×

JOOX เผย ปี 2017 คนไทยฟังเพลงสตรีมมิง 2 พันล้านครั้ง! ตั้งเป้าขยายแพลตฟอร์ม ดันไลฟ์ศิลปิน

22.02.2018
  • LOADING...

สตรีมมิงมิวสิก JOOX เผย ปี 2017 ที่ผ่านมาคนไทยฮิตฟังเพลงแบบสตรีมมิงบนแอปฯ มากกว่า 2,000 ล้านครั้ง! มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันรวมในทุกๆ ช่องทางอยู่ที่ 50 ล้านครั้ง ส่วนปีนี้เตรียมขยายแพลตฟอร์มให้กว้างขึ้น เป็นมากกว่าช่องทางฟังเพลงออนไลน์ เตรียมดันศิลปินไลฟ์คล้ายรูปแบบของ VOOV ผ่าน Fan Space

 

วันนี้ (22 ก.พ.) JOOX ผู้ให้บริการฟังเพลงออนไลน์ภายใต้การบริหารโดยเทนเซ็นต์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มดังกล่าวมียอดสตรีมมิงสูงสุดตลอดทั้งปีกว่า 2,000 ล้านสตรีม มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอยู่ที่ 50 ล้านครั้ง แบ่งเป็นการดาวน์โหลดบนระบบปฏิบัติการ Android 81% และ iOS 19% คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2016 (ยอดดาวน์โหลดปีแรกที่เริ่มให้บริการอยู่ที่ 25 ล้านครั้ง) ที่สำคัญคือปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ JOOX มีการเติบโตด้านรายได้มากกว่า 4 เท่า หรือ 400%

 

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ จากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดสามารถจำแนกตามพฤติกรรมการฟังเพลงออกเป็น 2 รูปแบบคือ สตรีมมิง (ออนไลน์) ที่ 65% และออฟไลน์ที่ 35% โดยผู้ใช้ JOOX ในไทยมีการสร้าง​เพลย์ลิสต์ของตัวเองถึง 6 ล้านเพลย์ลิสต์ คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 30,000 เท่าตัว มีจำนวนการแชร์เพลย์ลิสต์กว่า 92 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่ยังนิยมฟังเพลงไทยมากกว่า 80%

 

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปี และ 25-34 ปีเป็นหลัก ในสัดส่วน 50% (แบ่งเป็นช่วงละ 25% เท่าๆ กัน) รองลงมาคือช่วงวัย 35-44 ปี และต่ำกว่า 18 ปี 40% (แบ่งเป็นช่วงละ 20% เท่าๆ กัน) ที่เหลืออีก 10% เป็นผู้ใช้งานอายุ 44 ปีขึ้นไป โดยคนฟัง JOOX ส่วนใหญ่ 43% จะอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ, 14% อาศัยอยู่ในภาคกลาง, 13% อาศัยอยู่ในภาคอีสาน, 11% อาศัยอยู่ในภาคเหนือ, 9% อยู่ในภาคใต้, 8% ทางภาคตะวันออก และอีก 2% อาศัยในโซนตะวันตก

 

จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ เทนเซ็นต์ ประเทศไทย และผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย เปิดเผยว่าแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางการฟังเพลงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเน้นใช้โมเดลธุรกิจแบบ O2O (Online to Offline) หรือจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆ กันด้วย เน้นการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ่านงานประกาศรางวัล JOOX Thailand Music Awards และ JOOX Thailand Top 100 เพื่อสร้างการรับรู้ของตัวแอปพลิเคชันและบริการให้กับผู้ฟัง รวมถึงเพื่อโปรโมตตัวศิลปิน นอกจากนี้ยังมีการจัดอีเวนต์ Road Show ของศิลปิน 21 คนในกว่า 18 จังหวัด 20 สถาบันการศึกษา

 

กฤตธีบอกว่า “รายได้ของ JOOX ในปัจจุบันกว่า 50:50 มาจากสมาชิกที่สมัครใช้บริการแบบ VIP และรายได้จากค่าโฆษณา แต่การเป็นเบอร์ 1 ของตลาดสตรีมมิงไม่จำเป็นว่าต้องคืนทุน ในฐานะของบริษัทเทคโนโลยี เป้าหมายของเราจะดูจากตัวผู้ใช้เป็นหลัก ซึ่งใน 3 ปีแรกเราแทบจะไม่ดูเรื่องรายได้เลย แต่เราก็โฟกัสการผลักดันให้ผู้ใช้หันมาใช้บริการแบบ VIP มากกว่า

 

“ส่วนตัวมองว่าถ้ามีผู้เล่นในสตรีมมิงมิวสิกเป็นจำนวนมากก็จะเป็นเรื่องดี เพราะแทนที่เราจะออกไปประชาสัมพันธ์กับทุกคนให้รู้จักบริการสตรีมมิงมิวสิกด้วยตัวเอง การมีคู่แข่งก็จะช่วยสร้างตลาดนี้ได้”

 

กฤตธียังให้ความเห็นในประเด็นการนำ AI หรือ Big Data เข้ามาช่วยทำเพลย์ลิสต์ของ JOOX ด้วยว่าอาจจะยังไม่จำเป็น เนื่องจากเพลงไทยซึ่งเป็นสินค้าขายดีของ JOOX ไม่ได้มีแนวเพลงที่หลากหลายเมื่อเทียบกับเพลงสากล ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องโหว่และจุดบกพร่องในการใช้งานแอปพลิเคชันมากกว่า

 

สำหรับแผนการในปี 2018 นี้ JOOX เผยว่าจะเน้นการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดแบบ O2O ให้เข้มข้นกว่าเดิม พร้อมเดินหน้าจัดคอนเสิร์ตในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศไทย ประเดิมด้วยงานประกาศผลรางวัล JOOX Thailand Music Awards 2018 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ พร้อมกันนี้ยังเตรียมขยายแพลตฟอร์ม JOOX ให้เป็นมากกว่าแอปพลิเคชันฟังเพลงด้วยฟีเจอร์ ‘Fan Space’ ที่สร้างช่องทางให้ศิลปินกว่า 30 คนมาไลฟ์พูดคุยกับศิลปินในรูปแบบเดียวกับ VOOV (อีกหนึ่งบริการในเครือเทนเซ็นต์) โดยที่แฟนเพลงเองก็สามารถให้ไอเท็มกับนักร้องที่ชอบ ซึ่งไอเท็มที่ว่านี้ก็สามารถนำไปแลกเป็นเงินสดได้อีกด้วย เริ่มต้นวันแรก 28 มีนาคมนี้

 

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ JOOX Karaoke ให้ผู้ใช้ได้เข้ามาร้องคาราโอเกะและแชร์บนโลกโซเชียลในจำนวนเพลงกว่า 111,000 เพลง โดยกฤตธีระบุว่า JOOX จะนำคอนเทนต์ที่หลากหลายมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม รวมถึงรายวิทยุเรื่องผีและดูดวง พร้อมโปรเจกต์ Spotlight ที่ทาง วิสิทธิ์ ถิระโสภณ หัวหน้าแผนกทีมคอนเทนต์ของ JOOX เปิดเผยว่าจะใช้ช่องทางของบริษัทผลักดันศิลปินอินดี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising