×

Impossible Foods ปล่อย ‘เนื้อหมู’ จากพืชท้าชนตลาดมะกันและเอเชีย

07.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • Impossible Foods เตรียมเปิดตัว ‘เนื้อหมู’ และไส้กรอกที่ทำจากพืช ตอกย้ำความสำเร็จหลังจากเนื้อจากพืชได้รับการตอบรับดีเกินคาด

งาน Consumer Electronics Show หรือ CES ปีนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะในสัปดาห์หน้านี้บริษัท Impossible Foods Inc. เตรียมเผย ‘เนื้อหมูเทียม’ อีกด้วย

 

โดย ‘เนื้อหมู’ ดังกล่าวผลิตจากถั่วเหลืองที่มีความฉ่ำเสริมด้วยเลือดเทียม และทาง Impossible Foods ยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ถึง 2 ชนิด ได้แก่ ไส้กรอก และหมู หวังฟัดคู่แข่งอย่าง Beyond Meat ที่แข่งผลิตเนื้อจากพืชสูสีกันในช่วงปีที่ผ่านมา

 

Impossible Foods เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตเนื้อจำลองสู่ตลาด ซึ่งตั้งอยู่ที่ซิลิคอนแวลลีย์ในแคลิฟอร์เนีย โดยงานนี้นอกจากจะเปิดตัวเนื้อจำลองแล้วยังใจกว้างแจกสินค้าทดลองให้ได้ชิมกว่า 20,000 ชิ้น และอีกไม่นานเกินรอยังพร้อมเปิดตัวไส้กรอกหมูภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยเตรียมให้ชิมกันที่ร้าน Burger King บางสาขาที่เข้าร่วม (แต่ Burger King ไทยจะนำเข้าไหม ต้องรอดู) 

 

 

ทั้งนี้เนื้อหมูจำลองนี้มีองค์ประกอบคล้ายกันคือประกอบไปด้วยถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบหลักและ ‘ฮีม’ (Heme) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้รสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ โดยฮีมนั้นมีโมเลกุลธาตุเหล็กและแปรรูปจากการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) จากยีสต์ 

 

ลอร่า คลีแมน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านรสชาติของ Impossible Foods ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “ฮีมคือส่วนผสมวิเศษที่ให้รสชาติเหมือนกับเนื้อสัตว์ และยังบอกอีกว่าเนื้อหมูและเนื้อวัวนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ด้วยเหตุที่ว่าเนื้อหมูนั้นมีฮีมน้อยกว่า และฮีมคือตัวการที่ทำให้เนื้อนั้นแตกต่างกัน”

 

การผลิตเนื้อจากพืชนั้นมีหลากหลายเนื้อสัมผัส ซึ่งทางบริษัทพัฒนาเพื่อตอบสนองผู้บริโภค ลอร่ายังบอกอีกว่าเนื้อหมูมีความนุ่มและเด้งมากกว่าเนื้อวัว นอกจากนี้การทำเนื้อหมู ไส้กรอก และเนื้อวัวนั้นมาจากส่วนผสมเดียวกัน แต่สูตรไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยขึ้นอยู่กับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความเข้าใจฟังก์ชันของส่วนผสมอย่างเป็นระบบซึ่งต่างกันออกไปในแต่ละชนิด

 

 

เนื้อหมูเทียมที่ว่ายังถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าเชฟจากฮ่องกงและสิงคโปร์ นอกจากนี้จีนก็ยังเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อหมูมากที่สุดในโลก นั่นยังเป็นอีกแรงกระตุ้นในการพัฒนาเพื่อตีตลาดจีนในอนาคต ซึ่ง เดวิด ลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Impossible Foods ยังเผยอีกว่า “พันธกิจของบริษัทคือการเข้าสู่ตลาดทั่วโลก และด้วยจำนวนผู้บริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกนั้น เอเชียบริโภคมากถึง 40% ยิ่งทำให้องค์กรเร่งให้ความสำคัญกับตลาดโซนนี้เป็นอย่างมาก โดยเน้นไปที่ประเทศจีน”

 

ขณะที่เนื้อจากพืชนั้นเริ่มดึงดูดเหล่าผู้บริโภค บริษัทผลิตเนื้อทางเลือกต่างๆ ก็ผุดขึ้นมาไม่น้อย เช่น มวยคู่อย่าง Beyond Meat ที่มีทั้งเนื้อวัวและไส้กรอกอยู่ในตลาดเป็นที่เรียบร้อย หรือจะเป็น Nestle SA, Conagra Brands Inc. และเจ้าพ่อผลิตเนื้อหมูฝั่งอเมริกาอย่าง Smithfield Food Inc. ก็จำหน่ายเนื้อเทียมในตลาดเป็นที่เรียบร้อย

 

เมนูใหม่จากหมูเทียมของ Burger King นั้นเป็นแซนด์วิชที่ใช้ครัวซองต์บวกกับเนื้อหมูจากพืช ชีส และไข่ เป็นเมนูต่อยอดหลังจากเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากเมนูเบอร์เกอร์ Impossible Whopper โดยจะทดลองขายใน 10 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา

 

 

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ทางแบรนด์ยังเตรียมขายเนื้อหมูเทียมบดซึ่งเปิดตัวไปแล้วเมื่อปี 2016 โดยมีร้าน Momofuku Nishi ในนิวยอร์กของเชฟดังอย่าง เดวิด ชาง เป็นผู้นำ และปัจจุบันเนื้อเบอร์เกอร์จากพืชของ Impossible Foods ก็ถูกนำไปปรุงอาหารในร้านอาหารมากกว่า 17,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกาและเอเชียแล้ว

 

นอกจากจะตั้งใจหาทางเลือกที่อร่อยและเอาใจผู้บริโภคแล้วยังเอาใจสายรักษ์โลกกับพันธกิจในการลดอุณหภูมิโลก เพราะกระบวนการผลิตเนื้อเทียมนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า โดยการทำปศุสัตว์นั้นปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนประมาณ 14.5% ซึ่งฟาร์มโคและผลผลิตจากโคนั้นเป็นตัวการหลักของการปล่อยก๊าซ โดยคิดเป็น 63% ตามมาด้วยฟาร์มสุกร (ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ) นอกจากนี้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) ยังเผยตัวเลขจำนวนมหาศาลของปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงถึง 120 ล้านตันในปี 2018 โดยคิดเป็นเนื้อวัวประมาณ 70 ล้านตัน 

 

เนื้อแห่งอนาคตเหล่านี้อาจจะเป็นทางออกของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้มนุษย์เรายังคงอยู่บนโลกนี้ได้ยาวนาน พร้อมกับดื่มด่ำรสชาติจากเนื้อที่คุ้นเคยแต่ดีต่อโลกยิ่งขึ้น

 

อ่านเรื่อง อาหารจากพืช (Plant-Based) ดีกว่าเนื้อจริงไหม? ความจริงของเบอร์เกอร์สายผักที่หลายคนคาดไม่ถึงได้ที่นี่

 

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising