×

จับตา ‘พ.ร.บ.คุมสื่อ’ หวังสถาปนาอำนาจใหม่ กำกับสื่ออยู่ในกรอบของรัฐ

03.02.2023
  • LOADING...

1. เวลานี้มีการเสนอกฎหมายที่ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ ร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ มีทั้งหมด 49 มาตรา 5 หมวด และ 1 บทเฉพาะกาล

 

2. การเดินทางของร่างกฎหมายฉบับนี้มาถึงการพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว โดยจะมีการพิจารณาในวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

 

3. ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 มีความพยายามเสนอกฎหมายควบคุมสื่อ โดยบังคับขึ้นทะเบียนสื่อ แต่จากเสียงค้านอย่างหนักหน่วง ตอนนี้ร่างกฎหมายใหม่ได้เปลี่ยนจากการบังคับขึ้นทะเบียน มาสู่การเสนอให้เข้าร่วมการขึ้นทะเบียนโดยสมัครใจ (ที่ใช้คำภาษากฎหมายว่า ‘จดแจ้ง’) เพื่อจะได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองจากองค์กรใหม่อย่าง ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’

 

4. ร่างกฎหมายใหม่นี้นอกจากจะถูกมองว่าเป็นมรดกของการรัฐประหาร 2557 ที่นำมาสู่การปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีกฎหมายปฏิรูปประเทศเป็นกฎหมายเร่งด่วน ที่การพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายให้ทำร่วมกันผ่านที่ประชุมร่วมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือที่เรียกกันว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภา แล้วนั้น ไส้ในของกฎหมายนี้ หลังจากไปปรับแก้มาเมื่อถูกเสียงค้านในคราวแรก เป็นอย่างไรบ้างนั้น มาดูกัน

 

5. ร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดผู้รักษาการกฎหมายนี้คือ นายกรัฐมนตรี กฎหมายนี้ยังกำหนดถึงองค์กรต่างๆ ได้แก่

 

– สภาวิชาชีพสื่อมวลชน 

 

– คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 11 คน โดยต้องมีอายุตั้งแต่ 35 ปี ไม่เกิน 70 ปี มีหน้าที่สำคัญคือ รับจดแจ้งขึ้นทะเบียนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่สมัครใจเข้ามาขอจดแจ้ง

 

– คณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 7 คน 

  • มาจากภาคสถาบันการศึกษา 3 คน 
  • ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 1 คน 
  • ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน 
  • ผู้แทนสภาทนายความฯ 1 คน 
  • ผู้แทนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 1 คน (กองทุนที่ให้สนับสนุนเงิน 600 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก)
  • องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่จะมาจดแจ้งต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อขอรับการสนับสนุนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
  • สำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

 

– คณะกรรมการจริยธรรม จำนวน 7 คน ที่จะคอยตรวจสอบและสั่งลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อ

 

มีข้อสังเกตจากสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชนผู้บริโภคสื่ออย่างชัดเจน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน รวมถึงพิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่าจะไปในทิศทางใด

 

6. ร่างกฎหมายนี้ตัดอำนาจของศาลปกครอง ที่จะสั่งคุ้มครองชั่วคราว กำหนดมาตรการชั่วคราว กรณีมีผู้ฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนในการรับจดแจ้งหรือไม่รับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน, การสรรหา การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการต่างๆ ตามกฎหมายนี้ 

 

7. ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนออกมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน เพื่อให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกข้อกำหนดจริยธรรมที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนได้กำหนดไว้

 

8. ร่างกฎหมายนี้กำหนดกลไกการรับข้อร้องเรียน กรณีมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน, กรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือได้รับความเดือดร้อน 

 

9. ร่างกฎหมายนี้กำหนดโทษฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน 3 ขั้น 

  • ตักเตือน
  • ภาคทัณฑ์
  • ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน

 

มีข้อสังเกตจากสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าเมื่อไปพิจารณาต่อในมาตรา 41 ที่ได้ขยายความบทลงโทษไว้อย่างละเอียด จะเห็นได้ชัดว่าไม่แตกต่างจากระเบียบข้อบังคับขององค์กรวิชาชีพสื่อแต่อย่างใด และที่สำคัญอื่นใด รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานปฏิรูปสื่อขึ้นมาและมีคณะอนุกรรมการปฏิรูปสื่อมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสื่อ 

 

จากการติดตามการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าว ทำให้ทราบว่าในคณะอนุกรรมการปฏิรูปสื่อที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้มีการประชุมกัน 3 ครั้ง และมีมติไม่ต้องมีกฎหมายปฏิรูปสื่อแต่อย่างใด แต่ขอให้มีกลไกการส่งเสริมจัดการในการดำเนินการตามกฎหมายและหลักจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด แต่ปรากฏว่ากลับมีร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้ผ่านมติของการประชุมบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

 

10. บทลงโทษองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

 

– หากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่คณะกรรมการได้รับรองแล้ว ถ้าเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่ควบคุมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของตนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นอยู่ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสื่อมวลชน คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนอาจพิจารณาเพิกถอนการรับรององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นได้

 

11. ร่างกฎหมายนี้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่า เมื่อเริ่มใช้กฎหมายนี้ ให้กรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนและของคณะกรรมการสรรหา จนกว่าจะมีสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ชุดเริ่มต้น จำนวน 11 คน 

 

12. บทบาทหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ชุดเริ่มต้น มีหน้าที่สำคัญคือ การจัดทำข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ ว่าด้วยการได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน, การรับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน, หลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ชุดเริ่มต้น ต้องดำเนินการเพื่อให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนให้เสร็จภายใน 270 วัน นับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ 

 

13. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดรับฟังความคิดเห็น โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ร่างกฎหมายนี้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ประชาชนทั่วไปให้ความเห็นเพียง 16 วัน เมื่อวันที่ 5-20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยผลการรับฟังทางเว็บไซต์ มีผู้แสดงความคิดเห็นเพียง 1 ราย 

 

14. งบประมาณในการดำเนินการตามกฎหมายนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำร่างกฎหมายนี้ (กรมประชาสัมพันธ์) โดย พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวในเอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ ที่ระบุว่าได้ตรวจสอบและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว โดยระบุคาดการณ์ต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะ 3 ปีแรก ว่าใช้ไม่น้อยกว่าปีละ 25,000,000 บาท

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าหลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ ถ้าเป็นดังที่ร่างกฎหมายบัญญัติไว้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่ถูกตั้งขึ้นจะเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร เมื่อต้องอาศัยงบประมาณจากภาครัฐ

 

15. นับตั้งแต่มีข่าวเมื่อต้นปี 2565 ว่า ครม. รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เห็นชอบร่างกฎหมายนี้ ด่านต่อไปจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ช่วง พล.อ. ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้เป็นผู้ลงนามส่งร่างกฎหมายนี้เสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 6 กันยายน 2565 เพื่อบรรจุเป็นเรื่องด่วน และกำลังจ่อคิวถูกพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

 

16. ตั้งแต่มีกระแสข่าวต้นปีเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ เสียงพูดถึง เสียงสะท้อน คนวงการสื่อมีอย่างไรบ้าง สำนักข่าวต่างๆ ได้รายงานไว้อย่างไร THE STANDARD รวบรวมมาให้อีกครั้งก่อนที่จะมีการพิจารณากฎหมายนี้

 

  • ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER มองว่า “กรรมการสภาองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีคำถามเรื่องการยึดโยงกับนักข่าวภาคสนามทั้งหมดอย่างไร เพราะในสัดส่วน 11 คน ทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนก็มีการสรรหาในวงแคบ เช่น คณบดี นักวิชาการ ส่วนตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ 5 คนที่ไม่รู้ว่าจะยึดโยงกับนักข่าวภาคสนามได้แค่ไหน เพราะที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าไม่มีแอ็กชันยืนหยัดปกป้องนักข่าวภาคสนาม ต้องรอให้มีการออกมากระทุ้งกันก่อน ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เป็นต่อเนื่องได้ 2 สมัย รวม 8 ปี ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะมีคนพยายามเข้ามาอยู่ในตำแหน่งเพื่อสถานะในวงการ ทั้งที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจากนักข่าวภาคสนาม” 

 

  • รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า “ร่างกฎหมายที่กำลังถูกจับตาฉบับนี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือของการกดทับเสรีภาพสื่อ เพราะปัจจุบันก็เริ่มเห็นการทำงานกันเป็นองคาพยพ ทั้ง พ.ร.บ.คอมฯ ที่ใช้วิธีการกดทับเสรีภาพอยู่แล้ว ทั้งสื่อมวลชนเอง และประชาชนที่โพสต์ และหากมีร่างกฎหมายตัวนี้ออกมาก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมืออีกแบบ แล้วหากองค์กรนี้ไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นที่น่าเชื่อถือได้ มันก็จะกลายเป็นการนำทรัพยากร งบประมาณของประชาชน ไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐต่อไป”​

 

  • มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า “ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฉบับล่าสุด ออกมาอุดช่องโหว่การกำกับดูแลกันเองของสื่อที่ไม่มีกฎหมายรองรับ”

 

  • ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในฐานะที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นหลายขั้นตอน มองว่า “ร่างกฎหมายนี้ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อ หลังจากนี้คงจะชี้แจงทำความเข้าใจกับเพื่อนฝูงว่า กฎหมายที่รัฐบาลเสนอหรือผ่าน ครม. ไม่จำเป็นต้องควบคุมสื่อเสมอไป กฎหมายที่ส่งเสริมการทำหน้าที่ของสื่อก็มี บางทีเรามีกรอบความคิดว่าถ้ากฎหมายเกี่ยวกับสื่อที่ออกมาจาก ครม. จะต้องเป็นการควบคุมสื่อ” 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งมงคลและชวรงค์ระบุว่า “ต้องจับตาการผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อไปในชั้นของรัฐสภา เพราะเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในชั้นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้งของสภาผู้แทนราษฎร และของวุฒิสภา”

 

  • สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ไม่เห็นความจำเป็นในการที่จะมีร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สิ้นเปลื้องงบประมาณ และทำหน้าที่ทับซ้อนกับองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อของภาครัฐ ถ้ารัฐเห็นความสำคัญในการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่ระบุไว้ในหลักการและเหตุผล 

 

รัฐควรส่งเสริมกลไกใช้สิทธิของประชาชนในการตรวจสอบสื่อทั้งในภาคจริยธรรมและกฎหมาย รวมไปจนถึงให้เสรีภาพในนำเสนอข้อมูลตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อคนในวิชาชีพสื่อทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมไปจนถึงการปกป้องผู้บริโภคสื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ไม่ได้คำนึงถึงจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising