×

รัฐยืนยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ใช้ 5.6 แสนล้าน ถึงมือประชาชน ช่วยคนกำลังจมน้ำมีทุ่นหายใจ

11.10.2023
  • LOADING...
นพ.รพหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

วันนี้ (11 ตุลาคม) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์รายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังรวบรวมเรื่องตรวจสอบโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยผู้ดำเนินรายการถาม นพ.พรหมินทร์ ว่าทางรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าโครงการนี้ต่อหรือไม่ 

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เบื้องต้นสิ่งที่ได้เสนอไปไม่มีอะไรที่จะเป็นเรื่องผิดเลย ส่วนการตรวจสอบก็ว่ากันไป ซึ่งที่ผ่านมาเราต้องยึดหลักดูสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจทั่วไปว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดูจากช่วงใกล้ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา เศรษฐกิจเราติดลบ แล้วขณะนี้ดูเหมือนกระเตื้องขึ้น พ้นตรงนั้นไป แต่ถามว่าเศรษฐกิจถึงจุดเก่าหรือยัง คงยังไม่ถึง เมื่อเราดูตัวเองแล้ว เราต้องเทียบกับต่างประเทศที่อยู่ใกล้ๆ ขณะนี้ประเทศอื่นเขาไปไกลกว่าแล้ว สถานการณ์แบบนี้ ในอนาคตเราจะอยู่ในสถานะที่ไม่ดีเท่าไร เพราะฉะนั้นเป็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เรารับผิดชอบการมาเป็นรัฐบาล เรามีหน้าที่ที่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของประชาชน 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เราก็ดูง่ายๆ ถ้าพูดถึงภาวะหนี้ครัวเรือน ใครบอกเศรษฐกิจดีให้ไปดูภาวะหนี้ครัวเรือน ผมไปดูหนี้ครัวเรือน ก่อนหน้านี้มีไม่ถึง 60% ช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 ช่วงรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีหนี้ครัวเรือนประมาณ 55% แต่ขณะนี้หนี้ครัวเรือนไต่ไปถึง 90% ของ GDP สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขึ้นมาเป็น 90% เป็นกราฟที่ไต่ชันมาก ถ้าใครจะบอกว่าเศรษฐกิจดี ต้องมาดูแยกแยะว่าดีสำหรับใคร 

 

ผมว่าวันนี้ทุกคนยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเสียงที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจากคนที่มีรายได้ต่ำ เขาเห็นแตกต่างจากคนที่บอกว่าเศรษฐกิจดี

 

ในขณะนี้มาตรการทางการเงิน (แบงก์ชาติ) สร้างเสถียรภาพโดยไปแก้เงินเฟ้อด้วยดอกเบี้ย การพยายามแก้เงินเฟ้อปัจจุบันนี้ เงินเฟ้อในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา เปลี่ยนจาก 5% ลงมาเหลือ 0.3% ในเดือนล่าสุด คือตกลงมาเหลือ 0.3% พูดง่ายๆ ว่าเกือบจะไม่มีความสามารถในการซื้อ เพราะตกหมด 

 

ขณะคนที่ดูแลทางด้านการเงินเขาใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งดูเหมือนสวนทางกัน (กับรัฐบาล) นึกสภาพคนที่ลำบากอยู่แล้ว ต้องกู้เงินอยู่แล้ว มูลหนี้มีอยู่แล้วถึง 90% ต้องมาเพิ่มค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม รวมไปถึงผู้ประกอบการด้วย 

 

หน้าที่ของรัฐบาลคือ ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหานี้ ถึงแม้รัฐบาลจัดการเรื่องการเงินตรงนี้ไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการเรื่องอื่นได้ คือ 1. ลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้า เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั่วกัน เมื่อได้ประโยชน์ทั่วกัน แม้มีค่าใช้จ่ายด้านอื่น (ดอกเบี้ย) สูงขึ้นแล้วเราจัดการไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการด้านค่าใช้จ่ายทั่วไปของประชาชนได้ เรื่องที่ 2. มาตรการพักหนี้เกษตรกรก็จะมีผลแล้ว จัดการตรงนั้นเรียบร้อย ซึ่งจะมีผลทันที เราจัดการไปแล้ว

 

แต่เพียง 2 เรื่องนี้ยังไม่พอ ลำดับต่อไปคือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้มีเศรษฐกิจเกิดขึ้น วันนี้ตัวโรงงาน เครื่องจักรต่างถูกใช้งาน 60% ตัวเลขล่าสุดยังอยู่แถวนี้ แปลความว่าไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ถ้าหากมีการใช้จ่ายเพิ่ม มีความต้องการสินค้าเพิ่ม มีกำลังซื้อเพิ่ม ก็จะไปซื้อสินค้า โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ พูดง่ายๆ ซื้อของมาผลิตแล้วขายไป เพราะฉะนั้นจะเกิดการจ้างงาน เกิดการขายสินค้า เกิดการจ้างงาน ส่งผลไปถึงการบริโภคขึ้น นี่เป็นเหตุผลสำคัญในการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ข้อสงสัยว่าเงินเหล่านี้มาจากไหน ต้องอธิบายว่า ตั้งแต่ช่วงโควิดมา รายได้ของประชาชนหายไป ต้องใช้เงินสะสมคือเงินเก่าทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการที่รัฐเข้ามาช่วยคือการชดเชยสิ่งที่เขาเคยมีแล้วหายไป เพื่อให้กลับฟื้นมาโดยเร็ว 

 

เงินจะมาจากไหนนั้น รัฐบาลเราเห็นว่า ถ้าขยับเงื่อนไขแบบนี้แล้วมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งหมด เรามั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นความจำเป็นในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

ผมว่า 10,000 บาท ใส่เข้าไปสำหรับทุกคน ต้องให้หลักประกันว่าเรามีเงิน คือข้อวิจารณ์ต่างๆ วันนี้ต้องเข้าใจแล้วว่า นี่คือเงินบาท ไม่ใช่สกุลเงินใหม่ แต่พูดง่ายๆ ว่า แทนที่จะไปจ่ายด้วยธนบัตร ก็ไปจ่ายด้วยระบบใหม่ การจ่ายด้วยระบบใหม่ที่เราเรียกว่าดิจิทัลวอลเล็ต มันสามารถสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนต้องใช้จ่ายแล้วใช้ให้หมด เพราะหากให้เป็นเงินสด ประชาชนเอาไปเก็บก็ไม่มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

จึงเร่งให้มีการใช้จ่ายเงินจำนวน 10,000 บาทนี้ สำหรับคนที่มีรายได้น้อยก็จะมีคุณค่ามาก หากติดตามข่าวสงครามในอิสราเอลช่วงนี้ คนงานนำเงินหมื่นบาทกลับมาให้ครอบครัวต่อเดือน ทุกคนตื่นเต้นกันทั้งครอบครัว แต่โครงการนี้ให้ 1 หมื่นบาทต่อคน ทุกคนก็จะมีกำลังซื้อ มีกำลังใจ 

 

เงินจำนวนนี้ไม่ใช่สามารถใช้จ่ายอย่างเดียว ลองนึกถึงกรณีครอบครัวเกษตรกร เงินนี้จะเป็นต้นทุนในการผลิตอะไรต่างๆ ส่วนคนรุ่นใหม่สามารถจะนำเงินก้อนนี้ไปร่วมกันทำสตาร์ทอัพ ทำเรื่องต่างๆ ได้มากมาย ซื้อสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ได้

 

เราอาจจะมีเงื่อนไขให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่ม นี่เป็นการยกตัวอย่างก่อน 

 

สำหรับคนที่มีรายได้เยอะที่มีการพูดถึงกัน เงิน 10,000 บาทดูเหมือนจะน้อย แต่หากรวมกันแล้วสามารถซื้อสินค้าที่ทำให้ได้ราคาลดลง เขาก็อยากซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งหมดก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจไปได้ แต่ถ้าใครสมัครใจที่จะไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร 

 

สิ่งเหล่านี้เราเชื่อว่าใน 6 เดือนรอบแรกมีการใช้จ่ายแบบนี้ ก็จะสามารถกระตุ้นเป็นรอบที่ 1 ก่อน แต่อย่าลืมว่าพอรอบที่ 1 เกิดขึ้น หลังจากมีการใช้จ่ายก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทุกสเต็ปจะเริ่มทวีคูณเพิ่มขึ้น 

 

และที่สำคัญเราวางเงื่อนไขว่า การใช้จ่ายนี้ต้องกลับมาให้เก็บภาษีได้ นี่คือความสำคัญของดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่เอาเงินไปเก็บไว้แล้วรัฐไม่ได้ภาษี เราให้นำมาใช้จ่ายเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม หรือใช้จ่ายแล้วสามารถเก็บภาษีได้หมุนกลับมา นี่เป็นหลักการเบื้องต้น ผมคิดว่าสามารถสร้างความเข้าใจได้พอสมควร 

 

ในขั้นตอนต่อไปของรัฐบาล เราไม่ได้มีเฉพาะมาตรการนี้มาตรการเดียว นอกจากนี้จะสังเกตว่าควบคู่กัน เราทำเรื่อง Soft Power คือการกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนทุกครัวเรือนมีสิทธิ์ที่จะสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ด้วยศักยภาพ ด้วยสมองและสองมือ เป็นต้น เช่น เรื่องสุราเสรี ที่จริงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นำโดยคุณทักษิณ ชินวัตร นายกฯ เราเป็นเจ้าตำรับเรื่องการให้มีสุราพื้นบ้านมาตั้งแต่ในอดีต เราก็ปลดปล่อยตรงนี้ 

 

ขณะนี้คนรุ่นใหม่มาพร้อมศักยภาพการผลิต แทนที่จะเป็นสุราพื้นบ้านก็เป็นสุรา SMEs เป็นกลุ่มที่ 2 แล้วในที่สุดเราสามารถแยกแยะกับสุราจากโรงงานขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 

 

เงินเหล่านี้ก็จะไปกระตุ้นได้ ถ้าไปรวมตัวกันซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มา ก็จะไปใช้จ่ายแบบนี้ได้ ก็จะได้รับการส่งเสริม เป็นต้น 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า รัฐบาลเชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีความจำเป็นใช่หรือไม่

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ใช่ครับ เพื่อให้ GDP ขึ้นไปเฉลี่ย 5% ต่อปีใน 4 ปี แม้ปีแรกอาจจะยังไม่ขึ้น แต่ว่าต้องสามารถขยับขึ้นได้เรื่อยๆ 

 

สิ่งที่ควบคคู่กันไป เนื่องจากการใช้จ่ายอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ แต่เราทำให้เครื่องจักรเริ่มหมุนแล้ว ถ้าเรามองแต่วิธีชี้วัดแบบเดิมๆ ก็จะไปดูว่าซื้อเครื่องจักรมาเท่าไรอะไรต่างๆ แต่อย่าลืมว่าถ้าหากเป็นต้นทุนในการผลิตเล็กๆ หน่วยเล็กๆ ของสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นตัวที่พยายามขับเคลื่อน บริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ คนไม่กี่คนรวมกัน อีกหน่อยก็เป็น S เป็น M เป็น L ได้ เป็นต้น เป็นการสร้างฐาน 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า สูตรนี้แปลว่ารัฐบาลเชื่อในประชาชนว่าจะใช้เงินไม่สูญเปล่าและจะมีการลงทุน

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลเชื่อในประชาชนแน่นอน ผมไม่ได้พูดลอยๆ ยกตัวอย่าง มี สส. จังหวัดเพชรบูรณ์มาเล่าให้ผมฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านถาม สส. ว่าในพื้นที่ของเขาในรัศมี 4 กิโลเมตร มีร้านค้าเพียง 2 ร้าน ทำอย่างไรดี เมื่อเขาอยากได้ของอย่างอื่น 

 

ผู้ใหญ่บ้านถาม สส. เองเลยว่า ถ้าเขาไปรวมกันเป็นร้านค้าของหมู่บ้านแล้วไปจดทะเบียนเพื่อเป็นร้านค้าในระบบภาษี แล้วไปซื้อของที่ไม่มีขาย มาขายในหมู่บ้าน ก็ทำได้ใช่หรือไม่ ซึ่งทำได้ เขาจะได้รายได้ และร้านค้าอยู่ในระบบภาษี นี่เป็นความริเริ่มจากชาวบ้าน ชาวบ้านเขาคิดมาให้ผมแล้ว แม้เป็นระดับผู้ใหญ่บ้านธรรมดา ซึ่งกรณีนี้ทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นใหญ่ 

 

ไม่ได้คิดว่าทั้งหมดจะนำไปสู่การลงทุน เช่น เกษตรกรที่ได้รับการพักหนี้แล้ว แต่เงินใหม่จะมาจากไหน คำตอบคือ เงินเหล่านี้จะเป็นเงินใหม่ที่จะทำการเพาะปลูก สมมติเขาต้องทำเรื่องระบบน้ำ เรื่องอะไรต่างๆ สามารถลงทุนได้ ถ้าเขามีโอกาส 

 

เรายังทำอย่างอื่นอีก เช่น พยายามหาตลาด วันนี้นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องการสร้างความเชื่อมั่น เพราะเราต้องค้าขายกับต่างประเทศ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเป็นการนำรายได้เข้าประเทศ ผมว่าเป็นความพยายามเปิดประตูทุกประตู อาจจะมีกรณีผิดพลาดคือ เด็กอายุ 14 ปีไปยิงคนที่พารากอน ทำให้การท่องเที่ยวเบรก แต่เชื่อว่าสักพักหนึ่งจะกลับคืนมา 

 

รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นการนำเงินจากนอกประเทศมาขยายโอกาสให้ภายในประเทศทั้งหมด ในขณะเดียวกันการลงทุนต้องมีความเชื่อมั่น โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เดินทางไปพบปะนักธุรกิจรุ่นใหญ่ นอกจากเจรจาการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังได้เจอตัวจริงของนักธุรกิจต่างๆ ในระดับโลก 

 

แม้กระทั่งบางเจ้าอย่าง Amazon, AWS เข้ามาลงทุนแล้วติดขัดข้อกฎหมาย เราก็แก้ข้อกฎหมายเก่าบางเรื่อง เมื่อ 1-2 วันนี้เราจัดการเลย ขอเร่งรัดในการแก้ไขข้อกฎหมายบางเรื่องให้สอดคล้องกับการที่เขาจะตัดสินใจลงทุน แล้วมาลงทุน ถ้าเราแก้กฎหมายตรงนี้ทันก็จะผ่านได้

 

เมื่อวานนี้นายกฯ สั่งทางไกลมาถึงผมนะครับ บอกให้ผมจัดตั้งคณะกรรมการ นำโดย ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เพื่อตั้งกรรมการแก้อุปสรรคของธุรกิจ ขจัดอุปสรรคธุรกิจ เพื่อทำให้ธุรกิจต่างๆ คล่องขึ้น กฎหมายต่างๆ ที่ง่ายๆ เราจะรีบปรับแก้ 

 

วันนี้คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญไปเร่งจัดการกฎหมายที่เกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้าจะสามารถเล่าให้ฟังได้ว่าอันไหนยกเลิกไปได้ก่อน นี่เป็นเรื่องที่เราทำพร้อมกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่น 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ในมุมของคนคัดค้านโครงการมองว่า เครื่องยนต์เรื่องการใช้จ่ายภาครัฐและเครื่องยนต์เรื่องการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ มีข้อถกเถียงกันว่าเงินมีจำกัด เงินก้อนเดียวกันมีเงินแค่นี้ ขณะรัฐบาลเลือกกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แทนที่จะกันเงินไว้ทำโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนใช้จ่ายภาครัฐเอง โดยฝ่ายที่ค้านดิจิทัลวอลเล็ตบอกว่า การบริโภคสูงอยู่แล้วในรอบ 10 ปี ทำไมไม่เผื่อเอาไว้กรณีต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนของรัฐ 

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เป็นการวิจารณ์ด้านเดียว เราต้องเลือกดูว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ อะไรที่ได้ประโยชน์จริง แล้วไปรัดเข็มขัดในเรื่องที่ไม่จำเป็น เพื่อไปใช้ในเรื่องที่จำเป็น เช่น เรื่องการขนส่ง เราก็คงเลือกโครงการที่สามารถสร้างเศรษฐกิจได้ เช่น โครงการสมัยรัฐมนตรี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เราจะทำรถไฟความเร็วสูงก็ถูกบอกว่าให้ไปทำให้ถนนลูกรังหมดเสียก่อน ทำให้ประเทศเสียโอกาส เพราะขณะนี้ สปป.ลาวมีรถไฟความเร็วสูงไปจ่อจีนแล้ว และที่เคยถูกหัวเราะเยาะว่าเอาไว้ขนผักนั้น ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงก็ขนสินค้าประเภทนี้จริงๆ ตอนนี้มาจ่อเวียงจันทน์แล้ว ดังนั้นถ้าต้องเลือกก็เลือกรถไฟความเร็วสูงจากหนองคายมาก่อน เพื่อเปิดให้สินค้าทะลุเข้ามาง่ายขึ้น เราก็เลือกวางแผนในสถานการณ์ที่ถูกต้อง เรื่องอื่นที่ไม่จำเป็นก็ชะลอไว้ก่อน 

 

เรื่องปัญหาน้ำเราก็ให้ความสำคัญ เรามิได้ละเลยการลงทุนในสิ่งที่จำเป็น แล้วมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาทนี้ เราใช้การบริหารจัดการเพื่อให้มีเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังหารือกันอยู่ เพื่อจะได้ประโยชน์สูงสุด  

 

การใช้เงินครั้งนี้ใช้ 5.6 แสนล้านบาท เทียบกับการใช้จ่ายรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีการกู้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท (รวมช่วงโควิด) แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น แล้วตอนนี้หนี้ครัวเรือนโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันดับ 7 ของโลกแล้ว ต้องคำนึงถึงคนที่กำลังจะจมน้ำ จะได้ประโยชน์สูงสุด มีทุ่นให้เขาเกาะขึ้นมาหายใจ และเป็นกำลังในการผลิต สร้างรายได้ขึ้นมาพร้อมๆ กัน

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีฝั่งแบงก์ชาติและอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น 

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราคงมองต่างกัน รัฐบาลเราใกล้ชิดประชาชน เพราะฉะนั้นคงไม่ได้ดูเฉพาะตัวเลขที่เป็นภาพรวม ผมเชื่อว่าความเห็นต่างๆ ก็ดี จะได้นำมาประกอบเป็นข้อเตือนใจ ข้อห่วงใยต่างๆ จะได้นำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ มิได้ละเลย 

 

สมัยช่วงปี 2540 ประเทศเกือบล้มละลาย เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ด้วยมาตรการทำนองนี้ รัฐบาลไทยรักไทยรักษาระเบียบวินัยการเงินการคลัง เราสามารถผ่านพ้นมาได้ เชื่อว่าการสร้างรายได้ทุกกลไกสามารถเพิ่มขึ้นได้ เราจึงสามารถคืนหนี้ IMF ได้ก่อนกำหนด 2 ปี

 

โครงการต่างๆ สอดคล้องกันหมดพร้อมกับพักหนี้เกษตรกร มีกลไกสร้างรายได้ สำหรับรัฐบาลนี้มีดิจิทัลวอลเล็ต และ Soft Power เพื่อใช้ศักยภาพคนไทยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างงานมหาศาล มีพักหนี้เช่นกัน มีโอกาสต่างๆ มากขึ้น

 

คนที่วิจารณ์รัฐบาล เขาลืมไปว่าผมทำงานยังไม่ครบเดือนเลย แต่งานต่างๆ ออกมามากมายแล้ว 

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในสมัยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่เน้นการบริโภค ครั้งนั้นทำสำเร็จ แต่ครั้งนี้ยังไม่ทราบว่าจะสำเร็จหรือไม่ จะเป็นความเสี่ยงหรือไม่ที่เลือกกระตุ้นขนานใหญ่ แทนการค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้วตามความคิดเห็นของอีกฝั่งหนึ่ง

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ถ้าเรามีเสถียรภาพโดยถูกขังในสภาพเก่า ขณะคนอื่นกำลังเคลื่อนไหวไปแล้ว เราก็จะไปไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นคนจนถาวร ผมว่าไม่อยากให้ประเทศอยู่ในสภาพอย่างนั้น เพราะที่จริงเรามีศักยภาพ สำหรับความเสี่ยง เราก็ต้องมีมาตรการจำกัดความเสี่ยงต่างๆ เช่น ข้อเตือนต่างๆ เรารับฟังทุกประโยคทุกคำพูดแล้วมาตัดสินใจ แต่หน้าที่รัฐบาล (ฝั่งการคลัง) คือทำให้เศรษฐกิจโต ส่วนหน้าที่ฝั่งการเงินคือแบงก์ชาติ ที่ต้องทำให้มีเสถียรภาพก็ทำไป มีหน้าที่แตกต่างกัน ต้องช่วยกันผนึกกำลังและทำความเข้าใจ 

 

ผมอยู่ในการประชุมที่เชิญผู้ว่าแบงก์ชาติมาคุยกัน ผมตั้งคำถามเหล่านี้ ท่านก็ไม่ขัดข้อง มีการคุยกันหลายรอบ ผู้ว่าแบงก์ชาติปัจจุบันยังตอบคำถามเรื่องผลกระทบ Credit Rating ซึ่งผู้ว่าแบงก์ชาติยังตอบว่า ถ้ารัฐบาลทำแบบไหนจึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับ Credit Rating

 

ผู้ดำเนินถามว่า Credit Rating จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะเพิ่มต้นทุนทางการเงินของประเทศ ตามข้อกังวลของกลุ่มคัดค้านโครงการ 

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เมื่อวานมีเอกสารออกมาจากสถาบันการเงินใหญ่แห่งหนึ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทกลุ่มการเงินใหญ่ พูดชัดๆ เลยว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไม่กระทบ Credit Rating โครงการ 5.6 แสนล้านบาท ไม่กระทบ Credit Rating ในสายตาเขา ผมไม่ได้บอกว่าสถาบันการเงินทั้งหมด

 

เราคำนึงถึงเรื่องนี้มาก เพราะ Credit Rating หากกระทบก็จะกระทบทั้งหมด ฉะนั้นในประวัติที่ผ่านมาเรารักษาระเบียบวินัยการเงินการคลังได้ดีที่สุด รวมถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีการรักษาระเบียบวินัยการเงินการคลัง เรื่องนี้มีความสำคัญอันดับ 1 เราเขียนในนโยบายรัฐบาล ใส่ประโยคนี้ชัดเจน 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมไม่ประกาศให้ชัดเจนว่าใช้เงินจากไหน ทำไมต้องรอปลายเดือนตุลาคม

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า มีแหล่งเงินที่เป็นไปได้และมีการบริหารการเงินอยู่หลายทางเลือก ซึ่งกระทรวงการคลังบอกว่ามีหลายทางเลือก ขณะนี้จึงยังไม่อยากพูดแทนกระทรวงการคลัง ขณะนี้มี 2-3 ทางเลือก ใช้งบประมาณส่วนหนึ่ง แล้วก็มีทางเลือกให้หน่วยงานต่างๆ ออกไปก่อน หรือมีการกู้ แต่ทั้งหมดนี้คำนึงถึง Credit Rating เราตั้งงบประมาณรองรับไว้

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวด้วยว่า เงินดิจิทัลมีค่าเท่ากับเงินบาท เพียงแต่เป็นเงินบาทที่ให้ใช้ตามเงื่อนไข และนำไปใช้ในมูลค่าเท่ากับเงินบาท ไม่ใช่โทเคน ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี 

 

ข้อเสนอตัดคนรวยออกจากโครงการ จะตัดออกหรือไม่

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า การใช้ 5.6 แสนล้านบาท คำนวณจากประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน มองว่าโครงการสำหรับประชาชนต้องเป็นเรื่องที่ฟังง่ายๆ ไม่สร้างข้อที่ฟังแล้วสับสน เพราะจะยิ่งมีปัญหา วันนี้ขอให้มั่นใจว่าเตรียมพร้อมแบบนี้ หากจะมาแยกว่าใครได้เงิน ใครไม่ได้เงิน อย่างที่ผ่านๆ มามีคนชอบคิดอย่างนี้ จึงทำให้สื่อสารกันไม่ได้ 

 

ส่วนตัวผมคิดว่าไม่น่าจะไปเปลี่ยนอะไรให้ยุ่งยาก แต่ก็เสนอความเห็นมาได้ กรรมการรับฟัง ส่วนในเบื้องต้นเราเตรียมพร้อมสำหรับทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป 

 

6 เดือนแรกอายุเงินดิจิทัล เป็นอายุการใช้เงินจากผู้บริโภค ยังไม่รวมอายุเงินเมื่อถึงมือร้านค้า

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า สำหรับเงินดิจิทัลเมื่อใช้ 6 เดือนแรกแล้ว เงินดิจิทัลนี้ก็ยังอยู่ในระบบหากร้านค้ายังไม่นำมาแลกเป็นเงินสด เรายังสามารถกำหนดให้เงินดิจิทัลอยู่ในระบบได้นานๆ การจำกัด 6 เดือน เป็นการกำหนดเฉพาะการใช้รอบแรกที่ประชาชนใช้จับจ่าย 

 

ส่วนรอบที่ร้านค้าในระบบภาษีจะนำมาเปลี่ยนเป็นเงิน จะว่ากันอีกครั้งว่ากำหนดระยะเวลาอีกเท่าไร จะแลกหรือจะเก็บไว้ใช้ หรือใช้ระหว่างบริษัท ก็สามารถหมุนได้อีกหลายรอบ 

 

เราอยากให้เงินอยู่ในระบบยาว เพื่อให้มีประโยชน์ที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเราสร้างเงื่อนไขให้สามารถขยายผลได้ หรือมีตัวคูณได้เยอะๆ เงินนี้ยิ่งมีความหมาย นี่เป็นการคิดแบบใหม่ในมิติใหม่ ไม่สามารถใช้วิธีชี้วัดแบบเดิม

 

Winner Attitude กับ Loser Attitude

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราต้องเชื่อมั่นก่อนจึงจะทำอะไรสำเร็จ ต้องมี Winner Attitude คือ ทุกปัญหามีทางออก แต่ถ้าคิดแบบ Loser Attitude ปรัชญาผู้แพ้คือ ทุกทางออกมีปัญหา ผมว่าคนที่ประสบความสำเร็จต้องใช้ Winner Attitude คือคิดว่าทุกปัญหามีทางออก มีปัญหาก็แก้ เมื่อมีข้อเตือนข้อห่วงใย เราก็หาทางแก้ 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า มีความเสี่ยงหรือไม่ที่คนทำโครงการจะติดคุกเหมือนโครงการจำนำข้าว 

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า มีคนกังวลเรื่องความเสี่ยง แต่อย่าลืมว่าประชาชนได้ประโยชน์ไปแล้ว ฉะนั้นเราคิดว่ามีอุปสรรคบ้าง แต่ประโยชน์ที่ได้ ประชาชนได้ไปแล้ว เช่นเดียวกับจำนำข้าว ประชาชนได้เงินของเขาไปแล้ว ประโยชน์เกิดกับประชาชนชัดเจน 

 

นพ.พรหมินทร์ กล่าวด้วยว่า คนทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะติดคุกเพราะอะไร หรือจงใจจะให้ติดคุก เป็นเรื่องแปลก ที่คนที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนำเสนอนโยบายพยายามทำให้ถูกต้องทั้งหมด 

 

ที่ผ่านมาผมก็เคยเกือบติดคุกเพราะทำโครงการหวยบนดิน เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาก็เอาไปให้กระทรวงศึกษาธิการ เอาไปให้เด็กเรียนต่อต่างประเทศ เอาไปให้ 1 อำเภอ 1 โรงเรียน ยกระดับทั้งหมด แต่คนทำเกือบติดคุก ผมว่ามันตลกดี วันที่ทำโครงการก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรผิด แต่หลังรัฐประหารกลับกลายเป็นเรื่องผิด

 

เมื่ออาสามาทำงานแล้วก็คิดว่าต้องทำให้รอบคอบที่สุด เดินหน้าโครงการโดยเริ่มลงทะเบียนร้านค้าในเดือนพฤศจิกายนนี้ให้เข้าไปในระบบภาษี เพื่อให้เงินหมุนกลับมาเป็นรายได้รัฐ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising