×

หัวเว่ยประกาศคว้าสัญญา 5G กว่า 50 ฉบับ แซงคู่แข่ง โนเกีย-อีริคสัน เร่งใช้ 5G เชิงพาณิชย์ในจีนปลายปีนี้

05.09.2019
  • LOADING...
Huawei

การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี 5G ยังคงเข้มข้น หัวเว่ยในฐานะผู้นำการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ประกาศคว้าสัญญา 5G กว่า 50 ฉบับ และส่งมอบสถานีฐาน 5G (Massive MIMO AUU) ไปแล้วกว่า 200,000 หน่วย 

 

วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว THE STANDARD เข้าร่วมงานหัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก อินโนเวชั่น เดย์ ครั้งที่ 5 ณ เมืองเฉิงตู ประเทศจีน โดย วิลเลียม สวี กรรมการบริษัทหัวเว่ย และประธานบริหารของสถาบันแห่งการวิจัยยุทธศาสตร์ ได้กล่าวในงานว่า เหตุผลที่ทำให้หัวเว่ยเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ของโลก มี 3 ข้อ หนึ่ง เริ่มค้นคว้าวิจัยก่อนตั้งแต่ปี 2009 สอง ทุ่มงบลงทุนรวมกันถึง 4 พันล้านดอลลาร์ และสาม ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาตามศูนย์วิจัยทั่วโลก (Leveraging Global Resources)

 

Huawei

Huawei

Huawei

 

การประกาศคว้าสัญญา 5G กว่า 50 ฉบับทั่วโลก ประกอบด้วย ยุโรป 28 ฉบับ ตะวันออกกลาง 11 ฉบับ เอเชีย-แปซิฟิก 6 ฉบับ อเมริกา 4 ฉบับ และแอฟริกา 1 ฉบับ ทำให้หัวเว่ยนำคู่แข่งเจ้าสำคัญอย่างโนเกียและอีริคสัน ซึ่งสำนักข่าว CNBC รายงานว่า ตัวเลขสัญญาล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมของโนเกียคือ 45 ฉบับ ขณะที่อีริคสันอยู่ที่ 24 ฉบับ

 

ตัวเลขสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนจะถูกบล็อกการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงใส่รายชื่อหัวเว่ยลงไปในบัญชีดำ และพยายามโน้มน้าวรัฐบาลประเทศอื่นๆ กีดกันอุปกรณ์จากหัวเว่ย ล่าสุดคือ การทำข้อตกลงเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบอุปกรณ์ 5G ระหว่างสหรัฐฯ กับโปแลนด์

 

Huawei

Huawei

Huawei

 

ในขณะที่ยุโรปเป็นสนามรบสำคัญของผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ซึ่งหลายประเทศยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้ของเจ้าใด เอเชีย-แปซิฟิกก็ได้กลายเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกในด้านการเปิดให้บริการ 5G 

 

เกาหลีใต้กลายเป็นมาตรฐานของโลกสำหรับการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ หลังจากเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ 5G เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน จำนวนผู้สมัครใช้บริการเทคโนโลยี 5G ได้เพิ่มสูงเกิน 2 ล้านรายแล้ว 

 

จีนเองก็มีการสร้างเครือข่าย 5G ขนาดใหญ่สำหรับการทดลองให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยมีหมุดหมายการเริ่มต้นครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2019 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ออกใบอนุญาตการค้า 5G แก่ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมภายในประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ China Telecom, China Mobile, China Unicom และ China Broadcasting Network Corporation

 

ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ดังกล่าวได้ติดตั้งเครือข่าย 5G ในเมืองหลักๆ รวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และเฉิงตู ซึ่งมีอัตราความเร็วของการดาวน์โหลดสูงถึง 1 Gbps หรือเทียบได้กับการดาวน์โหลดภาพยนตร์ HD ความละเอียดสูงระดับ 1080P เรื่องหนึ่งได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

 

Huawei

Huawei

Huawei

 

แหล่งข่าวจากหัวเว่ยกล่าวกับ THE STANDARD ว่า จากที่เคยวางแผนว่าจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ปี 2020 รัฐบาลจีนกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันภายในปลายปีนี้

 

ด้านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ต่างจับมือกับหัวเว่ย ประกาศความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่าย 5G เช่นกัน ไล่ตั้งแต่กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย 

 

ในประเทศไทย หัวเว่ยได้สร้างสนามทดสอบเครือข่าย 5G (5G Testbed) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องการลงทุนและการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทยแล้ว

 

ปัจจุบันเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นจริง ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม 35 ราย ใน 20 ประเทศทั่วโลก ได้เปิดให้บริการ 5G แล้ว และอีก 33 ประเทศ ได้มีการจัดสรรคลื่น 5G แล้วเช่นกัน 

 

รายงาน Global Industry Vision (GIV) จากหัวเว่ย คาดการณ์ว่า ร้อยละ 58 ของประชากรทั่วโลกจะสามารถเข้าถึง 5G ได้ในปี 2025

 

ภาพ: Courtesy of Huawei 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising