×

ดื่มไวน์แล้วไม่อ้วนจริงหรือ? หลากเรื่องสุขภาพน่ารู้ที่ซ่อนอยู่ในแก้วไวน์

22.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘ไพซีแทนนอล’ (Piceatannol) เป็นสารที่พบได้ในผลไม้หลากหลายชนิด รวมถึงในองุ่นแดง ซึ่งความสามารถของมันคือช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน สร้างบทบาทเป็นตัวยับยั้งน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้น
  • งานวิจัยร่วมของสถาบันทางด้านวิทยาศาสตร์โภชนาการและอาหารในสเปน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ว่า การดื่มไวน์แดงวันละ 1-3 แก้วสามารถลดภาวะความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ได้
  • จุดเด่นที่น่าสนใจของโรเซไวน์ก็คือ เป็นชนิดไวน์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าไวน์ประเภทอื่นๆ ดื่มได้ไม่ต้องกลัวอ้วน!

ถึงแม้ไวน์จะถูกจัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นเครื่องดื่มที่เกิดมาเพื่อสำหรับการเฉลิมฉลองเท่านั้น เพราะไวน์สีสวยหลากหลายชนิดยังคงแอบซ่อนประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพของมนุษย์ไว้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มที่เหมาะสมของคุณด้วย

 

ไวน์ที่คุณดื่มแอบซ่อนสรรพคุณอะไรไว้บ้าง THE STANDARD ขอพาคุณกระโจนดำดิ่งลงไปในแก้วไวน์พร้อมค้นหาคำตอบด้วยกัน

 

ดื่มไวน์แล้วช่วย ‘ควบคุมน้ำหนัก’

ฟังแล้วคงตาโต เพราะไวน์แดงสามารถช่วยคุณควบคุมน้ำหนักได้ นั่นก็เป็นเพราะแคลอรีในแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ช่วยควบคุมน้ำหนักคือ ‘ไพซีแทนนอล’ (Piceatannol) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในผลไม้หลากหลายชนิด รวมถึงในองุ่นแดงต่างหาก ซึ่งความสามารถของมันคือช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน สร้างบทบาทเป็นตัวยับยั้งน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้น แต่คุณต้องทำความเข้าใจก่อนนะว่า มันช่วยไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะช่วยคุณลดน้ำหนักนะ!

 


ดื่มไวน์แล้ว ‘ลดความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์’

หนึ่งความน่าสนใจของเจ้าไวน์แดงที่พบในงานวิจัยร่วมของสถาบันทางด้านวิทยาศาสตร์โภชนาการและอาหารในสเปน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ว่า การดื่มไวน์แดงวันละ 1-3 แก้วสามารถลดภาวะความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ได้ โดยไวน์แดงจะทิ้ง ‘เรสเวอราทรอล’ (Resveratrol) สารต่อต้านอนุมูลอิสระผ่านลำไส้ของคุณ ซึ่งมีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์ประสาทหรือลดความเสี่ยงของการถูกทำลายได้ ทั้งยังช่วยลดภาวะความเครียดที่เกิดจากการไม่สมดุลของสารอนุมูลอิสระในร่างกาย (Oxidative Stress) ซึ่งนั่นอาจส่งผลไปถึงสุขภาพจิตใจของเราเมื่อยามแก่ตัว รวมไปถึงลดความเสี่ยงของโรคทางระบบประสาทอื่นอย่างพาร์กินสันอีกด้วย

 

 

ดื่มไวน์แล้วช่วยให้ ‘หลับสบาย’

จากงานวิจัยของศาสตราจารย์มาเซลโล อีริติ (Macello Iriti) จากมหาวิทยาลัยมิลาน ในประเทศอิตาลีได้ค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า “ดื่มไวน์แล้วช่วยให้หลับสบายจริงหรือ?” คำตอบก็คือใช่ เพราะเปลือก เนื้อ และเมล็ดขององุ่นนั้นมีส่วนประกอบของเมลาโทนิน ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการควบคุมการนอนหลับของมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกหากว่าการดื่มไวน์จะทำให้คุณรู้สึกง่วงนอน แต่หากเป็นการดื่มไวน์แดงที่มีส่วนประกอบของเปลือกและเนื้อขององุ่นที่เข้มข้นกว่า ก็จะทำให้คุณหลับสบายยิ่งขึ้น

 

 

โรเซไวน์ ความสดชื่นที่มีประโยชน์

เผื่อบางคนที่ไม่ได้ชื่นชอบรสชาติเข้มข้นของไวน์แดง ไม่ค่อยเป็นมิตรกับความขม โรเซไวน์ คือทางเลือกที่น่าสนใจเพราะมีส่วนประกอบของเปลือกองุ่นแดงที่มีสารเรสเวอราทรอลซึ่งคุณก็จะได้รับคุณประโยชน์จากมันด้วย อีกทั้งจุดเด่นหนึ่งของโรเซไวน์ก็คือ เป็นชนิดไวน์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าไวน์ประเภทอื่นๆ ดื่มได้ไม่ต้องกลัวอ้วน!

 

 

ดื่มแค่ไหนถึงจะพอเหมาะ

ต่อให้ไวน์จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพแอบซ่อนอยู่ แต่ก็ใช่ว่าคุณจะดื่มแทนน้ำจนเมามายไปเลยก็ใช่เรื่อง ปริมาณที่พอเหมาะพอควรของการดื่มไวน์นั้นก็ถูกศึกษาจากหลายๆ องค์กร ซึ่งล้วนแล้วแต่พยายามจะให้นิยามของ ‘การดื่มที่เหมาะสม’ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคุณผู้ดื่มเอง เราจึงขอรวบรวมปริมาณการดื่มที่เหมาะสมจากหลายๆ สำนักมาให้คุณได้เปรียบเทียบและมองหาความเหมาะสมของตัวเอง

 

  • องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินสองแก้วต่อวัน ไม่เกิน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยนับเป็นปริมาณเอทานอลที่ได้รับราว 10 กรัมต่อแก้ว
  • ส่วนทางกรมวิชาการเกษตรกรรมของสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำแนวทางการบริโภคอาหารสำหรับชาวอเมริกันในปี 2015-2020 แนะนำให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง ผู้ชายสองแก้วต่อวัน ผู้หญิงหนึ่งแก้วต่อวัน โดยนับเป็นปริมาณเอทานอลที่ได้รับราว 14 กรัมต่อแก้ว
  • ศูนย์สารเสพติดและโรคจิตเวชของแคนาดา บอกว่าปริมาณที่เหมาะสมของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อวันคือ ผู้ชายสามแก้ว และผู้หญิงสองแก้ว โดยหนึ่งแก้วในที่นี้หมายถึงไวน์เข้มข้น 12% หรือปริมาณ 5 ออนซ์

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising