×

Brexit จะแยกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย เจรจาไป 3 รอบ แต่ยังไปไม่ถึงไหน

08.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การเจรจา Brexit หรือการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร ที่ได้เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคืออียูมีท่าทีจะไม่ปล่อยให้สหราชอาณาจักรเดินเกมยุทธการณ์แบบที่ฝรั่งกันเรียกกันว่า ‘cherry picking’ คือเลือกเอาเฉพาะของดีๆ และเรื่องที่ตัวได้ประโยชน์ไป และออกจากอียูไปแบบง่ายๆ อย่างแน่นอน
  • หลังเจรจาจาไปแล้ว 3 รอบ รอบล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ก็ยังไม่เห็นวี่แววความคืบหน้ามากนัก เพราะคณะเจรจาสองฝ่ายยังไม่มีท่าทีจะตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ
  • ยังไม่รวมเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิทธิ์ของประชาชนสองฝั่งที่ไปใช้ชีวิตและพำนักอาศัยอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ประชาชนของสหราชอาณาจักรหลายล้านคนที่พำนักอาศัยอยู่ในอียู และประชาชนของอียูอีกหลายล้านคนที่อยู่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของพวกเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

     ตั้งแต่กระบวนการเจรจา Brexit เริ่มต้นขึ้น อนาคตของยุโรปก็ยิ่งน่าเป็นห่วง (ทั้งฝั้งอียูและฝั่งสหราชอาณาจักร) ตั้งแต่เรื่องการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การทำงาน การพำนักอาศัย ของประชาชนอียูและสหราชอาณาจักรหลายล้านคน ยังไม่มีความแน่นอนและชัดเจนว่าหลังจาก ‘Brexit’ ที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียูแน่ๆ ในอีกไม่ถึง 2 ปี แต่อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา

     ความสัมพันธ์ประเทศอียู-สหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังสามารถทำธุรกิจการค้าผ่านระบบภาษีศุลกากรเดียวกันได้ไหม กฎเกณฑ์ต่างๆ จะเปลี่ยนไปไหม การเข้าไปลงทุน หรือแม้แต่เดินทางไปมาหาสู่กันแบบเดิม หรือเข้าไปหางานทำแบบง่ายๆ เหมือนเดิมอยู่หรือไม่?

     ฝ่ายการเมืองทั้งสองฝ่ายยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะนี่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีประเทศเลือกออกจากการเป็นสมาชิกอียู หลังจากความสัมพันธ์ที่ยาวนานถึง 44 ปี

 

 

ใครคือคณะเจรจา

     การเจรจา Brexit หรือการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร ที่ได้เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา นำโดยหัวเรือใหญ่ ได้แก่ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู นายมิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส และแน่นอนว่าจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของอียูแบบเต็มที่

     สิ่งที่เกิดขึ้นคืออียูมีท่าทีจะไม่ปล่อยให้สหราชอาณาจักรเดินเกมยุทธการณ์แบบที่ฝรั่งกันเรียกกันว่า ‘cherry picking’ คือเลือกเอาเฉพาะของดีๆ และเรื่องที่ตัวได้ประโยชน์ไป และออกจากอียูไปแบบง่ายๆ แต่ นายมิเชล บาร์นิเยร์ บอกว่า “การตัดสินใจออกจากอียูและตลาดร่วมยุโรป (ของสหราชอาณาจักร) ต้องมีผลกระทบแน่นอน”

     ส่วนหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหราชอาณาจักร นายเดวิด เดวิส (David Davis) ที่มีตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีกระทรวงการ ‘ออกจากอียู’ (ชื่อกระทรวงแบบนี้จริงๆ คือ Department for Exiting the European Union หรือ DexEU) มองว่า ‘การออกจากอียูจะต้องมีผลดีกว่าการอยู่กับอียูแน่นอน’ ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับท่าทีของฝ่ายอียูอย่างสิ้นเชิง

     นอกจากนั้น เขายังเน้นเทคนิคการเดินหน้าการเจรจาแบบ flexible and imaginative เพื่อผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและผู้บริโภค และวิจารณ์ว่าฝ่ายอียูต้องเพิ่มความยืดหยุ่นกว่านี้ แต่ในความจริงแล้ว นายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู ยืดหยุ่นและประนีประนอมได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะเขาต้องได้รับอาณัติสำหรับท่าทีการเจรจามาจากประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศเสียก่อน

 

ซ้ายอียู คนกลาง หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู นายมิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier)

ขวาสหราชอาณาจักร หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหราชอาณาจักร นายเดวิด เดวิส (David Davis) 

Photo: euronews/twitter

 

คืบหน้าไปถึงไหน ประชาชนลุ้นอยู่

     หลังเจรจาไปแล้ว 3 รอบ รอบล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ก็ยังไม่เห็นวี่แววความคืบหน้ามากนัก เพราะคณะเจรจาสองฝ่ายยังไม่มีท่าทีจะตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญๆ

     เรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างข้อตกลงด้านการเงินของการหย่าร้างครั้งนี้ หรือที่เรียกกันว่า divorce bill จำนวนหลายพันล้านหรืออาจเป็นหมื่นล้านยูโร (ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน) ยังตกลงกันไม่ได้

     โดยฝ่ายอียูเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรตกลงที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่สหราชอาณาจักรเคยให้คำมั่นด้านงบประมาณไว้ แม้จะออกจากการเป็นสมาชิกไปแล้วจนถึงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเจรจาเรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องการค้า

     แต่ฝ่ายสหราชอาณาจักรมองว่าการจ่ายเช็กหลายหมื่นล้านแบบนี้ให้อียูน่าจะเป็นไพ่ใบสุดท้าย เอาไว้ใช้กดกันเรื่องการเจรจาทางการค้าซึ่งเป็นผลประโยชน์สำคัญของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเพราะเรื่องการจ่ายเงินนี่แหละ เลยยังตกลงกันไม่ได้สักที

     ยังไม่รวมเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิทธิ์ของประชาชนสองฝั่งที่ไปใช้ชีวิตและพำนักอาศัยอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง กล่าวคือประชาชนของสหราชอาณาจักรหลายล้านคนที่พำนักอาศัยอยู่ในอียู และประชาชนของอียูอีกหลายล้านคนที่อยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งต่างก็ทั้งมีครอบครัว ประกอบอาชีพ ทำธุรกิจ และยังไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของพวกเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

     ซึ่งจริงๆ โมเดลการใช้ชีวิตและการย้านถิ่นฐานระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรแบบนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผลพวงมาจาก free movement of people จากการเป็นสมาชิกอียูมากกว่า 44 ปี

     สำหรับประเด็นนี้ นับว่าการเจรจามีความคืบหน้าไปพอสมควรในบางเรื่อง อาทิ ชาวอังกฤษที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศอียูสามารถใช้สิทธิ์ในการใช้ประกันสุขภาพของยุโรปต่อไปได้ เมื่อเดินทางไปในประเทศอียูอื่นๆ อย่างไรก็ดี ชาวอังกฤษที่อยู่ในอังกฤษจะยังไม่ได้สิทธิ์ดังกล่าว

     ส่วนเรื่อง Travel Common Area ระหว่างไอร์แลนด์กับสหราชอาณาจักรก็คืบหน้าไปด้วยดี คือประชากรไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรจะสามารถเดินทางระหว่างสองประเทศได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ตเหมือนเดิม แต่รายละเอียดเรื่องสำคัญอื่นๆ อาทิ การผ่านคนเข้าเมือง การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และสิทธิ์ในการทำงานและพำนักอาศัยระหว่างประชากรสองฝั่ง ได้มีการตกลงด้านเทคนิคไปหลายประเด็น แต่ในทางปฏิบัติ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

     การเจรจาด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝั่ง ซึ่งมีการค้าและการลงทุน รวมทั้งการใช้แรงงานระหว่างกันอย่างมหาศาลในธุรกิจทุกภาคส่วน ตั้งแต่ด้านการธนาคาร เกษตร อุตสาหกรรม ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและระบบห่วงโซ่อุปทานน้อยที่สุด เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียู ความไม่แน่นอนในช่วงการเจรจานี้ ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าในอีก 2 ปี จะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มหาทางหนีทีไล่กันแล้ว ผลกระทบน่าจะอยู่ที่สหราชอาณาจักรมากกว่าฝั่งอียู

     ในกรอบระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีของการเจรจา Brexit ก็เหมือนระเบิดเวลา นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของสองฝ่ายนั้นช่างแตกต่างกัน เรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องการค้า และเรื่องอ่อนไหวอย่างเรื่องผู้อพยพและการผ่านคนเข้าเมืองนั้น มีโอกาสที่จะตกลงกันได้ยาก

     ใครจะได้ ใครจะเสีย แต่โอกาสที่สหราชอาณาจักรอาจต้องออกจากอียูแบบ no deal ในปี 2562 นั้นมีสูง และผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของ no deal สำหรับทั้งสหราชอาณาจักรและอียูนั้นก็มหาศาล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising