ไม่ต้องแปลกใจถ้าแผนการลดหุ่นที่คุณวางไว้เป็น New Year’s Resolution จะไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่แม้แต่จะย่างเข้าสู่เดือนที่ 4 ด้วยซ้ำ เพราะมีผลการวิจัยจาก U.S. News & World Report ค้นพบว่า 80% มักเลิกล้มไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ต่างชาติเรียกเหตุการณ์นี้ว่า January Rush) ส่วนการวิจัยของอีกแห่งก็พบว่ามีเพียง 40% เท่านั้นผ่านพ้นไปได้ 6 เดือน เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำแล้วไม่รู้สึกว่าเห็นผล เหนื่อยเปล่า ท้อแท้ หรือพลาดเพียงครั้งเดียวก็ไม่คิดทำอีกเลย ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงมันต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปเลย ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจลดหุ่นให้สำเร็จภายในปีนี้ แต่จวนเจียนจะหมดความตั้งใจเต็มที แนะนำให้ลองทำตามคำแนะนำจากเราเพื่อช่วยให้แผนการลดน้ำหนักของคุณยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่เลิกล้มกลางคันไปเสียก่อน
สำรวจว่าเป้าที่ตั้งไว้ทำได้จริงหรือเปล่า
กลับมาเช็กสักนิดว่าเป้าหมายที่วางไว้เข้าข่าย Smart Goal หรือเปล่า เพราะการตั้งเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่บอกตัวเองว่า ‘ปีนี้จะลดน้ำหนัก’ หรือ ‘ปีนี้จะเริ่มออกกำลังกาย’ แต่การตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพควร ‘ไม่ใหญ่เกินไป ทำได้จริง มีวิธีการ และขอบเขตระยะเวลาที่ชัดเจน วัดผลได้’ ดังนั้นจากที่เคยตั้งไว้ลอยๆ ว่าจะลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัม หรือจะเริ่มออกกำลังกาย ให้เปลี่ยนเป็น
- ลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัมด้วยการคุมอาหารทุกวันและคาร์ดิโอเผาผลาญไขมันสัปดาห์ละ 3 วัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน
- หรือออกกำลังกายจำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 60 นาที นาน 3 เดือนติดต่อกัน
ช่วงหลังมีผลการวิจัยแนะนำว่าการแบ่งเป้าหมายของคุณเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น รายสัปดาห์หรือรายเดือน มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า นอกจากนี้ลองจดบันทึกพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายของคุณในแต่ละวันไว้ด้วยเพื่อเช็กความก้าวหน้า
ถ้าหยุดกินขนมมันยากนักก็แทนที่ด้วยอย่างอื่น
อย่าหวังว่าคุณจะลดหุ่นได้สำเร็จหากรอบข้างยังเต็มไปด้วยอาหารที่มีแคลอรีสูง เช่น ช็อกโกแลต โดนัท ไอศกรีม คุกกี้ ฯลฯ เพราะของเหล่านี้จะทำให้เราพลาดได้ง่าย แนะนำว่าให้กำจัดทิ้ง อย่าซื้อเข้าบ้าน อย่าเข้าซูเปอร์มาเก็ตหรือแวะร้านสะดวกซื้อถ้าไม่จำเป็น หรือถ้ารู้ตัวว่าส่วนตัวมีพฤติกรรมที่ไม่อำนวยต่อการลดน้ำหนัก เช่น เป็นคนกินจุบจิบ ติดกินขนมหวานหลังมื้ออาหาร หรือต้องกินน้ำอัดลมกับข้าวทุกมื้อ เรื่องนี้ อีเลียต เบิร์กแมน ผู้อำนวยการของ University of Oregon’s Social and Affective Neuroscience Lab แนะนำว่าการหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีต้องแทนที่ด้วยพฤติกรรมที่ดี เช่น เปลี่ยนมาจิบชาไม่ใส่น้ำตาล หรือกินผลไม้บางชนิดที่น้ำตาลไม่สูงนัก เช่น ฝรั่ง 1-2 ชิ้นแทนขนม (ในกรณีที่ติดการสูบบุหรี่ หลังมื้ออาหารให้เปลี่ยนมาเคี้ยวหมากฝรั่งแทน) รวมถึงการนำระบบการมอบรางวัลให้ตัวเองมาใช้เพื่อให้เกิดการทำซ้ำจนกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ เช่น ซื้อเสื้อผ้าใหม่สักตัวเมื่อน้ำหนักหายไปทุกๆ 2.5 กิโลกรัม
หาแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง
หากครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก คือสิ่งยั่วยุสำคัญที่ทำให้คุณแหกกฎได้ง่าย คำแนะนำคือชวนพวกเขาเหล่านั้นมาลดหุ่นไปพร้อมๆ กันเลย วิธีนี้พบว่าประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าการทำคนเดียว เพราะมีการศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่าแรงสนับสนุนจากสังคมมีส่วนช่วยให้เป้าหมายประสบความสำเร็จได้มากขึ้น แต่หากว่าดูท่าแล้วจะเป็นไปได้ยาก ช่วงนี้ก็เพลาๆ การเจอกันหน่อย เพราะมันยากจริงๆ กับการที่ต้องไปกินข้าวกับเพื่อนสั่งแหลก อาหารเต็มโต๊ะ ในขณะที่เรากำลังลดน้ำหนักอยู่ อีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถนำกลไกนี้มีมาปรับใช้ ได้แก่ การประกาศกร้าวออกโซเชียลมีเดียถึงความตั้งใจในการลดน้ำหนัก รวมถึงการฝึกพูดคำว่า ‘ไม่’ ในสถานการณ์ที่มีส่ิงยั่วยุรออยู่ตรงหน้า เช่น เพื่อนชวนดื่มเบียร์ หรือชวนกินมาม่ามื้อดึก
ใครๆ ก็หลุดกันได้ แต่อย่าเลิกทำ
สิ่งน่าสนใจคือมีงานวิจัยพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการพิชิต New Year’s Resolution จำนวนมากคือคนที่เคยหลุดมาก่อน แต่สามารถกอบกู้ตัวเองกลับมาให้เข้าที่เข้าทางได้อีกครั้ง สามารถดำเนินตามแผนการที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ ดังนั้นหากพลาดไปหรือหลุดกินอาหารอ้วนๆ ก็อย่าเอาแต่เฝ้าโทษตัวเองและล้มเลิกความตั้งใจ เพราะการพลาดไม่ได้หมายความว่าล้มเหลว แต่หมายถึงการพยายามมากขึ้นด้วยวิธีการที่แตกต่างกันต่างหาก
ขอให้มีความสุขกับการลดหุ่น
ภาพ: Shutterstock, THE STANDARD
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: