ถ้าจะต้องเปรียบชีวิตเป็นอะไรสักอย่าง ผู้เขียนคิดว่าสิ่งปลูกสร้างน่าจะเป็นเรื่องใกล้เคียงและเห็นภาพที่สุด เพราะเมื่อมีการปลูกสร้างแล้ว เรื่องของการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาก็จะตามมา และวนเวียนอยู่ในชีวิตเราเช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าสิ่งที่เราปลูกสร้างจะผุพังและแตกสลายไป
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานอีกจำนวนหนึ่ง ต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเจอตึกรามบ้านช่องที่ทันสมัยมากเพียงใด ไม่ว่าเมืองนั้นๆ จะแวดล้อมด้วยผู้คนและบรรยากาศที่เราคิดว่า ‘เท่’ แค่ไหนก็ตาม สิ่งที่ทำให้พวกเรายกกล้องและโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเก็บภาพอยู่บ่อยครั้งเสมอก็คือ ภาพตึกเก่า ก่อสร้างด้วยอิฐสีแดงสด ยืนตระหง่านผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานนับร้อยปี ไม่ว่าจะในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ลิเวอร์พูล หรือแมนเชสเตอร์ ความเก่าของตึกไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะหยุดสายตาเราได้ แต่ความเก๋าก็เป็นเหตุผลสำคัญไม่ใช่น้อย ความเก๋าที่ว่า อาจเป็นคำเดียวกับคำว่า คลาสสิก ที่หลายคนใช้กัน และสำหรับบางคน คำว่าเก่าหรือคลาสสิกที่ว่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับคำว่าโบราณ เก่าเก็บ เอาเข้าจริง การเลือกใช้คำกับสิ่งใด ก็แทบแยกไม่ออกจากการเลือกให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ถ้าเราคิดว่าสิ่งนั้นเก่า โบราณ ไม่ทันสมัย ไม่เท่ หรืออะไรก็ตาม เราก็มักจะเลือกการทุบหรือทำลาย เพื่อสร้างสิ่งที่ใหม่กว่าขึ้นมาทดแทนความสดใหม่ อาจจะทำให้เรารู้สึกหวือหวา สดชื่น และแปลกตา แต่ความรู้สึกหนึ่งที่เราไม่อาจหาได้คือ ความหวนหาอดีต หวนหา ไม่จำเป็นต้องโหยหาหรือคร่ำครวญให้อดีตย้อนกลับมา ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนอยากกลับไปอยู่ในอดีต เพราะมันเป็นไปไม่ได้ในทุกประการ เพียงแต่พื้นที่นั้นๆ ทำให้เรารู้สึกว่าครั้งหนึ่งเคยมีอดีตที่มีชีวิตชีวาอยู่ตรงนี้ มีผู้คนอยู่ตรงนั้น มีลมหายใจของใครอยู่ตรงโน้น จริงอยู่ ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่การมองย้อนกลับไปในอดีตก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าเราจะมองในฐานะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แนวทาง หรือกระทั่งบทเรียนที่ต้องศึกษาต่อไป
หลายเรื่องและหลายคนในชีวิต หนีไม่พ้นสัจธรรมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ถ้าเรื่องนั้นๆ ไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับเรา การดับไปของสิ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องร้อนรน ยึดยื้อ และเผลอๆ เราอาจไม่ได้สังเกตเห็นถึงการไม่มีของมันด้วยซ้ำ ต่างกับบางเรื่องและบางคน ที่การอยู่หรือไปจะกระทบกระเทือนหัวใจของเราอย่างรุนแรง เราจึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษา ซ่อมแซม และเก็บไว้ให้นานที่สุด เพราะเรารู้ว่าสิ่งนั้นมีความหมายกับชีวิตอย่างไร และการไม่มีสิ่งนั้นให้เห็นอีกเลย มันจะเจ็บปวดแค่ไหน
การรักษาหลายอย่างให้คงเดิมไว้ อาจดูคล้ายคนยึดติดกับอดีต แต่ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนที่พยายามรักษาสิ่งนั้นไว้อย่างสุดชีวิต สุดหัวใจ ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งก็จำเป็นต้องปล่อยมือจากสิ่งที่พยายามเก็บกอดไว้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าต่อให้ยื้อสิ่งใดไว้จนสุดหัวใจ ก็ต้องปล่อยไปถ้ามันสุดมือคว้า ถึงตอนนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญมากที่สุด อาจเป็นการที่เขาตอบคำถามตัวเองได้ว่า ได้สู้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาไว้แล้วหรือยัง? แม้จะไม่มีทางครอบครองสิ่งใดได้ตลอดกาล แต่บางทีมนุษย์เราก็อยากแน่ใจว่า เราไม่ได้ปล่อยปละละเลย และไม่ได้ปล่อยให้อะไรต่อมิอะไรแตกสลายไป ทั้งที่เราสามารถดูแลได้ หากวันหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสกลับไปเยือนในหลายเมืองที่เคยไปอีกครั้ง แน่นอนว่า วัน เวลา และผู้คน อาจเปลี่ยนแปลงไปมากมาย พื้นที่ตรงนั้นก็อาจเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้ แต่อาคารเก่าสีอิฐนั่นเอง ที่จะเป็นหมุดหมายของความทรงจำทั้งหมด
เหตุผลของการหลงเหลือบางสิ่งในอดีตไว้ ก็เพื่อเอาไว้บอกผู้คน หรือแม้แต่ตัวเราเองในอนาคตว่า ครั้งหนึ่ง…เราเคยผ่านมาตรงไหน หรือเคยมีใครอยู่ตรงนั้น ก็อย่างที่บอกว่า ไม่ใช่เพื่อโหยหา แต่บางทีเราก็แค่ไม่อยากลืม