ช่องปากคือส่วนหนึ่งในร่างกายมนุษย์ที่เราต่างดูแลรักษาพวกเขาเป็นอย่างดี เพราะเป็นเสมือนประตูบานแรกเมื่อพบปะสนทนาพูดคุยกับผู้อื่น หรือทำหน้าที่กัดเคี้ยวอาหารโอชะที่คุณชื่นชอบ นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงหนุ่มสาวที่เอ็นจอยการสูบบุหรี่ ดื่มไวน์ ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม แน่นอนว่าช่องปากต้องแบกรับสิ่งเหล่านี้เป็นด่านแรกเสมอ
แล้วเราควรดูแลช่องปากกันอย่างไร พื้นฐานที่สุดก็คงเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการหมั่นแปรงฟันทุกวัน หรือบ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร หรือการพบปะทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อตรวจสอบความสึกหรอของฟันและเหงือก
ครั้งนี้ THE STANDARD รวบรวมหลากเรื่องของไวน์และช่องปากมาให้คุณได้รู้ ทั้งเรื่องการดูแลเหงือกและฟันที่ได้รับผลกระทบจากไวน์ หรือชิ้นงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดื่มไวน์ที่อาจส่งผลดีกับช่องปากของคุณ หยิบแก้วขึ้นมาแล้วเริ่มกลั้วไวน์ลงคอกันสักหน่อยสิ
แปรงก่อน ดื่มทีหลัง
หากคุณเป็นคนที่ดื่มไวน์บ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือฟันของคุณจะกลายเป็นสีม่วงๆ แดงๆ หลังจากดื่มเสร็จ แน่นอนว่าคุณอาจจะตกใจและรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าดูชมสักเท่าไร ดร.จอห์น อายล์เมอร์ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเมืองเวสตัน รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้แปรงฟันก่อนแล้วค่อยดื่มไวน์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว เพราะการแปรงฟันก่อนดื่มไวน์คือการลดปริมาณคราบจุลินทรีย์บนฟันที่ไวน์สามารถไปเกาะติดได้ และควรจะต้องรอไปอีก 30 นาทีหลังดื่มไวน์เพื่อแปรงฟันอีกครั้งหนึ่ง หลีกเลี่ยงการแปรงฟันทันที เพราะหลังจากที่ดื่มไวน์เสร็จหมาดๆ ช่องปากของคุณจะมีสภาพเป็นกรด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการผุกร่อนของฟันของคุณได้
ไวน์ + น้ำเปล่า และไวน์ + ชีส ช่วยช่องปากได้
หากกำลังรื่นรมย์กับรสชาติของไวน์อย่างมีความสุข เราอยากให้คุณลองสลับไปดื่มน้ำเปล่าสักแก้วร่วมกันตามคำแนะนำของ ดร.ซิแวน ฟินเกิล ทันตแพทย์และผู้ควบคุมดูแลการสอนในวิทยาลัยทันตกรรม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ฟันของคุณสะอาดเอี่ยมอยู่เสมอ เนื่องจากน้ำเปล่ามีสารที่มีความเป็นกลางที่จะช่วยปรับสภาพช่องปากของคุณให้มีค่า pH มีเหมาะสม ไม่กรดและไม่ด่างจนเกินไป
นอกจากนี้การกระตุ้นให้เกิดน้ำลายก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คุณต่อสู้กับแบคทีเรียในช่องปากได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการหาอะไรรับประทานคู่กับไวน์เพื่อเรียกน้ำลายก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยดร.ฟินเกิลได้แนะนำว่าการจิบไวน์คู่กับชีสซึ่งมีลักษณะเป็นนมที่เคลือบฟันนั้นคือวิธีที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง และตัวชีสเองก็ไม่มีสารใดที่จะทำให้ฟันของคุณเกิดคราบสีได้
ไวน์และช่องปาก เรื่องน่ารู้จากงานวิจัยหลากหลาย
ย้อนกลับไปในปี 2014 พบว่ามีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเกษตรกรรมและเคมีเกษตรของสหรัฐอเมริกาที่นำเสนอว่าสารต่อต้านอนุมูลอิสระในไวน์แดงสามารถป้องกันแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดคราบจุลินทรีย์ในเหงือก และไวน์อาจจะช่วยป้องกันฟันผุหรือโรคที่เกี่ยวกับช่องปากได้ โดยเฉพาะไวน์ที่มีส่วนประกอบของเมล็ดองุ่น ซึ่งสามารถยับยั้งแบคทีเรีย 3 ใน 5 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคในช่องปาก
และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในปี 2007 งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยพาเวียในประเทศอิตาลีก็เผยว่า ทั้งไวน์ขาวและไวน์แดงสามารถป้องกันการขยายตัวของแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptococci อันเป็นสาเหตุของฟันผุและอาการเจ็บคอได้ นอกจากนี้ ‘สารโพลีฟีนอล’ ที่พบในเปลือกองุ่นเองก็อาจจะสามารถยับยั้ง Streptococcus mutans เชื้อโรคทางฟันที่ก่อให้เกิดอาการฟันผุจากการเปลี่ยนน้ำตาลในช่องปากให้กลายสภาพเป็นกรดในรูปแบบจุลินทรีย์เกาะติดฟันที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘คราบพลัก’ (plague) และนอกจากนี้ ‘สารเรสเวอราทรอล’ ในไวน์ยังสามารถช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่เกิดจากอาการเหงือกอักเสบได้ถึง 60%
แต่ถึงแม้งานศึกษาเหล่านี้จะสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับนักดื่มไวน์ทั่วไป แต่แน่นอนว่าในทางการแพทย์เองก็ยังไม่ได้ ‘ไฟเขียว’ ให้คุณดื่มไวน์กันมากขึ้นหรอก และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการนำ ‘การดื่มไวน์’ เข้าไปผนวกกับ ‘การดูแลช่องปาก เหงือก และฟัน’ ดังนั้นคุณเองก็ควรยึดถือการดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากด้วยตัวคุณเองให้ดีที่สุดก่อน และรอคอยพัฒนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับไวน์และช่องปากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เชียร์ส!
อ่านเรื่อง ไวน์แดงช่วยให้หลับง่ายกว่าจริงๆ หรือ? ดื่มกี่แก้ว ดื่มตอนไหน ถึงจะหลับสบายคลายกังวล เรามีคำตอบได้ที่นี่
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/health-43126438
- www.winespectator.com/webfeature/show/id/What-Does-Wine-Do-to-Your-Teeth
- สารโพลีฟีนอลนั้นมีปริมาณมากในไวน์แดง ซึ่งสามารถพบได้ในกาแฟ ชาเขียว ชาดำ น้ำส้ม น้ำมะนาว หรือผลไม้มากมาย ทั้งบลูเบอร์รี ราสป์เบอร์รี กีวี องุ่นดำ หรือเชอร์รี
- ผู้บรรลุนิติภาวะควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหากบริโภคแอลกอฮอล์
- หมายเหตุ: สุราเป็นเหตุก่อมะเร็ง เซ็กซ์เสื่อม ก่อให้พิการและเสียชีวิต เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม และสามารถทำร้ายครอบครัวและทำลายสังคมได้