×

ความสัมพันธ์ระหว่างไวน์และอารมณ์ ไวน์แก้วโปรดของคุณสื่อถึงอะไร?

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • งานศึกษาล่าสุดในหัวเรื่อง ‘Emotional response to wine: Sensory properties, age and gender as drivers of consumers’ preferences’ โดยมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคมาดริด ประเทศสเปน ได้เผยแพร่ผลงานการวิจัยของพวกเขาถึงประเด็นที่นำเอาความรู้สึกทางประสาทสัมผัสจากรสชาติไวน์ของมนุษย์มาผนวกเข้ากับอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อศึกษาหาว่ากลิ่นและรสชาติที่ถูกนิยามขึ้นมาของไวน์แต่ละชนิดนั้นสอดคล้องหรือให้ความรู้สึกอย่างไรแก่มนุษย์
  • อารมณ์ความรู้สึก ‘ดี’ ‘มีความสุข’ ‘สนุกสนาน’ และ ‘พอใจ’ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับไวน์ที่มีกลิ่นหรือรสชาติของผลไม้และดอกไม้
  • ถ้าหากนำ ‘เพศ’ มาวิเคราะห์พบว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังดื่มไวน์ ผู้ชายจะมีการลงคะแนนให้มากกว่าผู้หญิง หมายความว่าผู้ชายนั้นมีความรู้สึกกับไวน์มากกว่าผู้หญิง

เคยสังเกตไหมว่า ทำไมเวลาเราได้รับรสชาติของอาหารสักอย่าง เราถึงได้มีอารมณ์และความรู้สึกร่วมแตกต่างกันไป ซึ่งในบางงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของรสชาติและความรู้สึกของมนุษย์นั้นเคยยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นภาพ เช่น เวลาได้กินช็อกโกแลตบาร์สักแท่ง เราจะรู้สึก ‘เปี่ยมพลังงาน’ หรือ ‘มีความสุข’ หรือการที่ได้รับรสชาติความขมบางๆ ของเบียร์แก้วโปรด คุณจะรู้สึก ‘เศร้า’ หรือรสชาติความเปรี้ยวของซิตรัสนั้นทดแทน ‘ความผิดหวัง’

 

แล้วกับเครื่องดื่มที่มีรสชาติอันซับซ้อนอย่าง ‘ไวน์’ ล่ะ จะสามารถบ่งบอกหรือเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของมนุษย์หลังจากดื่มเข้าไปแล้วได้หรือไม่?

 

งานศึกษาล่าสุดที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2017 ที่ผ่านมาในหัวเรื่อง ‘Emotional response to wine: Sensory properties, age and gender as drivers of consumers’ preferences’ โดยโรงเรียนการเกษตรกรรม อาหารและวิศวกรรมไบโอซิสเต็มส์ ในมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคมาดริด ประเทศสเปน ได้เผยแพร่ผลงานการวิจัยของพวกเขาถึงประเด็นที่นำเอาความรู้สึกทางประสาทสัมผัสจากรสชาติไวน์ของมนุษย์มาผนวกเข้ากับอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพื่อศึกษาหาว่ากลิ่นและรสชาติที่ถูกนิยามขึ้นมาของไวน์แต่ละชนิดนั้นสอดคล้องหรือให้ความรู้สึกอย่างไรแก่มนุษย์ โดยไวน์สามชนิดที่ถูกนำมาศึกษาในงานชิ้นนี้คือ ไวน์แดง ไวน์ขาว และไวน์โรเซ

 

และใช่ว่าเอาตาสีตาสามานั่งจิบไวน์แล้วถามความรู้สึก นั่นคงจะง่ายไปหน่อย แล้วการศึกษาชิ้นนี้เขาศึกษากันอย่างไรล่ะ?

 

พวกเขาคัดเลือกผู้บริโภคไวน์เพื่อศึกษาด้วยการวิเคราะห์การตอบสนองทางอารมณ์ โดยเกณฑ์บุคคลจำนวน 208 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ดื่มไวน์อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือนเป็นปกติ ส่วนการศึกษาในหัวเรื่องนี้นั้นง่ายดายมาก เพียงแค่ให้จิบไวน์ (โดยทำการปิดตา) และสอบถามความรู้สึกทันทีโดยให้ลงเป็นคะแนน และทีมวิจัยได้คัดเลือกกลุ่มคนเหล่านี้มาจากคนช่วงวัยสามรุ่น อันได้แก่อายุ 18-35 ปี อายุ 36-55 ปี (วัยกลางคน) และผู้สูงอายุ อายุ 55 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย และทุกๆ คนที่เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้จะได้รับการอบรมเรื่องไวน์ (Wine Tasting) กันก่อน เพื่อเข้าใจรสชาติ กลิ่น และความรู้สึกที่ได้รับ

 

นี่คือผลลัพธ์

  • อารมณ์ความรู้สึก ‘ดี’ ‘มีความสุข’ ‘สนุกสนาน’ และ ‘พอใจ’ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับไวน์ที่มีกลิ่นหรือรสชาติของผลไม้และดอกไม้ โดยเฉพาะไวน์ขาวและไวน์โรเซ
  • อารมณ์ความรู้สึก ‘ก้าวร้าว’ และ ‘รู้สึกผิด’ เกิดจากกลิ่นหรือรสชาติของไวน์ที่มีวานิลลา กานพลู และชะเอม
  • ถ้าหากนำ ‘เพศ’ มาวิเคราะห์พบว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังดื่มไวน์นั้น ผู้ชายจะมีการลงคะแนนให้มากกว่าผู้หญิง นั่นหมายความว่าผู้ชายมีความรู้สึกกับไวน์มากกว่าผู้หญิง
  • อารมณ์ ‘เบื่อหน่าย’ เกิดขึ้นมากหลังจากดื่มไวน์โดยเฉพาะในเพศชาย แต่ไม่พบในเพศหญิง
  • ผู้หญิงให้นิยามกับไวน์ขาวว่ารู้สึก ‘เริงร่า’ มากกว่าไวน์แดง ในขณะที่ผู้ชายนั้นไม่ได้รู้สึกว่าสองไวน์แตกต่างกันเท่าไร
  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 36 ปีขึ้นไป มักจะให้คะแนนกับอารมณ์ต่างๆ สูงกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า เช่น ความรู้สึก ‘กระตือรือร้น’ ‘สนุกสนาน’ ‘รัก’ ‘คิดถึง’ ‘พอใจ’ ‘อบอุ่น’ ‘สงบ’
  • แต่กลับกัน ความรู้สึก ‘ผิด’ และ ‘กังวล’ ทำคะแนนได้สูงกว่าในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 36 ปี

 

จากผลวิจัยเราจะพบเห็นได้ว่า อารมณ์ของมนุษย์และไวน์นั้นควบคู่กันไปอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะกับไวน์ขาวหรือไวน์โรเซที่มักมีกลิ่นของดอกไม้และผลไม้ที่ให้ความสดชื่น และพบว่าหลังจากผู้บริโภคดื่มไวน์เหล่านั้นเข้าไป พวกเขามีความสุข สดชื่น และพึงพอใจเหมือนกันกับรสชาติของไวน์ขาว ซึ่งแตกต่างกับรสชาติของไวน์แดงที่เข้มกว่า สุขุมกว่า ซึ่งกลั่นอารมณ์ออกมาเป็นความรู้สึกที่เยือกเย็น ก้าวร้าว หรือความรู้สึกผิด

 

ในขณะเดียวกันผลวิจัยก็ระบุว่า กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 36 ปีนั้นกลับให้คะแนนกับความรู้สึก ‘ผิด’ และ ‘กังวล’ มากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 36 ปีขึ้นไป หรืออาจเป็นเพราะว่าวัยที่ต่างกันนั้นให้ความหมายของการดื่มไวน์ต่างกันไป บ้างอาจดื่มเพราะเครียดจึงรู้สึกวิตกกังวลตามมา บ้างก็ดื่มเพื่อหาความสุขและความสงบให้ตัวเองเพื่อขจัดอารมณ์บางอย่างออกไป

 

จิบไวน์ครั้งหน้า ลองสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของตัวเองกันสักหน่อยว่าหลังจากได้รับรสชาติที่คุ้นเคยจากไวน์แก้วโปรด คุณรู้สึกอะไรอยู่?

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X