×

จุกนั้นสำคัญไฉน เรื่องของจุกปิดฝาไวน์ที่แก่กว่าอเมริกา คุณรู้ดีแค่ไหนกัน

24.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จุกก๊อกที่เราเห็นนั้นก็นำมาจากสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ไม่แพ้มนุษย์ และในวัฏจักรของอุตสาหกรรมไวน์ที่หมุนอย่างรวดเร็ว เปลือกไม้โอ๊กนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเหล่าต้นไม้ใน The Lord of the Rings สักนิด ตรงที่ค่อยๆ ขยับและโตทีละนิดจนโอบรอบทั้งต้น และต้นไม้ที่มีอายุขัยถึง 200 ปีแต่ละต้นมอบจุกก๊อกให้มนุษย์วงไวน์ได้ดื่มด่ำชื่นชมไวน์อร่อยๆ ได้เป็นพันๆ ขวดหากได้รับการดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม
  • ไวน์ที่มาจากฝั่งโลกใหม่อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ปิดปากขวดด้วยฝาเกลียวสำหรับหมุน แท้จริงแล้วผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าไวน์ในจุกไม้แม้แต่น้อย ทั้งยังสามารถเก็บได้โดยไม่ทำให้ไวน์เสีย และเหมาะกับสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าอีกด้วย
  • ต้นไม้ที่ถูกลอกเปลือกออก ค่อยๆ ผลิตเปลือกใหม่เป็นวงจรของธรรมชาติ ซึ่งมักใช้เวลาอย่างต่ำ 9 ปีด้วยกันจึงจะทำการลอกเปลือกใหม่ได้

ทุกครั้งที่เราทะเลาะกับการเปิดขวดไวน์ จะดึงขึ้น ดึงลง บิดซ้าย บิดขวา ใช้อวัยวะอื่นๆ ดัน แต่ท้ายสุดแล้วเมื่อผ่านขวากหนามที่กั้นบางๆ ระหว่างคุณกับน้ำองุ่นอัศจรรย์ได้ถูกเปิดออก เสียง ‘ป๊อป!’ และความสุขก็หลั่งไหลไปทั่วร่างราวกับเป็นรางวัลของผู้ที่พยายาม (เว้นแต่คุณจะดื่มไวน์จากกล่องน่ะนะ…) ว่าแต่เจ้า ‘ขวากหนาม’ ที่กั้นอยู่นั้น แท้จริงแล้วคุณรู้จักมันดีเพียงไหนกัน แม้จะเห็นหน้าค่าตาอยู่เป็นนิจ แต่หารู้ไม่ว่าเรื่องราวของมันอาจอัศจรรย์ใจกว่านั้น (มาก)

 

นอกจากคนเราแล้ว เคยทราบไหมว่าต้นไม้ทุกต้นมี ‘เปลือกนอก’ กับเขาด้วย และเปลือกของต้นโอ๊ก (Quercus suber) นั้นเป็นที่นิยมที่สุด และถูกนำมาทำเป็นจุกก๊อกสำหรับปิดขวดไวน์ ซึ่งต้นโอ๊กนี้เติบโตในแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีแสงแดดจัดจ้า ฝนไม่ชุก และมีความชื้นสูง และประเทศยอดฮิตที่ผลิตจุกไวน์ที่คุณเห็นนั้น ได้แก่ สเปน, แอลจีเรีย, โปรตุเกส, โมร็อกโก, ฝรั่งเศส, อิตาลี และตูนิเซีย ฯลฯ

 

และการเก็บเกี่ยวเปลือกนอกของไม้นั้นทำกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโน่น! และเช่นเดียวกับไวน์ที่ทำจากองุ่น จุกก๊อกที่เราเห็นนั้นก็นำมาจากสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ไม่แพ้มนุษย์ และในวัฏจักรของอุตสาหกรรมไวน์ที่หมุนอย่างรวดเร็ว แต่เปลือกไม้โอ๊กนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับตัวสลอธหรือเหล่าต้นไม้ใน The Lord of the Rings สักนิด ตรงที่ค่อยๆ ขยับและโตทีละนิดจนโอบรอบทั้งต้น ต้นไม้ที่มีอายุขัยถึง 200 ปีแต่ละต้นนี้มอบจุกก๊อกให้มนุษย์วงไวน์ได้ดื่มด่ำชื่นชมไวน์อร่อยๆ ได้เป็นพันๆ ขวดหากได้รับการดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม

 

 

เมื่อต้นไม้ที่มีสุขภาพดีมีอายุราวๆ 25 ปี คนเก็บเปลือกไม้จะใช้ขวานค่อยๆ แกะผิวบริเวณด้านนอกของต้นไม้ออกโดยไม่ทำลายเนื้อไม้ด้านในให้เสียหาย จากนั้นแผ่นไม้จะถูกนำมาทำให้แห้ง จัดเรียง และแปรรูป และในการทำฝาปิดขวดไวน์นั้นแผ่นไม้จะถูกนำมาต้มเสียก่อนเพื่อขจัดสิ่งสกปรก (เช่น สารเคมีที่อาจปนเปื้อนบนผิวไม้) จากนั้นก็นำมาตากให้แห้งจนได้ที่ก่อนจะนำมาอัดให้เข้ากับฝาขวด ขณะที่ต้นไม้ที่ถูกลอกเปลือกออกค่อยๆ ผลิตเปลือกใหม่เป็นวงจรของธรรมชาติ ซึ่งมักใช้เวลาอย่างต่ำ 9 ปีด้วยกันจึงจะกลับมาเป็นเช่นเดิม

 

ว่าแต่ทำไมน้องจุกจากไม้โอ๊กนั้นถึงพิเศษกว่าเปลือกไม้ของเพื่อนๆ ต้นไม้ตระกูลอื่นอย่างมะค่า ต้นสน หรือกระทั่งต้นสักล่ะ นั่นก็เพราะ ‘วิวัฒนาการ’ อันน่าทึ่งของน้องโอ๊กที่ธรรมชาติพัฒนาขึ้นเพื่อให้ปกป้องตัวเองจากสภาพอากาศที่อาจโหดร้ายในป่าแถบเมดิเตอร์เรเนียน เนื่องจากเผชิญกับความแห้งแล้งประจำ รวมถึงไฟป่าและอุณหภูมิที่ผันผวนบ่อย เปลือกไม้ที่อยู่รอบๆ นี้เปรียบเสมือน ‘หนังกำพร้า’ ของต้นไม้ที่ทำจากเซลล์ที่กันน้ำเพื่อป้องกัน ‘หนังแท้’ ที่อยู่ข้างใน

 

และคุณสมบัติที่ว่านี้หาใช่ว่าจะพบได้จากต้นไม้ชนิดอื่นๆ เพราะมีน้ำหนักเบา ทนต่อการเน่าเปื่อย ทนต่อเปลวไฟ ทั้งยังทนเหล่าปลวก กันแก๊สและของเหลว และมีความอ่อนนุ่มอีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เปลือกต้นโอ๊กกลายเป็นวัตถุดิบชวนฝันของการผลิตไวน์ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนรองเท้าและพื้นปูบ้านทีเดียว!

 

 

ที่น่าทึ่งขั้นกว่าคือ เปลือกไม้โอ๊กนั้นถูกนำมาปิดฝาไวน์มาตั้งแต่ 400 ปีก่อน (แก่กว่าประเทศยิ่งใหญ่ของโดนัลด์ ทรัมป์ เสียอีกเธอ!) และถือเป็นวัสดุที่ยอดเยี่ยมแก่การนำมาปิดฝาน้ำองุ่นชวนเพลินอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษเราอุตส่าห์บ่มๆ กัน นั่นก็เพราะมีสารธรรมชาติที่คล้ายขี้ผึ้ง หรือ suberin ซึ่งสารนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ของเหลวหรือแก๊สผ่าน และทนต่อการเน่าเปื่อย ทั้งยังเหมาะแก่การ ‘เอจ’ (Age) ไวน์ จากโครงสร้างโมเลกุลที่ให้อากาศจำนวนน้อยผ่านเข้าออกที่เสริมให้ไวน์พัฒนากลิ่นและรสชาติและเพิ่มความซับซ้อน (Complex) ยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

 

นอกเหนือจากผลผลิตที่มาจุกอยู่บนขวดไวน์ที่เราเห็น ป่าที่ปลูกต้นโอ๊กหนาแน่นอย่างในโปรตุเกส สเปน โมร็อกโก และตูนิเซีย ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะในพื้นที่แห้งแล้งอย่างทะเลทรายในโมร็อกโก หรืออะเล็นไตย์ฌู (Alentejo) ของโปรตุเกส ป่าที่ผลิตก๊อกที่เราโยนๆ ทิ้งกันนี่แหละ ที่ช่วยโอบกอดหน้าดินเอาไว้ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น แมวยักษ์อย่างลิงซ์ไอบีเรียและนกอินทรีหัวไหล่ขาวอีกด้วยนะ น่าอัศจรรย์ดีไหมล่ะ!

 

ถึงกระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป อุตสาหกรรมไวน์ก็พัฒนาขึ้น โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการปิดฝาไวน์เช่นกัน เช่น ฝาสังเคราะห์ต่างๆ หรือ ฝาเกลียว (Screw Cap) ที่พัฒนาคุณภาพจนเทียบเท่ากับฝาธรรมชาติได้ทีเดียว ซึ่งใครที่หาว่า ‘ไวน์ที่บรรจุขวดด้วยฝาเกลียวไม่ดีเยี่ยมเท่าเทียมกับไวน์จุกคอร์ก’ เราขอบอกเลยว่าคุณคิดผิดเสียแล้ว… เพราะไวน์ที่มาจากฝั่งโลกใหม่อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ปิดปากขวดด้วยฝาเกลียวสำหรับหมุน แท้จริงแล้วผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าไวน์ในจุกไม้แม้แต่น้อย ทั้งยังสามารถเก็บได้โดยไม่ทำให้ไวน์เสีย (ทั้งยังไม่ได้ก่อสนิมดังที่หลายคนคิดด้วยนะ)

 

ประเทศแถบออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ถือเป็นผู้เริ่มการปฏิวัติวงการไวน์ในยุคนี้ในการเปลี่ยนจุกคอร์กมาเป็นฝาเกลียว และปัจจุบันแลดูเหมือนออสเตรเลียจะนำหน้าหันมาใช้ฝาเกลียวมากที่สุดตามสัดส่วนพื้นที่ในการทำไวน์ที่มากกว่านิวซีแลนด์อีก และสำหรับออสเตรเลีย ผู้ผลิตไวน์ต่างๆ ก็หันมาใช้ฝาเกลียวนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาน้ำไวน์ที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อไหลซึมออกมา จนทำให้ผู้ผลิตหันมาพึ่งฝาเกลียว ผลดีก็คือไม่ว่าจะตะแคงมุมไหน ไวน์ก็ไม่มีน้ำไหลออกมาแน่นอน แถมยังเหมาะกับประเทศแถบเมืองร้อน (อย่างบ้านเรา) ให้เก็บได้อย่างปลอดภัย

 

 

ดังนั้นการจะบอกว่า “ว้าย ไม่เอานะไวน์ฝาเกลียว” ทำให้คุณอาจพลาดรสอร่อยภายในไปเสียแล้ว อย่าหาว่าเราไม่เตือน ดังที่เขาบอกว่า “Don’t Judge a Book by its Cover.” ดังนั้นอย่ารีบตัดสินไวน์จากจุกกันก่อนเป็นดี

 

และนอกเหนือจากนักพัฒนาไวน์ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บรักษาไวน์ให้อร่อยล้ำไม่ว่าจะเปิดช่วงเวลาใดแล้ว ก็ต้องขอบคุณเหล่าชาวสวนผู้พิถีพิถันเก็บเกี่ยวเปลือกไม้ชนิดนี้ที่ปกปักดูแลต้นโอ๊กที่นำมาทำจุกไวน์นี้อย่างดีมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งพวกเขาตั้งปณิธานที่จะทำเช่นนั้นต่อไปเพื่อความยั่งยืนของผืนป่า (และเพื่อนักดื่มไวน์อย่างพวกเรา)

 

ผืนป่าที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโปรตุเกสมีกฎหมายคุ้มครองตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และผลการศึกษาจากปี 2007 ยังสรุปอีกว่า ขั้นตอนการผลิตจุกไม้ธรรมชาตินั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าการผลิตพลาสติก

 

นั่นแปลว่าอะไรรู้ไหม

 

แปลว่ายิ่งเปิดขวดก็ยิ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับโลก ทั้งยังสนับสนุนความยั่งยืนอีกด้วยน่ะสิ

 

ทีนี้รออะไรล่ะ จะบิดหรือจะดึงก็ตาม เรามาเปิดขวดไวน์กันเถอะ!

 

อ่านเรื่อง 5 วิธีเปิดขวดไวน์แบบไม่ต้องง้อที่เปิด เพื่อไวน์เราทำได้ ได้ที่นี่

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan 

อ้างอิง:

FYI
  • หากไม่อยากลุกออกจากบ้านให้วุ่นวาย สามารถช้อปปิ้งไวน์ออนไลน์ได้แล้วที่นี่
  • ผู้บรรลุนิติภาวะควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหากบริโภคแอลกอฮอล์
  • หมายเหตุ: สุราเป็นเหตุก่อมะเร็ง เซ็กซ์เสื่อม ก่อให้พิการและเสียชีวิต เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม สามารถทำร้ายครอบครัวและทำลายสังคมได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising