×

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเตรียมยื่นคำร้องให้ศาลเรียกตัวแทนตำรวจมาไต่สวน หลัง คฝ. สลายชุมนุมประชาชน-สื่อเจ็บหลายราย

โดย THE STANDARD TEAM
20.11.2022
  • LOADING...
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (20 พฤศจิกายน) ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ในวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เวลา 10.00 น. จะยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ศาลเรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไต่สวนกรณีตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนประชาชนจำนวนมากรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บร้ายแรงจำนวนหลายราย

 

โดยจะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ระหว่าง นายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ กับพวก รวม 2 คน เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่า “ให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คฝ. ยังคงใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล

 

ทั้งนี้ นับแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา คฝ. ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางนับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางเท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และ Mob Data Thailand จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25 ราย โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1 ราย นอกจากนี้ยังมีเยาวชนที่บาดจากกระสุนยางโดยมีอย่างน้อย 5 รายที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจากการใช้กระสุนยางจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. จำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาแต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย

 

แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้ถูกสอบสวน ถูกตรวจสอบหรือดำเนินการทางวินัยใดๆ แม้คดีนี้จะมีการฟ้องศาลเพื่อขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ คฝ. รวมทั้งตรวจสอบการควบคุมดูแลสั่งการของผู้บังคับบัญชา ตลอดจนนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ปัญหาการใช้ความรุนแรงของ คฝ. ต่อประชาชนและสื่อมวลชนก็ไม่ได้ถูกปรับปรุงแก้ไข ยังคงมีพฤติกรรมกระทำความผิดซ้ำซาก และก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้ชุมนุม สื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. อย่างจริงจังทั้งจากผู้บังคับบัญชาและจากนโยบาย

 

ภายหลังการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ คฝ. ก็ปรากฏว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาแถลงหรือให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่ามีความจำเป็นต้องใช้กำลัง และสื่อมวลชนต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้กระทั่งกล่าวโทษสื่อมวลชนว่าไม่อยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ เป็นต้น โดยไม่เคยแสดงการขอโทษหรือแถลงมาตรการในการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนและสื่อมวลชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับ คฝ. ที่ใช้กำลังทำร้ายประชาชน หรือข้อมูลคำสั่งให้ คฝ. ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยถูกแถลงให้ปรากฏต่อสาธารณชนจากผู้มีอำนาจบังคับบัญชาแต่อย่างใด

 

การยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวนในครั้งนี้ ภาคีฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยในการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้อำนาจตามอำเภอใจของทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. และผู้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมสนับสนุนให้ท้ายการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง จนก่อให้เกิดพฤติกรรมกร่างและใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising