×

คิดไปเองหรือเปล่า? รู้จัก ‘Imposter Syndrome’ อาการขาดความมั่นใจและคิดไปเองว่าตัวเองไม่เก่ง

23.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Min Read
  • ผลการสำรวจปี 2020 ในวารสารการแพทย์เผยว่า คนมากถึง 82% มีอาการ Imposter Syndrome นำไปสู่ความไม่มั่นใจ ที่กดทับตัวตนของคนคนหนึ่งให้จมดิ่งลงเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
  • นักวิจัยพบว่า Imposter Syndrome เกี่ยวกับกับปัจจัยตั้งแต่เรื่องเพศ สถานะทางสังคม ฐานะ ครอบครัว หรือกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับคนในทุกๆ แบ็กกราวด์ ทุกช่วงวัย และเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ 
  • ความอันตรายของอาการ Imposter Syndrome และสาเหตุที่ต้องรีบหายหรือเอาชนะมันให้เร็วที่สุดคือ การทำหน้าที่เป็นเส้นบางๆ เบลอๆ ที่คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างความมั่นใจ-ไม่มั่นใจ, เก่ง-ไม่เก่ง และทำดีแล้ว-ไม่ดีพอ

Imposter Syndrome คือคำนิยามอาการทางจิตของผู้ที่ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับทักษะความสามารถ ความเก่ง ความฉลาด และสิ่งที่ตัวเองทำแล้วประสบความสำเร็จว่ามันเป็นสิ่งแท้จริงหรือไม่ 

 

พร้อมกับหวาดกลัวว่าวันหนึ่งจะมีคนมาเปิดโปงว่าทุกสิ่งที่ทำได้และทำลงไปนั้นไม่ใช่ของจริง พวกเขาเป็น ‘คนหลอกลวง’ หรือ ‘ตัวปลอม’ ที่ไม่ได้เก่งกาจอะไรอย่างที่คนอื่นๆ มอง หรือไม่สมควรได้มายืนอยู่ตรงนี้ ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องฟลุกและโชคดีเท่านั้น

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในบทความของนักจิตวิทยาชื่อ Suzanne Imes กับ Pauline Rose Clance ที่ตีพิมพ์ปี 1978 โดยมีชื่อดั้งเดิมว่า ‘Impostor Phenomenon’ (ปรากฏการณ์ตัวปลอม) และเป็นงานเขียนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความไม่มั่นใจในตัวเองในหมู่ผู้หญิง

 

จากผลการสำรวจปี 2020 ในวารสารการแพทย์เผยว่า คนมากถึง 82% มีอาการ Imposter Syndrome นำไปสู่ความไม่มั่นใจ ที่กดทับตัวตนของคนคนหนึ่งให้จมดิ่งลงเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยังนำไปสู่ความวิตกกังวล ความหดหู่ซึมเศร้า ความกล้าๆ กลัวๆ ในอาชีพหรือโอกาส ไม่กล้ารับคำชม และการเบิร์นเอาต์จากการทำงานและเหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิตอีกด้วย

 

ซึ่งถึงแม้จะถูกนิยามว่า ‘อาการทางจิต’ แต่ Imposter Syndrome ไม่ใช่ ‘อาการป่วยทางจิต’ หรือเป็น ‘โรคทางจิตเวช’ แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของแต่ละบุคคลที่มีมุมมองอย่างไรกับตัวเองเพียงเท่านั้น และจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากคนที่กำลังเป็น หรือสงสัยว่าตัวเองมีอาการ Imposter Syndrome อยู่ จะทำความเข้าใจกับตัวเอง สาเหตุที่เต็มไปด้วยความคิดเหล่านั้น และข้ามพ้นความไม่มั่นใจตรงนี้ไปได้

 

อาการของคนเป็น Imposter Syndrome

 

ความรู้สึกไม่ควรค่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกที่ ทุกเวลา และสำหรับคนเป็น Imposter Syndrome นั้นจะเก็บความรู้สึกประเภท “พวกเขากำลังทำผิดพลาดที่จ้างฉัน ฉันไม่สมควรได้ทำงานนี้” หรือ “ฉันไม่ดีพอสำหรับคนคนนี้” ที่เผชิญจากทั้งที่ทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว และในชีวิตประจำวัน มาคิดจนถูกโดมแห่งความรู้สึกแย่กับตัวเองไม่มองไม่เห็นครอบอย่างไม่รู้ตัว

 

ต่อไปนี้คืออาการเบื้องต้น หรือเช็กลิสต์ว่าคุณกำลังเป็น Imposter Syndrome อยู่หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

 

  • ขาดความมั่นใจ
  • ความนับถือในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem)
  • ไม่สามารถประเมินความสามารถหรือสกิลของตนเองได้
  • โบ้ยว่าความสำเร็จที่ตัวเองได้รับเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ
  • ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นในทุกๆ เรื่อง
  • ด่า ว่า โบยตีตัวเองตลอดเวลา และพูดลบๆ เกี่ยวกับตัวเองเสมอ
  • ไม่เคยพึงพอใจกับเพอร์ฟอร์แมนซ์
  • กลัวว่าจะทำได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง
  • บ่อนทำลายความสำเร็จของตัวเอง
  • สงสัยตัวเอง (Self-Doubt)
  • ตั้งเป้าหมายที่สูง ท้าทาย และเฟลกับมันเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ
  • ชอบจมอยู่กับอดีต
  • กลัวอนาคตอย่างไม่มีเหตุผล

 

อันที่จริงแล้วการเป็น Imposter Syndrome มีความคล้ายคลึงกับคนที่เกิดการ Self-Doubt และคนที่มี Self-Esteem ต่ำอยู่ไม่น้อย สิ่งที่แตกต่างคือสองอย่างนี้เป็นเพียงสับเซ็ตของ Imposter Syndrome เพราะทั้งสองความรู้สึกเกี่ยวข้องกับความรู้สึกกังขาในตัวเองกับไม่คิดว่าตัวเองเก่ง แต่ Imposter Syndrome นั้นพูดถึงการซีเรียสหรือโฟกัสกับ ‘ตำแหน่งแห่งที่’ เป็นพิเศษ ในแง่มุมที่ตั้งคำถามว่าพวกเขาสมควรมาอยู่ตรงนี้หรือไม่มากกว่า

 

 

5 ประเภทหลักของคนเป็น Imposter Syndrome

 

หนังสือ ‘The Secret Thoughts of Successful Women: Why Capable People Suffer from the Imposter Syndrome and How to Thrive in Spite of It’ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2011 ของ Dr. Valerie Young ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน Imposter Syndrome ได้จัดอันดับคนมีอาการ Imposter Syndrome เป็น 5 ประเภทด้วยกัน

 

  1. เพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) คนประเภทที่บ่อยครั้งจะไม่เริ่มทำจนกว่าจะมั่นใจว่าพร้อม (จนสุดท้ายอาจกลายเป็นไม่ได้ทำ) และจะทำทุกสิ่งทุกอย่างจนกว่าจะรู้สึกพึงพอใจหรือมองว่าผลลัพธ์นั้นเพอร์เฟกต์แล้ว และหากมีเวลาหรือโอกาสไม่มากพอที่จะสร้างผลลัพธ์ถึงขั้นนั้น ก็อาจทำให้รู้สึกแย่ เสียดาย และเกิดความคิดว่า “ทำไมเราไม่ทำให้ดีกว่านี้” หรือ “มันน่าจะออกมาดีกว่านี้สิ” วนเวียนอยู่ในหัวจนยากจะสลัดออก การเป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ส่งผลโดยตรงให้คนคนนั้นไม่รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีหรือสมควรถูกยกย่องเหมือนที่คนๆ อื่นคิด

 

  1. ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) คนประเภทนี้จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวปลอม เพราะไม่ว่าจะศึกษาหาความรู้เท่าไรก็ยังเกิดความคิดที่ว่าพวกเขาไม่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ หรือฟีลด์นั้นๆ ที่ตัวเองกำลังศึกษา เชี่ยวชาญ และสนใจ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เชี่ยวชาญทุกอย่างแม้จะถูกขนานนามว่าผู้เชี่ยวชาญก็ตาม ซึ่งถึงแม้จะยิ่งเรียนรู้เท่าไร ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ มากขึ้นเท่านั้น

 

  1. คนอัจฉริยะโดยกำเนิด (Natural Born Genius) คือประเภทของคนเป็น Imposter Syndrome ที่มีแนวโน้มจะรู้สึกว่าตัวเองคืออ้ายคนหลอกลวง เพราะไม่เชื่อว่าตัวเองฉลาดหรือมีความสามารถมาแต่กำเนิด ซึ่งนอกจากนี้แล้วป้ายของการเป็น ‘อัจฉริยะ’ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกดดันเช่นเดียวกัน เพราะหากวันหนึ่งพวกเขาทำมันได้ไม่ดี จะรู้สึกเฟลหนัก หรือหากไม่สามารถทำสิ่งใดได้ดีตั้งแต่ในครั้งแรก ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองคืออัจฉริยะตัวปลอมชัดๆ

 

  1. สายโซโล่ (Soloist) พวกชอบลุยเดี่ยวสไตล์หมาป่าเดียวดาย ไม่ชอบพึ่งพาใคร ขอร้อง ขอความช่วยเหลือใคร สำหรับคนประเภทนี้จะรู้สึกแย่กับตัวเองทันทีหากจะต้องเอ่ยปากขอให้ใครมาช่วย หรือได้รับความช่วยเหลือที่นำไปสู่สถานะบางอย่าง ระดับบางระดับ หรือผลลัพธ์ใดผลลัพธ์หนึ่ง การไม่ได้ไปถึงจุดนั้นหรือทำสิ่งนั้นแล้วประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง ทำให้คนประเภทนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเก่งและความสามารถของตัวเอง แล้วเกิดความรู้สึกเจ็บใจและเสียใจตามมา

 

  1. ยอดมนุษย์ (Superperson) คนเป็น Imposter Syndrome ประเภทที่เชื่อว่าตัวเองจะต้องเป็นมนุษย์ที่ทำงานหนัก ทำทุกสิ่งทุกอย่างอย่างโหมกระหน่ำ ไม่ก็ต้องขึ้นไปยังจุดสูงสุดหรือประสบความสำเร็จที่สุดของวงการนั้นๆ (ซึ่งพวกเขาอาจเก่งจริงหรือสามารถทำแบบนั้นได้จริงหรือไม่ก็ได้) และถ้าหากไปไม่ถึงจุดนั้นหรือทำงานไม่หนักพอ ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวปลอมจะปรากฏขึ้นอัตโนมัติ

 

สาเหตุของอาการ Imposter Syndrome

 

ในงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยพบว่า Imposter Syndrome เกี่ยวกับกับปัจจัยตั้งแต่เรื่องเพศ สถานะทางสังคม ฐานะ ครอบครัว หรือกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับคนในทุกๆ แบ็กกราวด์ ทุกช่วงวัย และเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ โดยมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้

 

  • การเลี้ยงดู การเลี้ยงดู การเป็นตัวอย่าง และคำสั่งสอนของพ่อแม่ ล้วนแล้วแต่มีผลในการหล่อหลอมลูกๆ ให้โตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูที่ควบคุมและปกป้องหวงแหนลูกมากเกินไป งานวิจัยเผยว่าเด็กที่โตมากับพ่อแม่ที่คาดหวังในตัวลูกแบบใดแบบหนึ่ง มีแนวโน้มสูงที่จะโตมาเป็น Imposter Syndrome เพราะพวกเขาต้องการที่จะได้รับคำชมจากการทำได้ตามความคาดหวัง และการถูกด่าหรือถูกวิจารณ์ หรือการถูกด่าสลับชม ทำให้พวกเขาโตมาเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง และต่อว่าตัวเองอยู่เสมอ

 

  • โอกาสใหม่และการตื่นตระหนกในการเข้าสังคม การได้รับโอกาสหรือเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ช่วงเวลา Transition สามารถทำให้เกิดอาการ Imposter Syndrome ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ที่ทำงาน กลุ่มคนใหม่ๆ กลุ่มคนที่รวมตัวกันโดยความชอบใดความชอบหนึ่ง เพราะคนคนนั้นอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่เข้ากับสังคมนี้ ขาดประสบการณ์ หรือไม่ได้มีความสามารถหรือคู่ควรพอที่จะอยู่ตรงนี้ กับคนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง 

 

  • ความคาดหวังจากสังคมและวัฒนธรรม อันที่จริงแล้วข้อนี้ครอบคลุมไปถึงสังคมในระดับครอบครัวและสังคมใหม่ที่เพิ่งกล่าวไป เพียงแต่เป็นการพูดถึงแบบสโคปให้ย่อยลงไปอีกว่า สังคมที่ต่างวัฒนธรรมกันจะมีการให้คุณค่า (Value) ต่อการศึกษา อาชีพ และคำนิยามคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ที่แตกต่างกัน สำหรับข้อก่อนหน้าที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน แต่สำหรับข้อนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบรรทัดฐานสังคมหรือจากภายนอก นั่นหมายความว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทำได้ดีหรือเปล่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสังคมนั้นๆ ว่าเซ็ตบรรทัดฐานไว้อย่างไร สูงแค่ไหน และการที่คนคนหนึ่งทำมันได้ไม่เข้าเป้า หมายความว่าเขาทำได้ไม่ดีพอ จนไม่แน่ใจอีกต่อไปว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นดีแล้วหรือไม่ หรือเป็นเพราะมาตรฐานของสังคมนั้นๆ

 

  • การเปรียบเทียบ การนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แม้จะมีข้อดีคือรู้ว่าเรายืนอยู่ตรงไหน แต่ความสูง-ต่ำที่ได้จากการเปรียบเทียบส่งผลให้ระดับเกิดขึ้น และเมื่อคนคนนั้นได้พบว่าตัวเองอยู่ลำดับต่ำกว่าคนอื่นอยู่เท่าไรเมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ ความสำเร็จ กับอายุแล้ว ส่งผลเกิดเป็นแรงกดดันหรือความรู้สึกแย่กับตัวเองตามมา หรือแม้จะอยู่อันดับที่สูงแล้วก็ตาม แต่การเทียบผลงานกับคำที่ทั้งสูงกว่า เท่ากับ และต่ำกว่า ก็ทำให้พบว่าตัวเองไม่สมควรอยู่ในอันดับนี้ได้เช่นกัน และยังกลัวการถูกไล่ตามหรือการถูกเปิดโปงว่ามาอยู่ตรงนี้เพราะฟลุกอีกด้วย

 

 

เอาชนะ Imposter Syndrome

 

เมื่อรู้จักตัวเองและทำเช็กลิสต์ กับนั่งคิดพิจารณาแล้วพบว่าตัวเองเป็น Imposter Syndrome จริงๆ และมันกำลังบั่นทอนความรู้สึกขณะใช้ชีวิตทั้งในภาพย่อยและภาพรวมจนทำให้ไม่มีความสุข ขั้นตอนสุดท้ายคือการเอาชนะมันหรือสลัดให้หายขาด ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณเอาชนะ Imposter Syndrome ได้ และกลายเป็นคนใหม่ที่มีความมั่นใจมากขึ้น

 

  • สำรวจตัวเองว่าตัวเองเก่งอะไร และทำในสิ่งที่ทำได้ดี
  • ฝึกตั้งเป้าหมายที่สมจริง (Realistic)
  • นิยามว่า ‘ความสำเร็จ’ มีความหมายอย่างไรต่อตัวคุณเอง โดยคำนิยามนี้ไม่ข้องเกี่ยวกับความยอมรับนับถือของคนอื่น 
  • ตระหนักว่าคำว่า ‘สำเร็จ’ มีความเป็น Subjective หรือขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลและสังคม เพื่อไม่ให้คำนี้มาลดทอนคุณค่าของสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่
  • อนุญาตให้ตัวเองเป็นเจ้าของความสำเร็จบ้าง
  • หลีกเลี่ยงการอิงความรู้สึกตัวเองกับมุมมองของผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
  • ออกห่างจากการแข่งขันที่ท็อกซิก 
  • ออกห่างจากคนหรือสังคมใดก็ตามที่ส่งผลต่อการเติบโต (ทั้งด้านจิตวิญญาณ สิ่งที่กำลังทำอยู่ และอาชีพการงาน) และสุขภาพจิตของคุณ ตั้งลิมิต เวลา และขอบเขตของการทำงาน เพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับการทำงานมากเกินไป
  • ฝึกตัวเองให้รับมือกับความล้มเหลวในแบบที่ดีต่อสุขภาพจิต
  • ชมตัวเองบ้าง สำหรับความสำเร็จและความพยายาม
  • ตระหนักเสมอว่าไม่มีใครเพอร์เฟกต์ และไม่สามารถทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งนั้นมีเดดไลน์ที่แน่นอน
  • มองหาหรือตระหนักรู้ว่าอะไรคือระบบซัพพอร์ตจิตใจหรือที่พึ่งทางใจของตนเอง (อาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือกิจกรรมอะไรก็ได้) และโน้มหามันเมื่อรู้สึกต้องการการพักพิง
  • ตรวจสอนตนเองอยู่เสมอ 
  • วิธีสุดท้ายคือพบจิตแพทย์ 

 

ความอันตรายของอาการ Imposter Syndrome และสาเหตุที่ต้องรีบหายหรือเอาชนะมันให้เร็วที่สุดคือ การทำหน้าที่เป็นเส้นบางๆ เบลอๆ ที่คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างความมั่นใจ-ไม่มั่นใจ, เก่ง-ไม่เก่ง, ทำดีแล้ว-ไม่ดีพอ เพราะอาการนี้ทำให้คนที่สับสนว่าแท้จริงแล้วเราไม่เก่ง เราเก่งแล้วแต่ทำได้ไม่ดีพอและกำลังโจมตีตัวเอง หรือจริงๆ แล้วเราไม่เก่งจริงๆ แต่เราเข้าใจไปว่าตัวเองเป็น Imposter Syndrome

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ ‘ทำความรู้จักตัวเอง’ เพราะหาก Imposter Syndrome เป็นโดมครอบขนาดใหญ่ที่โปร่งใส การรู้จักตัวเองคือการถอยออกมาไกลสุดจนมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างอย่างชัดเจน จนสามารถรู้ได้ว่าอะไรคือจุดอ่อน-จุดแข็งของเรา รู้วิธีรับมือกับตัวเอง ซ่อมตรงไหน ปรับตรงไหน รู้วิธีรับมือเวลาที่สงสัยหรือรู้สึกแย่ที่ทำได้ไม่สำเร็จ/ทำได้ไม่ดีพอ และมีนิยามความสำเร็จในแบบของตัวเอง จนสามารถทุบโดมนั้นให้แตกสลายหายไปได้ในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X