×

ทำไมแก้วไวน์ถึงใหญ่ขึ้นและจุมากขึ้น สำรวจวิวัฒนาการจากจอกใบจิ๋วสู่แก้วใบโต

09.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ช่วงปลายยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศอังกฤษเริ่มมีอุตสาหกรรมผลิตแก้วไวน์อย่างจริงจัง และแก้วไวน์ที่ผลิตก็มีขนาดใหญ่ขึ้น แถมยังราคาถูกลง เป็นผลเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากด้วยการใช้แม่พิมพ์เข้ามาทุ่นแรงผลิต
  • ในช่วงปี ค.ศ. 1745 ประเทศอังกฤษยกเลิก ‘ภาษีเครื่องแก้ว’ ซึ่งภาษีดังกล่าวคือจุดกำเนิดการผลิตแก้วไวน์แบบก้านเล็กผอม เพราะน้ำหนักยิ่งเบา ก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง
  • สหรัฐอเมริกามีความต้องการแก้วไวน์ใบใหญ่ขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1990 เพราะเชื่อว่ามันจะส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหารและบาร์ เพราะหากพวกเขาเสิร์ฟไวน์ในแก้วที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเสิร์ฟได้ปริมาณเยอะขึ้น ก็หมายความว่าลูกค้าก็จะซื้อไวน์เพิ่มขึ้น

“คุณคิดว่าแก้วไวน์ที่คุณหยิบขึ้นมาดื่มแก้วล่าสุดสามารถบรรจุไวน์ได้สักกี่มิลลิลิตร?”

 

สำหรับเราคำตอบนั้นง่ายมากคือ “ไม่ทราบค่ะ พอดีมัวแต่ดื่ม!”

 

นั่นสิ ใครจะมามัวพะวงหรือสนใจว่าแก้วไวน์ที่พวกเขากำลังถืออยู่นั้นสามารถจุเครื่องดื่มสีสวยได้กี่มิลลิลิตร กี่ลูกบาศก์เมตร หรือรู้ไปแล้วจะมีประโยชน์อะไร?!

 

แต่ถ้าเรากำลังจะบอกคุณว่าเจ้าแก้วไวน์ทรงสวยที่คุณคุ้นเคยนั้น ย้อนไปเมื่อสัก 300 ปีก่อนมันมีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือคุณอีกด้วยซ้ำ! แค่นี้อาจจะพอให้คุณได้สงสัยว่า ไอ้แก้วที่ถือดื่มอยู่มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ใยถึงมีหน้าตาเช่นนี้ในปัจจุบัน

 

THE STANDARD ชวนคุณมาสำรวจวิวัฒนาการของแก้วไวน์ตลอดระยะเวลา 300 ปีที่ผ่านมาว่าทำไมถึงมีขนาด ‘ใหญ่ขึ้น’ และ ‘จุมากขึ้น’ ในทุกช่วงศตวรรษ ไม่รู้ว่าเพราะเทคโนโลยีการผลิตหรือรสนิยมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเหตุผลจริงๆ แล้วอาจจะเป็นแค่เพราะว่าบรรพบุรุษพวกเราคออ่อนกว่ากระมังกันแน่?

 

ขนาดของแก้วไวน์ที่วางขายในปัจจุบัน แก้วไวน์รุ่นสวัลก้า จาก IKEA

 

ผลงานวิจัยล่าสุดที่น่าสนใจมากๆ กับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแก้วไวน์ตลอดระยะเวลา 300 ปีที่ผ่านมาเพิ่งเผยออกเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา โดย เทเรซา มาร์โตว์ (Theresa Marteau) และ โซรานา ซูแพน (Zorana Zupan) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งผลการศึกษาของพวกเธอนั้นได้สรุปปัจจัยที่ทำให้แก้วไวน์มีขนาดใหญ่ขึ้น มีตั้งแต่เรื่องของบริบททางสังคม เทคโนโลยี ภาษี หรือแม้แต่รสนิยมในการดื่มก็ตาม โดยทีมวิจัยได้ใช้แก้วไวน์กว่า 411 ใบในการศึกษา ซึ่งรวบรวมมาจากร้านค้าทั่วไปในปัจจุบัน ของใช้ในพระราชวัง หรือแม้แต่แก้วไวน์ในพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุอานามอย่างยาวนานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1700 อีกด้วย

 

ภาพตัวอย่างแก้วไวน์ในปลายยุค 1700 โดยการผลิตของจอร์จ ราเวนสคอร์ฟต์ นักธุรกิจผู้นำเรื่องการผลิตแก้วในยุคนั้น

Photo: Alchetron

 

70 มิลลิลิตร: แก้วใบเล็ก จะได้ดื่มไม่เยอะ!

หากเราเป็นนักดื่มที่เกิดในยุค 1700 คงจะบ่นขรมไปทั่วบางว่า ‘แก้วไวน์ใบแค่นี้จะไปรู้รสอะไร!’ เพราะมันมีขนาดเล็กที่สามารถจุไวน์ได้เพียง 66-70 มิลลิลิตร (หากนึกไม่ออกว่า 70 มิลลิลิตรนั้นจุได้ขนาดไหน ลองนึกถึงขวดซุปไก่สกัดดูนะ) ซึ่งการที่มีแก้วไวน์ขนาดเล็กกะทัดรัดในยุคดังกล่าว งานวิจัยได้ระบุไว้ว่าเป็นเรื่องของทัศนคติเกี่ยวกับอาหารการกินของคนอังกฤษในยุคนั้น ว่าง่ายๆ คือหากแก้วไวน์เล็กแค่นั้น ก็ย่อมหมายถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ที่น้อยลงตามไปด้วย ใช่แล้ว…นี่มันประหนึ่ง สสส. ย้อนกลับไปทำแคมเปญรณรงค์ให้งดการดื่มในยุคนั้นเชียวนะ! ก่อนที่ในช่วงปลายยุค 1700 จะมีการผลิตแก้วไวน์ที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิด แข็งแรงขึ้น ไม่เปราะบางโดยจอร์จ ราเวนสคอร์ฟต์ (George Ravenscroft) นักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญเรื่องแก้วในยุคนั้นและเป็นผู้นำในการผลิตแก้วใสและคริสตัล

 

ภาพวาดการดื่มไวน์ในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งวาดขึ้นในปี 1866

Photo: Ny Illustrerad Tidning / Shutterstock

 

100-140 มิลลิลิตร: อุตสาหกรรมแก้วไวน์และการละเว้นภาษีเครื่องแก้ว

เมื่อโลกก้าวเข้ามาถึงช่วงปลายยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปี ค.ศ. 1800-1850 เป็นต้นมา ประเทศอังกฤษก็เริ่มมีอุตสาหกรรมที่ผลิตแก้วไวน์อย่างจริงจัง และแก้วไวน์ที่ผลิตก็มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกนิดจากยุคก่อน แถมยังราคาถูกลงอีกด้วย เป็นผลเนื่องมาจากจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากด้วยการใช้แม่พิมพ์เข้ามาทุ่นแรงผลิต รวมไปถึงเทคนิคการหลอมและเป่าแก้ว ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์จำนวนมากขึ้น แต่ต้นทุนน้อยลง

 

แต่ที่ทำให้สามารถผลิตแก้วไวน์ขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้ เป็นผลพวงโดยตรงมาจากการยกเลิกการเก็บ ‘ภาษีเครื่องแก้ว’ อันเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการค้าขายหรือผลิตทุกอย่างที่ทำจากแก้ว ทั้งกระจกเอยก็ดี หรือว่าขวดแก้วก็ดี ซึ่งพอภาษีแก้วดังกล่าวถูกยกเลิกไป การผลิตแก้วไวน์จึงไม่ต้องมารองรับต้นทุนเรื่องภาษีดังกล่าวอีก

 

Photo: GIPHY

 

160-180 มิลลิลิตร: ความต้องการมาก แก้วก็ต้องใหญ่มาก

ในช่วงปี 1990 เมื่อการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต่างชื่นชอบ ดังนั้นตลาดของการขายแก้วไวน์จึงขยายจากอังกฤษไปสู่ประเทศรอบข้าง รวมไปถึงประเทศอีกฟากหนึ่งของทะเลแอตแลนติกอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็มีความต้องการแก้วไวน์มากขึ้น ซึ่งแก้วไวน์ในช่วงปี 1990 ที่ชาวมะกันนั้นต้องการคือแก้วไวน์ที่มีขนาดใหญ่ จากงานวิจัยได้กล่าวถึงเหตุผลที่อเมริกาต้องการแก้วไวน์ใบใหญ่ขึ้นนั้นเป็นความต้องการของร้านอาหารและบาร์ที่เสิร์ฟไวน์ในเมนู พวกเขาเชื่อว่ามันจะส่งผลดีต่อธุรกิจของพวกเขา หากพวกเขาเสิร์ฟไวน์ในแก้วที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเสิร์ฟได้ปริมาณเยอะขึ้น ก็หมายความว่าลูกค้าก็จะซื้อไวน์เพิ่มขึ้น (เข้าใจอย่างง่ายที่สุดคือ เมื่อร้านยิ่งรินเสิร์ฟเยอะ ไวน์ยิ่งหมดขวดเร็ว แล้วลูกค้าก็จะเปิดขวดใหม่อีก ร้ายซะไม่มี!)

 

Photo: Jacob’s Creek

 

300-450 มิลลิลิตร: เมื่อใครๆ ก็เข้าถึงไวน์

คริสตินา อากีเลรา แจ้งเกิดจากเพลง Genie in the Bottle ฉันใด แก้วไวน์ก็เริ่มเก๋ไก๋สไตลิสต์ขึ้นฉันนั้น เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียลส์ในปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา การบริโภคไวน์นั้นกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายในราคาที่แตะต้องได้ มีขายแพร่หลาย และมีการทำการตลาดในเรื่องของเครื่องดื่มชนิดนี้มากขึ้น จึงไม่แปลกใจเท่าไรที่งานวิจัยจะพบว่าในยุคนี้แก้วไวน์ก็ยังถูกพัฒนาให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และจุได้มากขึ้นแถมยังมีการผลิตแก้วไวน์ที่เหมาะสมกับไวน์ชนิดนั้นชนิดนี้เป็นพิเศษ เพื่อสอดรับกับรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของไวน์แต่ละประเภท และที่สำคัญที่สุด ในยุคนี้มีบริษัทเครื่องแก้วหลายแห่งเปิดโอกาสให้นักดื่มได้ดีไซน์และสั่งทำแก้วของตัวเองได้ประหนึ่งตัดสูทสุดเนี้ยบเชียวแหละ!

 

Photo: GIPHY

 

จากจอกใบน้อยที่จุไวน์เพียงราวๆ ที่ 66-70 มิลลิลิตรในยุค 1700 กลายมาเป็นแก้วไวน์ขนาดเหมาะมือใบโตที่จุได้มากสุดที่ราว 449 มิลลิลิตร ไปจนถึงแก้วไวน์ในมือคุณ แก้วไวน์เพิ่งจะมีพัฒนาการในการขยายขนาดในช่วงสองศตวรรษให้หลังนี้เอง ซึ่งเราพบว่าบริบทของสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคนี่แหละคือปัจจัยที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ก้าวมาไกลมากจากสิ่งที่เคยเป็นทั้งในแง่ของการใช้งานและความหมาย

 

ครั้งหน้าที่คุณถือแก้วไวน์ คุณไม่ต้องรู้ก็ได้ว่ามันจุได้กี่มิลลิลิตร แต่จงพึงจำไว้เสมอว่า กว่าแก้วเหล่านั้นจะโตเต็มใบได้อย่างทุกวันนี้ มันต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาเยอะแยะเหลือเกิน

 

เชียร์ส!

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

FYI
  • ‘ภาษีเครื่องแก้ว’ ถูกเรียกเก็บครั้งแรกโดยรัฐสภาอังกฤษในปี ค.ศ. 1745 โดยแก้วทุกประเภทต้องเสียภาษีนี้ ตั้งแต่กระจกหน้าต่างไปจนถึงขวดแก้ว ซึ่งกำหนดขึ้นมาเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแก้วทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์ โดยแก้วชนิดใสจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าขวดแก้วสีเขียว
  • ในยุคนั้นอังกฤษคิดภาษีเครื่องแก้วด้วยการชั่งน้ำหนัก เพราะฉะนั้นแก้วยิ่งหนัก ภาษีก็ยิ่งแพง นี่จึงเป็นที่มาของการผลิตแก้วไวน์แบบก้านเล็กผอม เพราะทำให้เสียภาษีน้อยลง เนื่องจากน้ำหนักเบานี่เอง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising