซื้อหา ‘Arabica Coffee Flower Honey’ หรือ ‘น้ำผึ้งจากสวนกาแฟอาราบิก้า’ เป็นน้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่ได้จากผึ้งตามธรรมชาติ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณสวนกาแฟของโครงการหลวงบนดอยสูง จึงได้น้ำผึ้งที่มีสีเข้มสวยกว่าปกติ มีรสชาติเข้มข้น และกลิ่นหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างจากน้ำผึ้งจากดอกลำไยที่เราคุ้นชิน สามารถเอาไปทำอะไรได้หลายอย่างตั้งแต่ราดวาฟเฟิล กินแกล้มครัวซองต์ ผสมในน้ำผลไม้ หรือแม้แต่ผสมในกาแฟสดก็หอมอร่อย เข้ม รสดี แม้ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นผลพลอยได้จากโครงการหลวงทั้ง 38 ดอย แต่การมีผึ้งธรรมชาติในสวนกาแฟจำนวนมาก จนสามารถนำน้ำผึ้งมาบรรจุภัณฑ์ขายได้ สามารถชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและพันธุ์ไม้ ทั้งยังช่วยเร่งการผสมเกสรของดอกกาแฟ ช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นด้วย

 

 

18. ข้าวโพดหวานสีม่วง

     ข้าวโพดหวานสีม่วง เป็นข้าวโพดหวานพันธุ์ใหม่ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำพันธุ์มาทดสอบและคัดเลือกเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคนอกเหนือจากข้าวโพดหวานสองสี ในบริเวณพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงปางดะ รับผิดชอบดูแลวิจัยขยายพันธุ์พืชเมืองหนาว และไม้ผลเขตร้อนหลายชนิด ขนาดฝักหลังปอกเปลือกยาว 18-20 เซนติเมตร มีความหวานสูง 15 Brix* กว้าง 5.3-5.5 เซนติเมตร และที่สำคัญมีสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคอีโคไลในระบบทางเดินอาหาร สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด กินสดก็ได้ ปรุงสุกก็อร่อย

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

FYI
  • Brix คือ หน่วยที่ใช้บอกความเข้มข้นของของแข็งที่ละลายอยู่ในสารละลาย เป็นเปอร์เซ็นต์น้ำหนักต่อน้ำหนัก มักใช้กับน้ำเชื่อม น้ำผลไม้เข้มข้น เช่น น้ำเชื่อมเข้มข้น 10 Brix หมายถึงน้ำเชื่อมน้ำหนัก 100 กรัม มีน้ำตาลซูโครสละลายอยู่ 10 กรัม (ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X