×

เพียงหวังให้ชาวประชาอยู่ดีกินดี 18 อาหารจากน้ำพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1)

15.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกังวลพระราชหฤทัยในเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของคนไทยมาโดยตลอด ทรงมีพระราชปณิธานให้คนไทยอยู่ดีกินดี มีข้าวกินเพียงพอภายในประเทศ จึงมีโครงการเกี่ยวกับข้าวและการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริให้เห็นตลอดอายุรัชกาล เช่น โปรดเกล้าฯ จัดทำแปลงข้าวทดลองขึ้นภายในสวนจิตรลดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504
  • “อาหารผู้ป่วย ดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย เพราะผู้ป่วยมีความทุกข์ทางร่างกายอยู่แล้ว” เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวและการกลืน นำไปสู่ ‘เจลลี่โภชนา’ อาหารพระราชทาน

     นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2489 ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์เสมอมา ในสมัยก่อนนั้นประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาในเรื่องของที่ทำกิน การประกอบอาชีพ ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมีฐานะยากจน และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก และเพื่อเป็นการต่อสู้กับความยากจน งานด้านหนึ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญจึงเป็นงานด้านเกษตรกรรม โดยทำผ่านโครงการในพระราชดำริต่างๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างผลผลิตต่างๆ มากมายให้เราได้อิ่มท้องกันแล้ว โครงการทางด้านอาหารต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนยิ้มได้เต็มใบหน้า

     เพื่อเป็นการระลึกถึงและแสดงความซาบซึ้งต่อพระมหากรุณาธิคุณ THE STANDARD จึงได้รวบรวมเรื่องราวของอาหาร ผลิตภัณฑ์ อันนอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาความยากจนก็มี และบ้างก็เป็นสูตรอาหารที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 9 โดยเราได้แบ่งบทความออกเป็น 2 ตอน นำเสนอตอนละ 9  ชนิด และต่อไปนี้คืออาหารจากน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ ลำดับที่ 1-9 ทุกครั้งที่เราได้รับประทานผลผลิตและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คงอดไม่ได้ที่จะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยผู้เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาพระองค์นี้

 

 

1. อะโวคาโด

     การปลูกอะโวคาโดของโครงการหลวงนับย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยงในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอกัลยาณิวัฒนา ในปัจจุบัน) สมัยนั้นมีการบุกรุกป่า ทำไร่เลื่อนลอย เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผลไม้หลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ อะโวคาโด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่าผลไม้ชนิดนี้อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารทั้งยังดีต่อสุขภาพ  

     โครงการหลวงได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือปลูกอะโวคาโดหลากหลายสายพันธุ์ จนตอนนี้แพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งใน อ.แม่ริม, อ.หางดง, อ.กัลยาณิวัฒนา ของจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงบางพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนสามารถผลิตอะโวคาโดได้เป็นจำนวนกว่าร้อยตันต่อปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างงาม นอกจากจำหน่ายผลอะโวคาโดกันแบบสดๆ แล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างสบู่และเครื่องประทินผิว นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เด่นที่ทางโครงการหลวงได้มีการจัดให้มี ‘เทศกาลอโวคาโด’ ขึ้นในช่วงปีหลังๆ โดยมีไอเท็มเด็ดที่ใครหลายคนติดอกติดใจกันคือไอศกรีมอะโวคาโด

 

 

2. เจลลี่โภชนา อาหารพระราชทาน

     “อาหารผู้ป่วย ดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย เพราะผู้ป่วยมีความทุกข์ทางร่างกายอยู่แล้ว” เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวและการกลืน นำไปสู่ ‘เจลลี่โภชนา’ อาหารพระราชทาน ซึ่งมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้หารือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการพัฒนาและผลิตขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุจำนวนมากที่ประสบปัญหากลืนอาหารไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เพราะเจลอาหารดังกล่าวมีลักษณะที่นิ่ม กลืนง่าย มี 2 รสชาติ คือ รสชานม และรสมะม่วง นับเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 ทรงที่มีน้ำพระราชหฤทัยนึกถึงพสกนิกรที่ยังความลำบากในฐานะผู้ป่วย

 

 

3. ลูกฟิก

     ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เคยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรเห็นลูกฟิก ได้ทรงรับสั่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ เวลาทรงพระประชวรเล็กน้อย พระราชมารดามักจะถวายผลมะเดื่อฝรั่งให้เสวย ทั้งยังบอกอีกว่า เวลาเสด็จฯ ไปยังโครงการหลวงก็จะทรงโปรดเก็บลูกมะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิก (fig) ผลที่สุกแล้วมาเสวย ทั้งยังมีพระราชกระแสรับสั่งอีกว่า “รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ” ซึ่งโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกผลไม้ต่างประเทศหลากหลายชนิด และหนึ่งในนั้นก็คือฟิก ซึ่งเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ด้วยเกลือแร่และวิตามิน จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์สูงที่สุดในโลก ทั้งยังมีแคลเซียมสูงมาก โดยเริ่มทำการวิจัยโครงการที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะ และทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ปัจจุบันนี้มีการส่งเสริมให้ปลูกถึง 3 สายพันธุ์ ซึ่งนอกจากจะขายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 150 บาทแล้ว ยังมีการนำไปแปรรูปเป็นแยมกับชาใบฟิก ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อย

 

 

4. กระบือนมเมซานี

     เมื่อปี 2539 ดร. วี คูเรียน อดีตประธานคณะกรรมการสภาพัฒนานมแห่งชาติอินเดีย (National Dairy Development Board หรือ NDDB) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการเข้าเฝ้าฯ ดังกล่าว ดร. คูเรียน เกิดความประทับใจและชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ ซึ่งทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาด้านการบริโภคนม และได้เห็นถึงความเป็นไปได้ นการพัฒนาอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย ดังนั้น เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายกระบือนมพันธุ์เมซานี จำนวน 50 ตัวแด่พระองค์ ซึ่งต่อมาเป็นที่มาของการผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ อนึ่ง เมื่อคนไทยมีแนวโน้มในการบริโภคชีสเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ มอสซาเรลลาชีสแบรนด์โครงการหลวง ก็ผลิตจากนมกระบือพันธุ์เมซานีนี้เอง รวมถึง ‘โรงแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนม ของมูลนิธิโครงการหลวง’ Royal Project Artisan Dairy House ซึ่งไม่ผ่านเครื่องจักร แต่เป็นการผลิตในรูปแบบงานฝีมือ ผลิตชีส Mulberry Marble จากนมกระบือพันธุ์เมซานีนี้ด้วย

 

 

5. ข้าวพันธุ์พระราชทาน

     “ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชากรคนไทยไม่ยอม คนไทยต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราต้องปลูก” – พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกภูแล จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2536

     รัชกาลที่ 9 ทรงกังวลพระราชหฤทัยในเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของคนไทยมาโดยตลอด ทรงมีพระราชปณิธานให้คนไทยกินอยู่ดี มีข้าวกินเพียงพอภายในประเทศ จึงมีโครงการเกี่ยวกับข้าวและการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริให้เห็นตลอดอายุรัชกาล เช่น โปรดเกล้าฯ จัดทำแปลงข้าวทดลองขึ้นภายในสวนจิตรลดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เมื่อได้ทดลองเพาะปลูกจนได้พันธุ์ข้าวที่ดีแล้ว จึงพระราชทานให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป รวมทั้งใช้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ถูกพัฒนาต่อยอดกลายเป็นข้าวคุณภาพดีในท้องตลาด เช่น ‘ข้าวขาวดอกมะลิ 105’ ข้าวคุณภาพ หุงง่าย สุกหอม, ‘ข้าวพันธุ์ปทุมธานี’ ข้าวหอมนุ่ม รสชาติคล้ายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ ‘ข้าวดอกพะยอม’ ข้าวชาวไร่ ข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองภาคเหนือ ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ปลูกแซมกับต้นยางพาราได้

 

 

6. น้ำผึ้งสวนจิตรลดา

     ‘น้ำผึ้งคุณภาพจากดอกต้นลำใยทางภาคเหนือ’ คือ ข้อความอธิบายสินค้า หลังบรรจุภัณฑ์ของน้ำผึ้งสีน้ำตาลทองภายใต้ฉลากสวนจิตรลดา สินค้าคุณภาพที่กลายเป็นของติดบ้านทุกครัวเรือน และหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ โครงการจิตรลดา เป็นโครงการส่วนพระองค์ที่รัชกาลที่ 9 ทรงจัดตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลอง และวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล และยังทำหน้าที่สนับสนุน และจัดจำหน่ายผลผลิตจากชาวบ้าน นำมาบรรจุภัณฑ์หรือแปรรูป โดยไม่แสวงผลกำไร

     สำหรับน้ำผึ้งตราสวนจิตรลดา ทางโครงการได้ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงผึ้ง โดยการรับซื้อน้ำผึ้งและขี้ผึ้งจากเกษตรกร เช่น สหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำน้ำผึ้งมาบรรจุขวดและหลอด จัดจำหน่าย ส่วนขี้ผึ้งนำมาผลิตเป็นเทียนขี้ผึ้ง และยังนำไปใช้ในกิจการส่วนพระองค์ และงานพระราชพิธีต่างๆ ด้วย

 

 

7. นมโคเต็มมันเนย และแบบพร่องมันเนย ของโครงการชั่งหัวมัน  

     ย้อนกลับไปในสมัยที่พระองค์ยังคงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วภูมิภาค ทรงพบว่า ชาวบ้านหลายพื้นที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวาน หรือน้ำข้าวผสมน้ำตาล ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงคุณภาพชีวิตเหล่าพสกนิกร และทรงเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของ ‘นมวัว’ ซึ่งสามารถดื่มทดแทนได้ง่าย

     นมโคเต็มมันเนยและแบบพร่องมันเนยของโครงการชั่งหัวมัน เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต่อยอดตามพระราชดำริของวัวนมในโครงการชั่งหัวมัน โครงการซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้เกษตรกรในพื้นท่ายาง สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน คุณสมบัติเด่นของนมในโครงการชั่งหัวมัน คือ เป็นนมสดแท้ 100% ที่ผลิตจากโคนมสุขภาพดี มีความสุขภายในฟาร์มโคนม ท่ามกลางธรรมชาติรายล้อมด้วยทิวเขาเขียวชอุ่มและแปลงหญ้าแพงโกล่าที่อุดมด้วยสารอาหารสำหรับโคนม ผ่านการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไลส์ ถึงครบด้วยสารอาหาร และสามารถเก็บได้นานถึง 1 ปีเต็ม โดยไม่จำเป็นต้องแช่เย็น

 

 

8. สูตรอาหาร ‘ไข่พระอาทิตย์’

     ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสูตรอาหารชนิดหนึ่งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือ ‘สูตรอาหารต้นตำรับ ข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ’ หนังสือเล่มนี้ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งยังทรงเล่าว่า เมื่อครั้งที่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเคยประกอบอาหารพระราชทาน เรียกว่า ‘ไข่พระอาทิตย์’ ซึ่งภายหลังกลายเป็นเมนูที่คนไทยทุกคนรู้จักกันดี เพราะแสดงให้เห็นถึงพระจริยวัตรอันงดงามของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและพอเพียง โดยกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง นับเป็นสูตรอาหารจานที่แสดงให้เห็นถึงทั้งความรักความอบอุ่นระหว่างพระองค์กับพระราชธิดา ซึ่งเผื่อแผ่ไปถึงประชาชนที่ได้นำเมนูอาหารจานนี้มาปรุงรับประทานกันถ้วนหน้าโดยแท้

 

 

9. ปลานิล

     คนไทยหลายต่อหลายคนคุ้นเคยกับการบริโภคปลานิลอยู่เป็นนิจ แต่หาใช่ทุกคนที่จะรู้ที่มาของการแพร่พันธุ์ปลาชนิดนี้ในประเทศไทยไม่ อันที่จริงปลานิลนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ ด้วยพระอัจฉริยภาพ จึงทรงเล็งเห็นว่าปลาชนิดนี้น่าจะเหมาะกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทย ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา การขยายพันธุ์ปลาเป็นไปอย่างดี จนในที่สุดจึงได้พระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมงจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่างๆ จนในที่สุดปลานิลจึงเป็นปลาน้ำจืดที่แพร่หลายและนิยมบริโภคมากที่สุดอีกพันธุ์หนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งสารอาหารจำพวกโปรตีนที่ประชาชนพอจะหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising