×

‘คิงคาซู’ ซามูไรลูกหนังผู้ไม่มีวันตาย อะไรที่ทำให้ยังเล่นฟุตบอลไหวในวัย 52 ปี

22.02.2020
  • LOADING...

มีใครเคยจินตนาการไหมครับว่าในวัย 52 ปี และเหลืออีกไม่กี่วันตัวเลขอายุจะขยับเป็น 53 ปี เวลานั้นคุณจะทำอะไรอยู่

 

บางคนอาจจะคิดถึงภาพของตัวเองนั่งทำงานแบบสบายๆ ในบ้านพักต่างจังหวัดที่แสนสงบ มีสุนัขสักตัววิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ อีกหลายคนอาจจะคิดถึงภาพชีวิตการทำงานหนักในเมืองหลวง ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่หนักขึ้นตามวัยทำให้เหน็ดเหนื่อยมาก แต่เพื่อปากท้องจึงยังต้องทำงานอยู่

 

ไม่ว่าจะมองเห็นภาพตัวเองเป็นอย่างไรก็ตามในอนาคต ในวัย 52 ปีก็ถือว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตการทำงานของคนเราแล้วครับ ถ้าตามหลักปฏิบัติที่ยึดถือกันมานานว่าเราทุกคนต่างมีเวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพถึงแค่วัย 60 ปี หลังจากนี้ก็ควรจะเกษียณตัวเองได้แล้ว

 

แต่สำหรับคนอย่าง คาซูโยชิ มิอุระ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘คาซู’ เขายังเล่นฟุตบอลอยู่เลยครับ และไม่ใช่เตะฟุตบอลเล่นกันตามสวนหรือสนามหญ้าเทียม แต่เป็นการเล่นฟุตบอลอาชีพแบบจริงจัง

 

ทั้งๆ ที่ว่ากันตามหลักธรรมชาติของนักฟุตบอลอาชีพซึ่งมีอายุการทำงานที่สั้นยิ่งกว่าอาชีพทั่วไปมากนัก เพราะอย่างเก่งก็สามารถเล่นได้ถึงอายุราว 34-35 ปี ถ้าดูแลร่างกายดีก็อาจจะได้ยาวนานกว่านั้นอีกสักหน่อย

 

ต่อให้เป็นสุดยอดตำนานแค่ไหน ก็มีน้อยมากที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพได้ในวัยเกินหลัก 4

 

การที่คาซูยังเล่นฟุตบอลได้ทั้งที่เลยหลัก 4 ทะลุมาถึงดอนเมือง เอ้ย หลักเลข 5 ได้ จึงเป็นเรื่องราวที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งครับ

 

ผมเองรู้จักคาซูมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้งแรกที่รู้จักคือช่วงการก่อตั้งเจลีกใหม่ๆ ในปี 1994 ผ่านการเล่นวิดีโอเกมฟุตบอล (สมัยนั้นคือเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม) จำได้ว่าเกมดังในยุคนั้นคือเกม J-League Excite Stage ของค่าย Epoch

 

คาซูเป็นหนึ่งในกองหน้าของทีม ‘อินทรีมรกต’ แวร์ดี คาวาซากิ ที่เก่งที่สุดในยุคนั้นครับ โดยในทีมก็จะมีสตาร์อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รุย รามอส นักเตะชาวบราซิลที่โอนสัญชาติมาเป็นคนญี่ปุ่น, ซึโยชิ คิตาซาวะ ไอ้หนุ่มผมยาวมิดฟิลด์จอมทุ่มเท หรือ บิสมาร์ก กองกลางชาวบราซิล 

 

แต่ถ้าจะให้วัดความดัง ผมว่าคาซูซึ่งเพิ่งคว้ารางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมเอเชียมาครองได้ในปี 1993 น่าจะเฉือนรามอสไปนิดเดียว โดยได้คะแนนพิเศษในเรื่องของการเป็นนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกที่เคยไปค้าแข้งในลีกบราซิลมาแล้ว

 

จริงๆ ในตอนนั้นคาซูก็อายุพอประมาณแล้วครับ คือเข้าวัย 27 ปี (เขาเกิดเมื่อปี 1967) เรียกว่ากำลังเข้าช่วงไพรม์ของชีวิตการเล่นเลยทีเดียว ซึ่งทำให้มีความพยายามที่จะส่งตัวเขาไปแจ้งเกิดในยุโรปให้ได้ เพราะถ้าไม่ส่งไปตอนนั้นก็อาจจะไม่มีโอกาสดีๆ อีกแล้ว

 

Kenwood บริษัทเครื่องเสียงยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นจึงตัดสินใจ ‘ยัด’ คาซูให้กับสโมสรเจนัวในกัลโช เซเรีย อา ที่พวกเขาเป็นสปอนเซอร์หลักในสัญญายืมตัวจากทีมแวร์ดีเป็นระยะเวลา 1 ฤดูกาล

 

การไปในเงื่อนไขแบบนี้จริงๆ มันไม่เวิร์กครับ ใครก็รู้ แต่คาซูก็ตกลงที่จะไป ไม่ใช่เพียงเพื่อความฝันของตัวเอง แต่เพื่อเป็นการเบิกทางให้กับนักเตะรุ่นหลังด้วย

 

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเล่นกับเจนัว โดยได้เล่น 21 นัด และทำได้แค่ 1 ประตู แต่อย่างน้อยมันคือ ‘ก้าวแรก’ ที่นำไปสู่ก้าวต่อมาอย่าง ฮิเดโตชิ นากาตะ, ฮิโรชิ นานามิ, ชุนสุเกะ นากามูระ, เคสุเกะ ฮอนดะ เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบันอย่าง ทาคุมิ มินามิโนะ ที่เป็นนักเตะใหม่ในทีมลิเวอร์พูล สโมสรระดับแชมป์ยุโรป

 

หลังจากนั้นชีวิตของคาซูก็เป็นขาลง เขาถูกตัดชื่อออกจากทีมชาติญี่ปุ่นชุดที่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่ฝรั่งเศสแบบช็อกหัวใจคนทั้งชาติ ทั้งๆ ที่เป็นกำลังสำคัญของ ‘Samurai Blue’ มาโดยตลอด

 

แล้วชื่อของเขาก็ค่อยๆ หายไปจากความทรงจำของแฟนฟุตบอล – รวมถึงผมด้วย

 

ถ้าเป็นนักฟุตบอลทั่วไป ชีวิตเดินทางมาไกลขนาดนี้ ผ่านเรื่องราวมากมายเพียงนี้ ร่างกายบอบช้ำจากการเล่นฟุตบอลมายาวนาน ต่อให้ร่างกายยังไหว แต่หัวใจก็จะบอกให้ ‘พอ’ ทุกคนครับ

 

แต่เรื่องนี้ใช้กับคาซูไม่ได้

 

แม้จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์เหมือนเก่า แต่เขายังคงเล่นฟุตบอลต่อเรื่อยๆ ไปผจญภัยต่อในโครเอเชียมา 1 ปี ก่อนจะกลับมาเล่นในบ้านเกิดกับเกียวโต เพอร์เพิล ซังงะ และวิสเซล โกเบ

 

เท่านั้นไม่พอ ยังขอไปเล่นฟุตซอลด้วยทั้งๆ ที่อายุ 45 ปีแล้ว และยังติดทีมชาติญี่ปุ่นมาแข่งขันฟุตซอลโลกในปี 2012 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพด้วย (ผมเองก็ได้ไปดูมาครับ น้ำตารื้นเลย) เรียกว่าแม้ไม่ได้ไปฟุตบอลโลก แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ไปฟุตซอลโลก

 

ภาพ: Yokohama FC / Facebook

 

 

หลังจากนั้นแทนที่จะหยุด คาซูกลับยังเล่นฟุตบอลอาชีพจนถึงปัจจุบันนี้ โดยล่าสุดเพิ่งจะต่อสัญญา 1 ปีกับโยโกฮามา เอฟซี ที่จะทำให้เขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพต่อไปจนอายุ 53 ปี และเล่นฟุตบอลอาชีพเป็นฤดูกาลที่ 35 

 

โดยที่ฤดูกาลนี้ทีมของเขาได้กลับมาเล่นในลีกสูงสุดอย่างเจ1 ลีกด้วย! (นัดแรกจะพบกับทีมเก่า วิสเซล โกเบ ที่มี อันเดรส อิเนียสตา นำทัพ ในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์นี้)

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เขายังคงตื่นเช้าทุกวันเพื่อมาฝึกซ้อมและรอคอยโอกาสจะได้ลงสนามในทุกสัปดาห์แบบนี้

 

เหตุผลแรกเลยคือ ‘ความรัก’ ครับ

 

หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ ‘ความรักแบบบ้าคลั่ง’

 

เพราะมันคือต้นกำเนิดพลังงานชีวิตที่ดีที่สุด และเป็นสิ่งที่ทำให้ คาซูโยชิ มิอุระ ในวัย 15 ปี ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปหาประสบการณ์เล่นฟุตบอลในบราซิล ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาติที่เล่นฟุตบอลได้เก่งฉกาจที่สุด

 

ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้จักใคร ไม่มีเพื่อน ไม่รู้ภาษา และเตะฟุตบอลสู้คนบราซิลไม่ได้สักนิด!

 

ความรักในเกมฟุตบอลนำเขาไปสู่จุดนั้นครับ และมันยังเป็นเพลิงร้อนในหัวใจที่ทำให้เขายังยืนหยัดในเกมฟุตบอลอาชีพได้ถึงทุกวันนี้

 

“ความหลงใหลที่ผมมีต่อเกมฟุตบอลไม่เคยเปลี่ยนไปเลยนับตั้งแต่ผมเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพเมื่ออายุ 18 ปี” คาซูกล่าว “ผมยังรู้สึกว่ามันมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

 

เหตุผลต่อมาคือ ‘ความมุ่งมั่น’

 

การผจญภัยของคาซู ซามูไรลูกหนัง (เขียนคำนี้แล้วชวนให้คิดถึง โคซึกิ โอเด้ง ซามูไรในตำนานของมังงะวันพีซขึ้นมาทุกที) ในบราซิลนั้นการใช้แค่หัวใจไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้ครับ สิ่งที่ทำให้เขาเอาตัวรอดได้ คว้าโอกาสของตัวเอง และชนะใจทั้งเพื่อนนักเตะและแฟนบอลบราซิลได้คือความมุ่งมั่น

 

เตะไม่เก่งก็ซ้อม ซ้อม และซ้อม ซ้อมจนเล่นได้ไม่แพ้คนอื่น และชนะคนอื่นในที่สุด

 

และความมุ่งมั่นนี่เองที่ทำให้เขาไปได้ไกลกว่าคนอื่น อย่างน้อยในคนยุคเดียวกันก็ไม่มีใครที่จะสามารถไปได้ไกลเหมือนคาซูอีกแล้ว

 

แต่แค่สองอย่างนี้ยังไม่พอครับ มันต้องมีเหตุผลข้อต่อมาด้วยคือ ‘วินัย’

 

ทุกวันนี้ ทุกเช้าเขาจะเดินทางไปถึงสนามซ้อมตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อทำการฝึกซ้อมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องของพละกำลังที่ต้องต่อสู้กับวันและเวลา จากนั้นเมื่อถึงการซ้อมร่วมกับทีม คาซูจะเป็นคนที่ลงฝึกซ้อมอย่างจริงจังเสมอ ไม่มีคำว่าเล่น

 

แม้จะเป็นช่วงปิดฤดูกาล ในการเดินทางไปพักผ่อนแต่ละครั้งเขาจะมีโค้ชฟิตเนสไปด้วยเพื่อกำหนดตารางการฝึกซ้อมให้ และการซ้อมนั้นไม่ใช่เหยาะแหยะแบบขอไปที แต่เป็นการซ้อมที่หนักหน่วง

 

“เขาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลญี่ปุ่นที่ซ้อมหนักที่สุด มาตรฐานในการฝึกซ้อมของเขาสูงมากสำหรับวัยเท่านี้ ถึงแม้ฟอร์มการเล่นของเขาอาจจะตกลง แต่เขาก็พยายามอย่างหนักที่สุดเพื่อจะคงสภาพร่างกายของเขาเอาไว้ให้ได้ และนั่นทำให้เขาเป็นที่น่านับถืออย่างยิ่ง” หนึ่งในคนใกล้ชิดของคาซูเคยเล่าไว้

 

ความเอาจริงเอาจังของเขาเป็นเรื่องน่าขนลุกสำหรับเด็กสมัยใหม่ แต่เพราะวินัย เขาจึงยืนหยัดในทุกวันนี้ได้

 

แม้จะไม่ได้เป็นตัวผู้เล่นหลักของทีม และในแต่ละฤดูกาลอาจจะได้ลงสนามเพียงแค่ไม่กี่นัด นัดละไม่กี่นาที แต่คาซูก็พร้อมจะเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเพื่อที่จะคว้าโอกาสที่มีให้ได้

 

ดังนั้นถึงแม้อีกไม่กี่วันจะอายุครบ 53 ปีแล้ว หรือต่อให้จะผ่านไปอีกกี่ปี เขาก็ยังมองตัวเองเป็นนักฟุตบอลเสมอ

 

ต่อให้ใครไปถาม เราก็จะได้คำตอบเหมือนเดิมทุกครั้งว่า “ผมก็จะเล่นฟุตบอลต่อไปเรื่อยๆ”

 

นี่คือความมุ่งมั่นของซามูไรลูกหนังในตำนาน

 

ทั้งน่ายกย่องและน่าเรียนรู้ในเวลาเดียวกันครับ 🙂

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • คาซูเกิดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1967 หลังอังกฤษคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1996 เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น
  • มิอุระเริ่มต้นสโมสรอาชีพแห่งแรกกับทีมซานโตส ก่อนจะผจญภัยไปกับหลายทีมอย่าง พัลไมรัส, มัตสึบาระ, ซีอาร์บี, เอ็กซ์วี เด เชา, กอริติบา ก่อนจะเล่นให้ซานโตสเป็นสโมสรสุดท้ายในบราซิล และกลับมาค้าแข้งในบ้านเกิดกับแวร์ดี คาวาซากิ (สโมสรโยมิอุริ เอฟซี เดิม) ในปี 1990
  • โยโกฮามา เอฟซี สโมสรต้นสังกัดของเขาเป็นสโมสรที่เรียกว่า Phoenix Club คือสโมสรที่ก่อตั้งโดยแฟนบอลที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมทีมของโยโก​ฮามา มารินอส กับโยโกฮามา ฟลูเกลส์ (ที่ต่อมากลายเป็นโยโกฮามา เอฟ. มารินอส) ซึ่งอิทธิพลในญี่ปุ่นของคาซูมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้สโมสรเป็นที่สนใจ มีสปอนเซอร์สนับสนุน 
  • เขาทำลายสถิตินักฟุตบอลอาชีพที่อายุมากที่สุดตลอดกาลของ ‘ปีกพ่อมด’ (ต้นตำรับ) เซอร์ สแตนลีย์ แมทธิวส์ ได้ตั้งแต่อายุ 50 ปี
  • และเขาเป็นเจ้าของสถิตินักฟุตบอลอาชีพอายุมากที่สุดที่ทำประตูได้เมื่อเดือนมีนาคม 2017
  • วันเกิดทุกปี คาซูจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงน้ำชาที่จัดขึ้นโดยราชสำนักญี่ปุ่นที่พระราชวังอิมพีเรียล
  • ขณะที่งานเลี้ยงวันเกิดของเขาในสโมสรก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เขาจะเปลี่ยนสีชุดสูททุกปี เช่น ตอนอายุ 47 ปีใส่สูทสีครีม พออายุครบ 50 ปีก็ใส่สูทสีชมพู
  • คาซูไม่มีความคิดที่จะเป็นโค้ชหลังเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพแต่อย่างใด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising