×

การลงทุนใน DR คืออะไร? รวมเรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

01.03.2022
  • LOADING...
การลงทุน DR

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีนโยบายมุ่งเน้นการสร้างเสริมและผลักดันให้ตลาดทุนไทยก้าวสู่ความเป็นสากลและสามารถเชื่อมโยงกับตลาดทุนทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการระดมทุนในตลาดทุนภายในประเทศให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองแนวทางการลงทุนของผู้ลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงแนวทางการลงทุนแบบการกระจายการลงทุน (Asset Allocation) ด้วย

 

แม้ปัจจุบันการที่ผู้ลงทุนจะนำเงินออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ลงทุนทุกคนจะสามารถลงทุนได้ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ที่หุ้นบรษัทต่างประเทศบางตัวมีราคาต่อหุ้นสูงตั้งแต่ระดับหมื่นบาทถึงล้านบาทต่อหุ้นเลยทีเดียว สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการออกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้ลงทุนไทยสามารถกระจายการลงทุนไปในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องไปเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศ และแม้มีเงินลงทุนไม่มากก็สามารถกระจายการลงทุนไปในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ โดยลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า DR

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

DR คืออะไร?

 

DR ย่อมาจาก Depositary Receipt หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือตราสารที่ออกมาโดยมีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิง (Underlying Asset) โดย DR ของไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. DR แบบฝาก
  2. DR แบบอ้างอิงสิทธิ

 

ทั้งสองประเภทมีความต่างกันตรงที่ DR แบบฝาก ชื่อก็บอกแล้วว่าผู้ลงทุนฝากลงทุนต่างประเทศไว้ ดังนั้นอัตราส่วนของ DR กับ Underlying Asset ต้องเท่ากับ 1:1 เท่านั้น ไม่สามารถแตกหน่วยย่อยของ DR ได้ แต่ถ้าเป็น DR แบบอ้างอิงสิทธิ ที่อ้างอิงสิทธิในผลประโยชน์ ก็สามารถกำหนดในอัตราส่วน 1:1 หรือไม่ก็ได้ เช่น 1 หน่วย Underlying Asset : 100 หน่วย DR เป็นต้น แต่สิ่งที่ DR ทั้งสองประเภทมีเหมือนกันก็คือ ผู้ออกและเสนอขาย DR (DR Issuer) จะต้องมีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิงรองรับเต็มจำนวนเสมอ

 

สำหรับหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สามารถนำมาเป็น Underlying Asset ได้แก่

 

  1. หุ้นต่างประเทศ
  2. กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Foreign Exchange Traded Fund: Foreign ETF)
  3. กองทุน Collective Investment Scheme (CIS) ต่างประเทศ
  4. REITs และ Infrastructure Fund ต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ต่างประเทศดังกล่าวข้างต้นยังต้องมีคุณสมบัติด้านคุณภาพด้วย เช่น ต้องมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) หรือมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนเป็นที่ยอมรับของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือเป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO)

 

เพราะเหตุใด DR จึงเป็นตัวช่วยในการกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ในต่างประเทศ

 

นอกจาก DR จะเป็นตัวเชื่อมที่เปรียบเสมือนการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทยแล้ว จุดเด่นของ DR อีกอย่างหนึ่งคือ การแตก Underlying Asset ออกมาเป็นหน่วยย่อยได้ ในกรณี DR แบบอ้างอิงสิทธิ ซึ่งผู้ออกสามารถกำหนดอัตราส่วนจำนวนของ DR ต่อ 1 หน่วยของ Underlying Asset เช่น Underlying Asset เป็นหุ้นต่างประเทศที่มีราคาตลาดซื้อขายที่ 10,000 บาทต่อหุ้น ผู้ออกก็อาจกำหนดให้ 1,000 หน่วย DR : 1 หน่วยของ Underlying Asset ซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายของ DR เท่ากับ 10 บาทต่อหน่วย ผู้ลงทุนจึงสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น

 

ก่อนที่จะเริ่มลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลอะไร และดูข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนได้จากที่ไหนบ้าง

 

มาถึงส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเริ่มลงทุนคือ ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ช่วง คือ การลงทุนซื้อขายในช่วงตลาดแรก (ช่วง IPO) และการลงทุนซื้อขายในตลาดรอง (ช่วงหลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)

 

1. ช่วง IPO

 

ข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาคือหนังสือชี้ชวนของ DR ตัวนั้นๆ ซึ่งเป็นเอกสารที่รวมรายละเอียดข้อมูลสำคัญ เช่น

 

  • Underlying Asset คืออะไร ถ้าเป็นหุ้นก็ต้องศึกษาธุรกิจและความเสี่ยงของหุ้นนั้นๆ หรือหากเป็นกองทุน ก็ต้องดูนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นว่าเป็นอย่างไร มีการกระจายหรือเน้นการลงทุนใน Sector ใดเป็นพิเศษ
  • เป็น DR ประเภทใด ‘แบบฝาก’ หรือ ‘แบบอ้างอิงสิทธิ’ และอัตราส่วนของ DR ต่อ Underlying Asset เป็นจำนวนเท่าใด
  • ข้อกำหนดสิทธิต่างๆ ของผู้ถือ DR เพื่อจะได้ทราบว่าผู้ถือ DR มีสิทธิอะไรบ้าง เช่น สิทธิในการรับเงินปันผล เป็นต้น
  • ความเสี่ยงของการลงทุนใน DR หลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เช่น

(1) ความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา DR ที่อาจไม่เคลื่อนไหวตาม Underlying Asset แบบ 100% รวมถึงมีการแต่งตั้ง Market Maker หรือไม่ ซึ่ง Market Maker มีหน้าที่ดูแลสภาพคล่องของ DR ทำให้การซื้อขาย DR มีความต่อเนื่องมากขึ้น ก็จะเป็นตัวช่วยในการลดความผันผวนของราคา DR ลง

(2) ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะ DR เป็นการลงทุนที่อ้างอิงกับ Underlying Asset ที่ไม่ใช่สกุลเงินบาท

 

  • ข้อมูลเกี่ยวกับการจองซื้อ สามารถจองซื้อได้ที่ไหน ราคาเสนอขายต่อหน่วยเท่าใด ซึ่งโดยทั่วไปในการเสนอขาย ผู้ออก DR จะกำหนดเป็นช่วงราคา เพราะในช่วงเวลาการจองซื้อยังคงมีความไม่แน่นอนว่าผู้ออกจะสามารถซื้อ Underlying Asset ได้ในราคาเท่าใด โดยหากกำหนดราคาจองซื้อสุดท้าย (Final Price) ต้องมีการคืนเงินจองซื้อ ซึ่งก็จะมีกระบวนการคืนเงินส่วนต่างให้แก่ผู้จองซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

 

นอกจากนี้ ขอย้ำว่าแม้ DR จะมีรูปแบบการเสนอขายเช่นเดียวกับหุ้น IPO แต่ไม่ใช่หุ้น IPO แท้จริงแล้ว DR เป็นเพียงตราสารที่อ้างอิงกับ Underlying Asset ที่เป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศเท่านั้น การพิจารณาราคาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อจึงต้องพิจารณาราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงดังกล่าวด้วย

 

2. ช่วงหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

ข้อมูลที่ผู้ลงทุนควรศึกษาก็ไม่ต่างจากช่วง IPO แต่จะมีเพิ่มเติมคือข้อมูลที่ผู้ออก DR ได้เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ ข้อมูลราคา DR ที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับราคา Underlying Asset ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Indicative Price ซึ่ง Indicative Price ไม่ใช่ราคาเสนอซื้อเสนอขาย DR แต่เป็นมูลค่าของ Underlying Asset ระหว่างวันที่มีการปรับอัตราส่วนให้เป็นต่อหนึ่งหน่วย DR ซึ่งคำนวณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่างประเทศกับสกุลเงินบาทไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนทราบในเบื้องต้นว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นแตกต่างจากราคา Underlying Asset ที่ซื้อขายในตลาดหลักอย่างไร เช่น หุ้นต่างประเทศที่เป็น Underlying Asset ราคาที่แปลงเป็นสกุลเงินบาทแล้วอยู่ที่ 10,000 บาท และ DR มีอัตราส่วน 1:1,000 ดังนั้นราคา Indicative Price จะอยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย DR ซึ่งในสภาวะปกติราคาซื้อขาย DR จะใกล้เคียงกับราคา 10 บาท ตาม Indicative Price

 

จะเห็นได้ว่า DR เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนไทยได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสในการลงทุนย่อมมาคู่กับความเสี่ยง ดังนั้นการศึกษาข้อมูลให้เข้าใจว่าเรากำลังจะลงทุนในอะไร มีความเสี่ยงในเรื่องอะไรบ้าง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ 

 

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ลงทุนไทย โดยในปี 2564 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนในต่างประเทศ เช่น Monetary Authority of Singapore (MAS) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในการออกผลิตภัณฑ์ DR ระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ Singapore Exchange (SGX) อีกด้วย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้มี DR ใหม่ของทั้งสองตลาด ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ DR หรือการระดมทุนต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th

 

ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising