×

แฟน K-Pop และชาว TikTok ร่วมมือกันแกล้งลงทะเบียนปลอมในวันหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่รัฐโอคลาโฮมา

22.06.2020
  • LOADING...

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แฟนๆ K-Pop และชาว TikTok ร่วมกันลงทะเบียนปลอมในการเข้าชมการหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเมืองทัลซา รัฐโอคลาโฮมา ทำให้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ร่วมงานต่ำกว่าที่ผู้จัดงานคาดการณ์ไว้

 

หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์วางแผนหาเสียงการเลือกตั้งที่สนามกีฬา BOK Center เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งจากเดิมจะมีขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งเป็นวัน Juneteenth หรือวันประกาศเลิกทาสในสหรัฐฯ จนเกิดเป็นกระแสการเคลื่อนไหวผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเริ่มต้นจากในทวิตเตอร์ เมื่อแอ็กเคานต์ที่มีชื่อว่า @TeamTrump ได้ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยให้ช่วยกันลงทะเบียนผ่านทางเบอร์โทรศัพท์เพื่อเข้าร่วมชุมนุมหาเสียง หลังจากนั้นชาวทวิตเตอร์ได้พร้อมใจกันเผยแพร่ข้อมูลงานดังกล่าว โดยมีการลงทะเบียน แต่ไม่ไปปรากฏตัวในงาน

 

หลังจากนั้นกระแสดังกล่าวได้แพร่ไปยัง TikTok และ Snapchat โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนับสนุนทรัมป์ได้ทำวิดีโอออกมาเชิญชวนให้ผู้คนเข้าไปกรอกเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้ตัวเลขการจองที่นั่งในงานนั้นออกมาเกินจริง โดยชาวเน็ตมีการใช้ทั้งหมายเลขจริงและหมายเลขปลอมในการลงทะเบียน พร้อมกับลบข้อความและวิดีโอทันทีที่พ้นจากวันงาน ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมงานเพียง 6,200 จากความจุของสนามกีฬาที่รองรับได้กว่า 19,000 คน 

 

อย่างเช่น Mary Jo Laupp ผู้ใช้ TikTok วัย 51 ปี ได้ออกมาพูดผ่านวิดีโอที่มียอดวิวกว่า 2 ล้านครั้ง และถูกแชร์ไปกว่า 7 แสนครั้งบนแอปพลิเคชัน TikTok ว่า “ฉันอยากให้พวกเราที่อยากเห็นเก้าอี้ทั้ง 19,000 ที่นั่งนั้นว่างเปล่าไปกดลงทะเบียนเข้างานเดี๋ยวนี้ และให้เขา (ทรัมป์) ยืนอยู่คนเดียวบนเวที”

 

 

@maryjolauppDid you know you can make sure there are empty seats at Trump’s rally? ##BLM.♬ original sound – maryjolaupp

 

นับเป็นอีกครั้งที่ชาว K-Pop และชาวเน็ตใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกออนไลน์ โดยอาศัยความได้เปรียบในการใช้เครื่องมือดังกล่าว บวกกับมีพลเมืองรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วม แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้เกิดแฮชแท็ก #WhiteLivesMatter ที่ชาว K-Pop ได้ปล่อยวิดีโอแฟนแคมของศิลปินวงโปรดและโพสต์ข้อความต่อต้านการเหยียดสีผิวในแฮชแท็กดังกล่าว เพื่อสวนกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมผิวขาว (White Supremacist) และดันให้ข้อความเหยียดสีผิวและเชื้อชาติหายไปจากหน้าแรก

 

ภาพ: Win McNamee / Getty Images 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising