×

จิรายุเตรียมยกร่าง พ.ร.บ. คำสั่งเรียกใหม่ เน้นให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ 60 ชี้ต้องเพิ่มโทษกรณีหลบหลีกการตรวจสอบ

โดย THE STANDARD TEAM
09.10.2020
  • LOADING...
จิรายุเตรียมยกร่าง พ.ร.บ. คำสั่งเรียกใหม่ เน้นให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ 60 ชี้ต้องเพิ่มโทษกรณีหลบหลีกการตรวจสอบ

วันนี้ (9 ตุลาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิ์ในการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและ 3 เสาของประเทศ ซึ่งการใช้ พ.ร.บ. คำสั่งเรียก ส่วนใหญ่จะใช้จากกรณีที่ข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ตั้งใจไม่มาและมีเจตนาปกปิดความผิดอย่างที่ตนพบ บางรายใช้แทคติกเพื่อที่จะไม่มา หรือปกปิดเอกสารเพื่อซ่อนความผิด ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เสียภาษี เพราะกรรมาธิการเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ และเท่าที่ตนทราบ ยังไม่เคยมีคณะกรรมาธิการคณะไหนใช้ พ.ร.บ. ที่มีโทษจำคุกนี้ อย่างคณะตนส่วนใหญ่ก็ให้เกียรติเชิญเพื่อมาแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข และกรรมาธิการก็มีคณะทำงานลงไปสืบสวนทางลับอยู่แล้ว หากพบความผิด มีพยานหลักฐาน ก็สามารถใช้สิทธิ์เขียนคำร้องข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช., ป.ป.ท. หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้อยู่แล้ว

 

จิรายุกล่าวอีกว่า ล่าสุดตนได้หารือกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายถึงการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. คำสั่งเรียก พ.ศ. … ในการเปิดสมัยประชุมในเดือนหน้านี้ เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขในวาระแรกของการเปิดประชุมรัฐสภา โดยจะขอเพิ่มโทษให้สูงขึ้น และเขียนขั้นตอนให้รัดกุมในการใช้ เพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ต่อไป

 

“อำนาจของ พ.ร.บ. คำสั่งเรียก มีความจำเป็นที่จะต้องมีบทลงโทษ เพื่อให้ผลการสอบเป็นไปด้วยความสัมฤทธิ์ผลอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพราะในต่างประเทศทั่วไปก็ให้อำนาจนี้ไว้ เพราะถือว่าฝ่ายบริหารยังมีอำนาจ มีบทลงโทษตามกฎหมาย ที่ยังสามารถออกหมายเรียก การเข้าค้น การจับกุม คุมขัง แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเพียงแค่เชิญมาชี้แจง ย่อมต้องพึงมี เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่สำคัญข้าราชการผู้ถูกเชิญ หากไม่มีความผิด ไม่มีเจตนาปกปิดอะไร ก็ไม่มีเหตุผลที่จะหลบหลีกการมาชี้แจงแต่อย่างใด” จิรายุกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising