×

IN THE NAME OF DIVERSITY

18.09.2017
  • LOADING...

     “ความหลากหลายในโลกนี้เป็นลักษณะพื้นฐานของสังคมมนุษย์ และยังเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับโลกที่มีชีวิตชีวาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบบที่เราเห็นในทุกวันนี้” อดีตประธานาธิบดี หูจิ่นเทา ของจีน กล่าวไว้ในช่วงที่เป็นผู้นำแดนมังกร

     นักอุดมคติเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน แม้รูปพรรณสัณฐานจะแตกต่างกันตามถิ่นกำเนิด สภาพอากาศ ชาติพันธุ์ นั่นคือส่วนที่โลกใบนี้มอบให้ผ่านความหลากหลายทางชีวภาพ

     ถ้าเราพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นระยะๆ ความเสมอภาคในฐานะมนุษย์แบบที่คนทั่วไปฝันถึง ยังเป็นเรื่อง
ในอุดมคติอยู่นั่นเอง

     ในวีดิทัศน์ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นมาแล้ว ผู้สื่อข่าวถามเด็กหญิงชาวซีเรียในค่ายอพยพแห่งหนึ่งถึงชื่อเสียงเรียงนาม เธอไม่ทราบชื่อตัวเอง ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงผู้เป็นพ่อ เด็กหญิงให้ข้อมูลว่าบิดาเสียชีวิตแล้ว คำถามสุดท้าย “หนูกินข้าวเช้า ข้าวเที่ยง ข้าวเย็นมาหรือยัง” เด็กหญิงไม่ตอบ เอามือปิดหน้าอายๆ เศร้าๆ เหมือนจะสื่อให้เราได้รู้ว่า ปัจจัยพื้นฐานเรื่องอาหารมื้อต่างๆ ในแต่ละวันเป็นเรื่องที่หนูน้อยกำหนดเองไม่ได้เลย ในต่างแดนที่เธอหลบภัยมาพักพิง

    นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่เราได้พบเห็นเกี่ยวกับประเทศที่แทบจะล่มสลายด้วยพิษสงครามอย่างซีเรีย ซึ่งได้รับการสื่อสารผ่านสารพัดช่องทางตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างเรื่องชาติพันธุ์ในซีเรียอาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนในประเทศอื่นๆ แต่การที่มีตัวแปรจากภายนอกเป็นประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เป็นเหตุให้สถานการณ์ทรงๆ ทรุดๆ ตลอดมา

     กรณีของชาวโรฮีนจาในเมียนมาที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก และเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ คงไม่ต่างกัน เพราะไม่ว่าแต่ละคนจะมองจากมุมไหน บทสรุปที่ว่าการอยู่ร่วมกันของคนที่มีความต่างลงเอยด้วยความขัดแย้งและเหตุรุนแรงแบบที่เราเห็นกันเป็นระยะๆ บั่นทอนความเชื่อที่ว่าเราจะก้าวข้ามความแตกต่าง เพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างสันติ

     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งอาจจะโยงใยไปได้ถึงผู้เกี่ยวข้องนอกเหนือพื้นที่ปัญหาโดยตรง ระหว่างที่เราได้ยินข่าวการปะทุของความขัดแย้งรอบใหม่ในรัฐยะไข่ ข่าวการตัดสินคดีค้ามนุษย์ในเมืองไทยเพิ่มระดับความน่าสนใจให้เรื่องปัญหาชาติพันธุ์ กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ และในมุมมองด้านความมั่นคง รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาแต่ละประเทศจะรับมือกับผู้อพยพ ที่จะหลั่งไหลเข้ามาอย่างไร ไม่นับว่าสังคมโลกมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาย้อนประวัติศาสตร์ ไปดูที่มาของการที่ชาวโรฮีนจามาตั้ง รกรากในรัฐต่างบ้านต่างเมือง (หากเราเชื่อในสมมติฐานว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นคนท้องถิ่นแต่เดิม) ไหนจะมีเสียงเรียกร้องให้มีการถอดถอนรางวัลสำคัญที่ผู้นำของเมียนมาได้รับเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ไปจนถึงบทบาทของสื่อตะวันตกที่มักจะถ่ายทอดเรื่องราวเพียงด้านเดียว ด้านที่ตนจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น

     ความต่างเรื่องชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซับซ้อนเกินกว่าคนนอกอย่างเราจะเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง

     ความขัดแย้งรอบใหม่อาจจะมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างที่เราเห็น การรับรู้จากสื่อเดิมๆ อาจจะไม่ช่วยให้เราเข้าใจภาพที่แท้จริง แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความสูญเสียและการพลัดถิ่นแบบที่เราเห็นกันมาตลอดในรอบหลายปี เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ความต่างทางเชื้อชาติอย่างเดียว สร้างความแตกแยกได้เหมือนภาพที่เราเห็นกระนั้นเลยหรือ

     มายา แองเจลู กวีร่วมสมัยเคยกล่าวไว้ว่า “ถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ต้องสอนลูกหลานตั้งแต่วัยเยาว์ให้รู้ว่า ในความหลากหลาย มีความงดงามและความเข้มแข็ง” หากเราฝากความหวังไว้กับผู้ใหญ่รุ่นปัจจุบันไม่ได้ เราคงต้องมองไปสู่คนรุ่นอนาคตแล้วกระมัง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X