×

IMD ขยับความสามารถในการแข่งขันไทยปีนี้ขึ้น 3 อันดับ อยู่ที่ 30 จาก 64 ประเทศ

28.06.2023
  • LOADING...
อันดับความสามารถในการแข่งขัน 2023

IMD World Competitiveness Center ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลกประจำปี 2566 โดยในปีนี้ IMD ได้นำปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันที่เรียกว่า ‘Polycrisis’ ประกอบด้วย 1. ความเสี่ยง
ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 2. อัตราเงินเฟ้อ 3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 4. ความมั่นคงทางพลังงาน มาร่วมพิจารณาด้วย

 

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งสิ้น 64 เขตเศรษฐกิจ พบว่า เขตเศรษฐกิจที่ถูกจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันใน 3 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดย IMD ให้ข้อมูลว่า
เขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้นของโลกส่วนใหญ่เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดและคู่ค้า มีความสามารถในการปรับตัวและสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ทันท่วงที

 

ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจสำคัญในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย เลื่อนลง 7, 1, 1 และ 3 อันดับจากปีก่อนหน้า มาอยู่อันดับที่ 21, 28, 35 และ 40 ตามลำดับ

 

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ เลื่อนขึ้น 3 อันดับจากปีก่อนหน้า และเมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถในการแข่งขันภายในภูมิภาคอาเซียน (จำนวน 5 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 3 โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียนดังกล่าวของไทยไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2565

 

ทั้งนี้ การวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD จะพิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ด้าน ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในปีนี้อันดับของไทยดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่เลื่อนขึ้นถึง 18 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 16 ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐเลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 24 ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 23 และโครงสร้างพื้นฐานเลื่อนขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 43

 

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยย่อยของแต่ละด้าน มีรายละเอียดดังนี้ 

 

  1. ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ดีขึ้นในทุกปัจจัยย่อย โดยการลงทุนระหว่างประเทศเลื่อนขึ้น 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 และการค้าระหว่างประเทศเลื่อนขึ้น 8 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 29 เศรษฐกิจภายในประเทศเลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 44 ระดับราคาและค่าครองชีพเลื่อนขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 27 และการจ้างงานเลื่อนขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 3

 

  1. ประสิทธิภาพของภาครัฐ ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านกรอบการบริหารภาครัฐและกฎหมายธุรกิจ โดยทั้งสองปัจจัยย่อยเลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 34 และ 31 ตามลำดับ

 

  1. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ เลื่อนขึ้น 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 38

 

  1. โครงสร้างพื้นฐาน ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างเทคโนโลยี เลื่อนขึ้น 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 25

 

IMD ระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ไทยจะเผชิญกับความท้าทาย เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพและการเติบโตที่ไม่สมดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไป ความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ

 

อันดับความสามารถในการแข่งขัน 2023

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

FYI
  • International Institute for Management Development (IMD) เป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ มีหน่วยงานในสังกัดคือสถาบัน IMD World Competitiveness Center ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับสากลที่ทำการเผยแพร่รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในรายงาน The World Competitiveness Yearbook (WCY) เป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 1989
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising