×

ซัมมิต คิม-ปูติน สู่ความหวังการเจรจา 6 ฝ่ายเวอร์ชัน 2.0 เพื่อสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

29.04.2019
  • LOADING...
kim-jong-un-vladimir-putin-summit

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่าง คิมจองอึน และ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นเครื่องสะท้อนว่า รัสเซียยังคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ เพราะรัสเซียเป็นแหล่งที่มาสำคัญของเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าเกาหลีเหนือ
  • นอกจากแหล่งรายได้จากการขายแรงงานแล้ว รัสเซียคืออีกหนึ่งมหาอำนาจที่เกาหลีเหนือสามารถใช้สายสัมพันธ์กับรัสเซียในการสร้างอำนาจต่อรองในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
  • ซัมมิตที่วลาดิวอสต็อกเป็นสัญญาณว่ารัสเซียกำลังกลับมาเป็นผู้เล่นในการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่การเจรจา 6 ฝ่ายยุติลงด้วยความล้มเหลวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

การพบกันระหว่างผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ คิมจองอึน และ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2019 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งการประชุมที่สำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งสองผู้นำแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีเดิมพันสูงยิ่งในการพบกันครั้งนี้

 

สำหรับคิมจองอึนและเกาหลีเหนือ รัสเซียคือประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดโดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ จีนอาจจะมีความสำคัญในมิติการเมือง-ความมั่นคง แต่รัสเซียคือแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าเกาหลีเหนือ นอกจากการขายสินค้าที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ถ่านหิน ประมง ให้กับรัสเซียแล้ว รัสเซียทางด้านตะวันออกซึ่งขาดแคลนแรงงาน กลายเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ที่สุดของแรงงานเกาหลีเหนือในต่างประเทศ

 

kim-jong-un-vladimir-putin-summit

 

ที่ผ่านมาแรงงานกว่า 50,000 คนของเกาหลีเหนือทำงานอยู่ในพื้นที่ทางด้านห่างไกลทางตะวันออกของรัสเซีย โดยเฉพาะการทำงานในเหมืองและประมง แต่เมื่อสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือในปี 2017 จำนวนแรงงานเกาหลีเหนือที่ทำงานในรัสเซียก็ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีแรงงานทำงานอยู่เพียงประมาณ 10,000 คนเท่านั้น และถ้าไม่มีการเจรจาระหว่างคิมกับปูติน จำนวนแรงงานเกาหลีเหนือในรัสเซียก็จะลดลงจนหมดไปภายในปี 2020 ดังนั้น คิมจองอึน ต้องผูกมิตรกับรัสเซียเอาไว้ เพราะนี่คือแหล่งรายได้ในรูปเงินสกุลต่างประเทศที่ยังเหลืออยู่อีกไม่กี่แหล่งสำหรับรัฐบาลเปียงยาง

 

นอกจากแหล่งรายได้จากการขายแรงงานแล้ว รัสเซียคืออีกหนึ่งมหาอำนาจที่เกาหลีเหนือสามารถใช้สายสัมพันธ์กับรัสเซียในการสร้างอำนาจต่อรองในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาในครั้งที่ 1 ที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ยังไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซ้ำร้ายการประชุมครั้งที่ 2 ที่กรุงฮานอยก็ล้มเหลว ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้ การเจรจากับจีนที่ผ่านๆ มา แน่นอนว่าก็ทำให้เกาหลีได้รับความช่วยเหลือตลอดมา แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่จีนเองก็ยังมีปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ก็ทำให้จีนไม่สามารถทุ่มสุดตัวเพื่อช่วยกู้สถานการณ์หรือแสดงความเป็นพี่เบิ้มได้อย่างเต็มที่ เพราะจีนเองก็ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เลวร้ายลงมากไปกว่านี้

 

ดังนั้นรัสเซียจึงกลายเป็นยักษ์ข้างบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ที่สามารถสร้างอำนาจต่อรอง (Leverage) ให้เกาหลีเหนือได้ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในขณะที่รัสเซียเองก็มีผลประโยชน์ในการเจรจาครั้งนี้ เพราะรัสเซียทางด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขาดแคลนแรงงาน ด้วยเหตุนี้การใช้แรงงานราคาถูกจากเกาหลีเหนือก็เป็นทางออกที่ดีที่จะเสริมให้เมืองท่าอย่างเช่นวลาดิวอสต็อกกลายเป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้อย่างที่รัสเซียสร้างความหวังเอาไว้

 

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของรัสเซีย วลาดิวอสต็อกคือเมืองท่าเพียงจุดเดียวของรัสเซียที่ทะเลไม่ได้เป็นน้ำแข็งตลอดทั้งปีเหมือนเมืองท่าอื่นๆ ของประเทศ นั่นจึงทำให้ที่นี่เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุด และเป็นที่จอดของเรือรบและเรือดำน้ำติดขีปนาวุธของกองทัพรัสเซีย เช่นเดียวกับเรือสินค้าที่ต้องมาเทียบท่าที่นี่ เพื่อนำเอาแร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ โลหะต่างๆ ที่อุดมสมบูรณ์ในทุ่งน้ำแข็งไซบีเรียออกไปขายสร้างรายได้ให้กับรัสเซีย

 

kim-jong-un-vladimir-putin-summit

 

ในอนาคตหากสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นได้ การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟเข้าสู่เมืองท่าแห่งนี้ก็ยิ่งจะทำให้ความฝันของรัสเซียเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากเกาหลีเหนือจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญโดยเฉพาะ Rare Earth ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคเกือบทุกประเภทแล้ว เกาหลีเหนือยังมีทองคำ เหล็ก โลหะเงิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน รวมทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญไปสู่เกาหลีใต้ที่มีทั้งเทคโนโลยีและกำลังซื้อ และยังเชื่อมโยงไปยังญี่ปุ่นและจีนได้อีกด้วย นั่นทำให้หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะจีนและรัสเซียพยายามอย่างยิ่งที่จะผูกมิตรผ่านการค้าขายกับรัฐบาลเกาหลีเหนือตลอดมา แม้จะมีมติคว่ำบาตรจากสหประชาชาติอยู่ก็ตาม

 

ประธานาธิบดีปูตินก็เข้าใจในสิ่งนี้ และคงพิจารณาด้วยเช่นกันว่าที่ผ่านมาบทบาทของรัสเซียในคาบสมุทรเกาหลีและในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจจะยังอ่อนไป ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ที่พี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างจีนกำลังพะว้าพะวังกับสงครามการค้าสหรัฐฯ ปูตินจึงเสนอตัวเพิ่มบทบาทของรัสเซียในเวทีการเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อเขาได้พบกับผู้นำสูงสุด คิมจองอึน

 

การเข้ามาของรัสเซียในการเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตระหว่างปี 2003-2007 การเจรจา 6 ฝ่ายระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และรัสเซียก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่าการเจรจาครั้งนั้นจะไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากนักก็ตาม

 

การเจรจา 6 ฝ่ายในรอบแรกเกิดขึ้นในปี 2003 เนื่องจากความล้มเหลวของข้อตกลงเจนีวาปี 1994 ระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา โดยในทศวรรษ 1990 เกาหลีเหนือประสบปัญหาภัยธรรมชาติจนเศรษฐกิจตกต่ำ และยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพลังงาน ทางออกของเกาหลีเหนือในขณะนั้นคือการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อพัฒนาการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสหรัฐฯ เกรงว่าการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดังกล่าวอาจทำให้เกาหลีเหนือภายใต้การนำของ คิมจองอิล ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปสร้างอาวุธนิวเคลียร์

 

การลงนามในข้อตกลงเจนีวาปี 1994 จึงเกิดขึ้น (ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบิล คลินตัน) โดยเกาหลีเหนือสัญญาว่าจะปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดังกล่าว ซึ่งฝ่ายเกาหลีเหนือก็ปิดจริง แลกกับการที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะเป็นผู้เข้ามาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถพัฒนาเป็นอาวุธให้กับเกาหลีเหนือ โดยในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ จะส่งน้ำมันดิบปริมาณ 500,000 ตันเข้ามายังเกาหลีเหนือในทุกๆ ปี

 

เหตุการณ์ดำเนินได้ด้วยดีจนกระทั่งหมดวาระของคลินตันในปี 2001 และภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช กลับประกาศว่า เกาหลีเหนือ คือ 1 ใน 3 ประเทศที่เป็นภัยคุกคามของโลกภายใต้ชื่อ Axis of Evil (ควบคู่กับอิรักและอิหร่าน) ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นางคอนโดลิซซา ไรซ์ ก็ประกาศว่า ผู้นำเกาหลีเหนือคือ Outpost of Tyranny เหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ นั่นเองที่เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเจนีวาปี 1994 โดยผลักภาระไปให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นผู้รับภาระทั้งหมดไป และนั่นเท่ากับเป็นการบีบให้เกาหลีเหนือต้องกลับมาเดินหน้าสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีกรอบ และในที่สุดก็กลายเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

 

ปี 2003 ด้วยความหวาดหวั่นของสหรัฐฯ ว่าเกาหลีเหนือจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ สหรัฐฯ จึงขอให้ปักกิ่งเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจา 3 ฝ่าย สหรัฐฯ จีน และเกาหลีเหนือ ในการบังคับให้เกาหลีเหนือยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งนั้นเกาหลีเหนือก็ไม่ยอมรับคำขอของสหรัฐฯ เสียแล้ว เกาหลีเหนือมองว่าหากตนเองยอมทำตามนั่นก็เท่ากับตนเองยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ เท่ากับสหรัฐฯ เข้ามามีอำนาจเหนือรัฐบาลของคิม ซึ่งยึดมั่นในหลักการจูเช (Juche, พึ่งพาตนเองบนหลักการ 3 ข้อ Jaju การมีอิสรภาพ, Jarip เศรษฐกิจชาตินิยมพึ่งตนเอง และ Jawi การมีกองทัพที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันตนเอง ร่วมกับแนวคิด Songkun กองทัพต้องมาก่อน)

 

แต่เกาหลีเหนือก็ยังเปิดทางเจรจาไว้ โดยขอให้เป็นการเจรจา 6 ฝ่าย อันได้แก่ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ซึ่งการเจรจา 6 ฝ่ายก็เกิดขึ้นระหว่างปี 2003-2007 ซึ่งแน่นอนสำหรับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย การที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเองคือหอกข้างแคร่ ดังนั้นจึงเข้าร่วมการเจรจา แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจา 6 ฝ่ายก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น 6 รอบ และยุติลงไปแล้วในปี 2009

 

ดังนั้นในปี 2019 ซึ่งนับเป็นวาระครบรอบ 10 ปีหลังการยุติการเจรจา 6 ฝ่าย และเมื่อเราได้เห็นรัสเซียเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่เสนอตัวเข้ามาในการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี เท่ากับว่าเราได้เห็นผู้เล่นทั้ง 6 กลับเข้าสู่สนามการเจรจาอีกรอบ นั่นหมายความว่า Six-Party Talk version 2.0 อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเร็วๆ นี้ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินคาดหวัง

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising