“นี่จะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายแล้วของแบม”
เป็นคำพูดสุดท้ายที่เราได้ยินหลังจากการสัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมไปแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกปี 2021 ที่กรุงโตเกียวของ แบม-กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยวัย 25 ปี
ด้วยอายุ และการเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่คว้าสิทธิ์ไปแข่งขันโอลิมปิกสมัยที่ 2 ต่อจากริโอเกมส์ในปี 2016 ที่ผ่านมา รวมถึงการเป็นแชมป์เอเชียเมื่อปี 2019 ทำให้เราไม่เชื่อกับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นของเธอ
แต่แบมก็ได้อธิบายว่านี่เป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนี้อาจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อยู่บนพื้นดินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหางานทำ หรือเป็นหนึ่งในกำลังสนับสนุนรุ่นน้องในกีฬาเรือใบให้เติบโตขึ้นมาโลดแล่นในการแข่งขันระดับโลกมากขึ้น
แบมคือเบอร์ 1 ในประเภทเลเซอร์ เรเดียล ของไทย และยังได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา
เธอเติบโตมาในครอบครัวที่สนับสนุนการเล่นกีฬาเรือใบตั้งแต่เด็ก
“แบมรู้จักกีฬาเรือใบได้เนื่องจากพ่อเป็นนักกีฬาเรือใบค่ะ แต่คุณลุงคุณอาคุณพ่อทุกคนเล่นเรือใบตั้งแต่ยังเด็กๆ” แบมกล่าวในการสัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้น
“ตอนแรกที่แบมเห็นกีฬาเรือใบ แบมก็อยากเรียนเรือใบมาตลอดเลย ด้วยความที่ว่าลูกพี่ลูกน้องของแบมก็เรียนด้วยค่ะ แล้วทุกคนโตกว่าแบม ก็เท่ากับว่าพอเราโตมาเราก็เห็นเค้าไปซ้อมแล้วก็อยากตามไปบ้าง
“ตอนที่แบมได้ลงเรือใบจริงๆ เลยครั้งแรกคือ 8 ขวบ แต่ก่อนหน้านั้นแบมก็จะวิ่งเล่นที่สมาคมเรือไปตั้งแต่เด็กเลย เพราะว่าพ่อแบมก็เป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย
“ตอนที่แบมอยู่บนเรือใบมันเหมือนกับว่าโลกมันเงียบค่ะ แล้วก็ด้วยน้ำที่กระเซ็นโดนเราแล้วก็ลมด้วย มันเหมือนกับว่าเราได้คิดอะไรหลายๆ อย่างในสภาพอากาศที่มันเย็นสบาย อยู่กับธรรมชาติ”
แต่เมื่อเข้าสู่โหมดของการแข่งขัน ทะเลจะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะสิ่งหนึ่งที่ทะเลสอนแบมตลอดมาคือธรรมชาติเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
“แบมคิดว่าถ้าเราจะเป็นนักกีฬาเรือใบได้คือเราต้องมีความกล้าแล้วต้องอดทนด้วย เพราะว่ากีฬาเรือใบคือเวลาเราไปแข่งเราจะไม่สบาย บอกได้เลยว่าวันนั้นเราจะเจอกับสนามแบบไหน อย่างบางวันอาจจะเป็นสนามที่คลื่นลมเป็นใจ มีแสงแดด แต่บางวันอาจจะเป็นฝนตกพายุเข้า”
ซึ่งในการแข่งขันที่ริโอเกมส์ โอลิมปิกสมัยแรกของเธอ แบมก็ค้นพบถึงความน่ากลัวระหว่างการแข่งขันบนเวทีที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน
“ตอนที่แบมไปริโอ เป็นโอลิมปิกครั้งแรกของแบม มันเป็นครั้งแรกที่แบมต้องไปเจอสภาพอากาศที่โหดร้ายมากๆ พายุเข้า คลื่นใหญ่จนโค้ชถ่ายรูปแบมลงมาไม่เห็นตัวแบมเลย เห็นแต่ยอดเสาของใบเรือ แบมก็ต้องแข่งกับสถานการณ์แบบนั้นให้ได้เพราะว่าเราไปแข่งแล้ว มันก็เลยเหมือนว่าไปครั้งแรกก็เจอเลย ต้องมีความกล้าเราถึงจะผ่านมันไปได้
“วันที่พายุเข้าที่ริโอ ตอนที่เราออกทะเลไปคือต้องบอกเลยว่ากลัวมากๆ ด้วยความที่คลื่นลมแรงมาก เป็นครั้งแรกที่แบบเจอแบบนั้น แล้วก็มันเหมือนกับว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้ เพราะว่ามันเป็นโอลิมปิกเราจะถอนตัวไม่ได้ ตอนที่แบมแข่งแบมก็สวดมนต์ไปด้วยแข่งไปด้วย”
ในวันที่เราเดินทางไปสัมภาษณ์และเก็บภาพการฝึกซ้อมของแบม เราค้นพบว่าอากาศในช่วงที่เรามาถึงคือสภาพคลื่นลมที่สงบเงียบ จนหลายคนยอมรับว่าวันนี้อาจจะไม่ได้ภาพการฝึกซ้อมแบบที่เราต้องการ
แต่พอเวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง จนถึงช่วงที่ต้องเก็บภาพการฝึกซ้อมแบม ระหว่างที่เตรียมตัวก็ทักขึ้นว่า “พี่ลมแบบนี้ คลื่นน่าจะดีเลย” เป็นการสะท้อนคำพูดของกีฬาเรือใบอีกครั้งที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นบทเรียนที่แบมได้อธิบายไว้ว่า
“เรือใบก็สอนให้แบมรู้ว่าบางทีก็เหมือนในแต่ละเหตุการณ์เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ภายนอกได้นอกจากเราควบคุมตัวเราเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่แบมเจออะไรที่มันยากๆ เหนือการควบคุมของเรา เราก็จะค่อยๆ มีสติแล้วก็มาโฟกัสที่ตัวเองก่อนว่าในสถานการณ์นี้เราควบคุมอะไรได้บ้าง”
ส่วนของการแข่งขันนั้น แบมได้อธิบายว่าเรือใบเป็นกีฬาที่ไม่ถึงกับนักกีฬาต้องแข่งขันกันเองโดยตรง แต่เป็นการวางแผน และขึ้นอยู่กับธรรมชาติด้วย แต่ก็จะมีจังหวะที่ต้องสู้กับคู่แข่ง เช่น บังไม่ให้คู่แข่งแซงได้ หรือต้องไล่ให้ทัน
หลังการลงฝึกซ้อมระหว่างที่กำลังทำความสะอาดเรือใบ เราก็ได้รู้ครั้งแรกว่านี่จะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอ
แบมยอมรับถึงความเสียดายที่ฝันโอลิมปิกกำลังจะจบลงหลังการเดินทางกลับจากกรุงโตเกียวในปีนี้ แต่แบมก็ยืนยันกับเราว่า หน้าที่ของเธอกับกีฬาเรือใบยังคงจะมีต่อไปในบทบาทที่สลับมาให้การสนับสนุนฝันของนักกีฬาเรือใบรุ่นต่อไปให้สามารถก้าวขึ้นไปแข่งขันในระดับโลก และให้นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยในอนาคตมีช่วงเวลาของความฝันในการเป็นนักกีฬาเรือใบได้นานกว่าที่เธอพบเจอในปัจจุบัน
ติดตามชมคลิป Contemplation for One Target – เป้าหมายแห่งการคว้าชัยได้ทาง