×

จับตาการประชุม ‘IMF-World Bank’ หาแนวทางรับมือความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์

10.10.2022
  • LOADING...
IMF-World Bank

ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตามองสำหรับการประชุมประจำปีระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กับ World Bank ซึ่งจะมีตัวแทนจากชาติสมาชิกมาเข้าร่วมในกรุงวอชิงตันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยประเด็นหารือหลักคือการหาแนวทางรับมือกับนโยบายทางการเงินของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ารวมถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ตามคำเตือนของ Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกโรงเตือนถึงภาพรวมความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่ารวม 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมีขนาดเทียบเท่าประเทศเยอรมนี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


การประชุมยังจะหารือแนวทางรับมือจากการเผชิญความท้าทายกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เงินเฟ้อรุนแรง นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และสงครามภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

สำหรับการประชุมประจำปีระหว่าง IMF กับ World Bank จะถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่สมาชิกได้พบหน้ากัน นับตั้งแต่ปี 2020 สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิดเริ่มคลี่คลายแล้ว 

 

นอกจากนี้ สมาชิกที่ประชุมยังต้องหารือท่ามกลางปัจจัยความท้าทายทางเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และวิกฤตความมั่นคงในแง่ต่างๆ ที่บรรดาตัวแทนจากหลายประเทศทั่วโลกยอมรับว่าเป็น Perfect Storm ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนนับตั้งแต่ปี 1945 ขณะที่องค์ประกอบบางอย่างก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น ความหายนะของตลาดเกิดใหม่ที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 

 

Masood Ahmed ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาระดับโลกในวอชิงตันกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “คำถามใหญ่สำหรับการประชุมครั้งนี้คือ เราจะทำอย่างไรในแง่ของการตอบสนองของสถาบันต่อเรื่องนี้ นอกเหนือจากการทำธุรกิจตามปกติ”

 

สำหรับสิ่งที่ต้องจับตามองในการประชุม IMF กับ Wolrd Bank ประการแรกก็คือแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ซึ่งทางผู้อำนวยการ IMF ได้เอ่ยถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า GDP ของเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2023 อาจจะต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% 

 

ประเด็นหารือต่อมาคือสงครามขัดแย้งในยูเครน ซึ่งจะมีผลกระทบตั้งแต่ปริมาณการส่งออกเมล็ดธัญพืช ไปจนถึงการตัดการส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรป ขณะเดียวกัน ประเด็นด้านราคาอาหารก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องมีการหาแนวทางรับมือร่วมกัน โดยสัปดาห์ที่แล้วทาง IMF เพิ่งจะอนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประเทศที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น 

 

การหารือยังครอบคลุมถึงประเด็นอังกฤษ ที่ยังคงเปราะบางหลังจากความวุ่นวายภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่แผนปรับลดภาษีจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่สร้างความกังวลให้กับบรรดานักลงทุนรวมถึง IMF ว่าจะกระทบต่อภาระหนี้และความมั่นคงทางการเงินของอังกฤษในระยะยาว 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ที่ประชุมยังต้องหารือแนวทางการเผชิญหน้ากับนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยกระดับความเข้มงวดทางการเงินให้เพิ่มมากขึ้น โดย IMF ประเมินว่า 60% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ และหนึ่งในสี่ของตลาดเกิดใหม่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการของ Fed

 

ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่ต้องมีการหารือกันอย่างจริงจังก็คือ การร่วมหาแนวทางรับมือกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภัยพิบัติจากน้ำท่วมในปากีสถาน ไปจนถึงเฮอริเคนที่พัดถล่มเปอร์โตรีโกและฟลอริดา

 

สำหรับในส่วนประเด็นอื่นๆ ที่จะมีการหารือกันนี้ ยังมีเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเกาหลีใต้ และรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์อีกด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising