×

ทำไมเพลงป๊อปต้องมีท่อนฮุก?

13.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ดนตรีป๊อปส่วนใหญ่มักจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กับ A1 A2 A3 B – A1 A2 B – C ร้องวนไปมาเช่นนี้ก่อนจะจบเพลง คำถามคือ ทำไมเพลงป๊อปมักจะมีโครงสร้างที่คล้ายๆ กันเช่นนี้? คำตอบคือ เพราะโครงสร้างเพลงในลักษณะนี้ เป็นโครงสร้างที่ฟังแล้วติดหูได้ง่าย
  • ถ้าเราเปิดเสียงหนึ่งเสียงให้หนูทดลองตัวหนึ่งฟังเป็นครั้งแรก หนูจะหยุดนิ่ง ตั้งใจฟัง และอาจจะขยับหูเพื่อหาต้นเสียง ถ้าไม่มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้น สักพักมันก็จะเลิกสนใจแล้วทำธุระต่างๆ ของมันต่อไป ถ้าเราเปิดเสียง A เช่นนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ หนูก็จะสนใจเสียง A อีกสัก 2-3 ครั้ง จากนั้นมันก็จะเลิกสนใจเสียง A ไปเลย นั่นเป็นเพราะหนูเกิดภาวะ habituation ที่สมองจะเลิกสนใจสิ่งกระตุ้นที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
  • สมองชอบทางสายกลาง คือสมองชอบสิ่งที่คุ้นเคย แต่ต้องไม่คุ้นเคยหรือถี่จนเกินไป ถ้าซ้ำมากไป สมองก็จะเลิกสนใจสิ่งนั้น ในขณะเดียวกัน สมองก็ชอบสิ่งแปลกใหม่ แต่ความใหม่นี้ก็ต้องไม่ใหม่หรือแปลกจนเกินไป ถ้าสิ่งใหม่นี้ต่างไปจากเดิมมากๆ สมองจะรู้สึกไม่ไว้ใจและไม่ชอบ และถ้าเราสามารถหาส่วนผสมหรือจุดสมดุลระหว่างความใหม่และความเก่าที่ลงตัวได้ เราก็จะสามารถสร้างสิ่งที่ฮิต ติดหู ติดใจ หรือติดตลาดได้ง่ายขึ้น

     พูดถึงเพลงป๊อปที่ฮิตติดหูง่าย เชื่อว่าเกือบทุกท่านน่าจะนึกออกว่าเพลงประเภทนี้มีโครงสร้างของเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจสรุปอย่างง่ายๆ ได้ว่า เนื้อเพลงมักจะเริ่มต้นด้วยท่อนธรรมดา หรือท่อนเวิร์ส ที่มีทำนองคล้ายๆ กันสัก 2 ท่อน หรืออาจจะ 3 ท่อน เพื่อความง่ายจะขอเรียกแทนท่อนเวิร์สนี้ว่า ท่อน A1, A2 และ A3 นะครับ

     จากนั้นก็จะเข้าสู่ท่อนฮุก หรือท่อนคอรัส ซึ่งมักจะมีทำนองแตกต่างออกไปจากท่อน A อย่างชัดเจน (จะขอเรียกสั้นๆ ว่าท่อน B) จากนั้นก็อาจจะวนกลับไปท่อนที่มีทำนองคล้ายท่อนเวิร์สอีก 1-2 ครั้ง ก่อนจะเข้าท่อนคอรัสอีกสักรอบ ตามด้วยท่อนที่มีทำนองแปลกใหม่อีกสักท่อนที่เรียกว่าท่อนบริดจ์ ซึ่งจะขอเรียกว่าท่อน C เพราะมีทำนองที่ต่างไปจากท่อน A และ B ค่อนข้างชัด

     หรือสรุปได้ว่าดนตรีป๊อปส่วนใหญ่มักจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กับ A1 A2 A3 B – A1 A2 B – C ร้องวนไปมาเช่นนี้ก่อนจะจบเพลง

     คำถามคือ ทำไมเพลงป๊อปมักจะมีโครงสร้างที่คล้ายๆ กันเช่นนี้?

     คำตอบคือ เพราะโครงสร้างเพลงในลักษณะนี้ฟังแล้วติดหูได้ง่าย (ถ้าพูดให้ถูกคงต้องบอกว่าติดสมองได้ง่าย) คำถามต่อไปที่น่าถามต่อคือ ทำไมเพลงที่มีโครงสร้างเช่นนี้จึงติดหู (สมอง) ได้ง่าย?

     เรื่องราวที่จะนำไปสู่คำตอบของคำถามนี้มันมีอยู่สองตอนด้วยกันครับ

 

ตอนที่ 1 สมองชอบความแปลกใหม่

     ถ้าเราเปิดเสียงหนึ่งเสียงให้หนูทดลองตัวหนึ่งฟังเป็นครั้งแรก (ตั้งชื่อให้ว่าเป็นเสียง A) หนูจะหยุดนิ่ง ตั้งใจฟัง และอาจจะขยับหูเพื่อหาต้นเสียง ถ้าไม่มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้น สักพักมันก็จะเลิกสนใจแล้วทำธุระต่างๆ ของมันต่อไป ถ้าเราเล่นเสียง A นั้นซ้ำอีกครั้ง มันจะหยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้วตั้งใจฟังอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีอะไรน่าสนใจ หนูก็จะเลิกสนใจแล้วทำธุระของมันต่อไป ถ้าเราเปิดเสียง A เช่นนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ หนูก็จะสนใจเสียง A อีกสัก 2-3 ครั้ง จากนั้นมันก็จะเลิกสนใจเสียง A ไปเลย

     ในภาษาทั่วไป เราอาจจะบอกว่าหนูเบื่อเสียง A ไปแล้ว หรือหนูเรียนรู้ว่าเสียง A ไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่น่ากลัว จึงเลิกสนใจเสียง A ไป แต่ถ้าจะพูดให้ฟังดูวิทยาศาสตร์กว่านั้นก็อาจจะพูดว่า หนูเกิดภาวะ habituation ต่อเสียง A คือสมองของหนูปรับที่จะไม่สนใจเสียง A นั้น

     ภาวะ habituation (แปลตรงตัวได้ว่า เคยชิน แต่ภาวะนี้ไม่ใช่ความเคยชินแบบที่เราใช้ในภาษาพูด จึงขอใช้ทับศัพท์ไปเลย) เป็นกลไกปกติของสมองที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทต่างๆ คือสมองจะเลิกสนใจสิ่งกระตุ้นที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เคยไหมครับที่เราได้กลิ่นบางอย่างเมื่อเดินเข้าไปในห้อง แต่เมื่ออยู่ไปสักพักกลิ่นก็จางหายไป แต่เมื่อเราเดินออกมานอกห้องแล้วเดินกลับไปใหม่ก็จะพบว่ากลิ่นไม่ได้จางหายไป แต่สมองเรา habituate ต่อกลิ่นนั้นไป

     เคยไหมครับเมื่อเรานั่งไปบนเก้าอี้ครั้งแรก เรารู้สึกได้ถึงความนุ่ม (หรือความแข็ง) ของเก้าอี้ต่อก้นของเรา แต่นั่งไปสักพัก ความรู้สึกกดทับที่ก้นของเราก็หายไป ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสมองเรา habituate ต่อประสาทสัมผัสที่ก้น

     ภาวะ habituate ยังเกิดกับการเห็นได้ด้วย (แต่เราไม่รู้ตัว) เช่น ถ้าตาของเราจ้องมองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่หยุดนิ่งไปสักพัก สิ่งนั้นจะหายไปจากการรับรู้ของสมอง แต่ในชีวิตจริงภาวะนี้จะไม่เกิดขึ้นให้เราเห็น เพราะสมองเรามีกลไกป้องกันการ habituate ของตาด้วยการทำให้ตาเรากลอกไปมาน้อยๆ ตลอดเวลา (แม้ว่าเราจะพยายามไม่ขยับลูกตาแล้วก็ตาม) ภาวะที่ตากลอกไปมาตลอดเวลาเช่นนี้มีชื่อเรียกในภาษาวิทยาศาสตร์ว่า saccadic eye movement จะลองทดลองดูก็ได้ครับ โดยการให้เพื่อนของเราจ้องตาตัวเองในกระจกให้นิ่งที่สุด ห้ามขยับตาเลย ถ้าเราจ้องตรงๆ ไปที่ตาของเพื่อน เราจะเห็นตาเขาขยับไปมาตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง แต่ที่น่าแปลกคือ เพื่อนของเราจะไม่เห็นว่าตาของตัวเองกลอกไปมา เขาจะเห็นว่าตาของเขานิ่งสนิท ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในสมองของเพื่อน (และของทุกคน) จะมีอีกกลไกที่จะทำให้เจ้าตัวมองไม่เห็นว่าตาของตัวเองขยับไปมา

     เมื่อเข้าใจคำว่า habituation กันแล้วก็มาถึงคำถามที่น่าสนใจว่า ถ้าเกิดภาวะ habituation ขึ้นแล้ว เราจะแก้ภาวะนี้ได้ไหม? เราจะทำให้หนูหันกลับมาสนใจเสียง A อีกได้หรือไม่? คำตอบคือได้ครับ

     นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมื่อเกิดภาวะ habituation ต่อเสียง A ไปแล้ว สามารถแก้ภาวะนี้ได้โดยการเล่นเสียงใหม่แทรกเข้าไป 1 ครั้ง (สมมติเรียกเสียงใหม่นี้ว่าเสียง B นะครับ) เมื่อเล่นเสียง B ให้หนูได้ยินเป็นครั้งแรก หนูจะตอบสนองเหมือนที่มันได้ยินเสียง A ครั้งแรกๆ คือหนูจะหยุดนิ่ง ตั้งใจฟัง และมองหาแหล่งของเสียง แต่ที่น่าสนใจคือหลังจากเล่นเสียง B ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อเรากลับมาเล่นเสียง A ใหม่ ภาวะ habituation ต่อเสียง A จะหายไป (หรือน้อยลง) คือหนูจะกลับมาหยุดและตั้งใจฟังเสียง A อีกครั้ง เราเรียกภาวะนี้ว่า dishabituation หลังจากนั้นหนูก็จะหันกลับมาสนใจเสียง A อีกสักพักหนึ่ง ถ้าหนูเริ่ม habituate ต่อเสียง A แล้ว เราก็เติมเสียง B เข้าไปอีกครั้ง หนูก็จะกลับมาสนใจเสียง A ได้อีก

     อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็จะมีจุดที่หนูเริ่มเบื่อและไม่สนใจทั้งเสียง A และ B เมื่อถึงจุดนั้นแล้วนักวิทยาศาสตร์เติมเสียงใหม่เข้าไปอีกเสียง (เรียกว่าเสียง C) หนูก็จะกลับมาสนใจเสียง A และ B ได้อีกครั้ง หรืออาจจะพูดสรุปสั้นๆ ได้ว่า เล่นเสียงเดิมไปจนเริ่มไม่สนใจก็เติมเสียงใหม่เข้าไปสักครั้ง เสียงเก่าก็จะกลับมาใช้ได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าเริ่มไม่สนใจอีกก็เติมเสียงใหม่อีกเสียงเข้าไป ความสนใจก็จะกลับมาอีกระยะหนึ่ง ถ้าเขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ก็จะมีลักษณะประมาณนี้ (หรือใกล้เคียง)

 

     AAAAB-AAAB-AAB-AB-C-AB

 

     เมื่อเขียนออกมาในลักษณะนี้ เชื่อว่าหลายท่านเริ่มจะมองเห็นแล้วว่าโครงสร้างที่วนซ้ำสลับไปมาเช่นนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับเพลงป๊อปที่เราคุ้นเคยกันทั่วไป และจริงๆ ไม่ใช่แค่เพลงป๊อปเท่านั้น แต่เพลงประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงร็อก เพลงโฟล์กซอง หรือเพลงพื้นเมืองหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลกที่ติดหูง่ายก็มักจะมีโครงสร้างที่คล้ายกัน คือเริ่มด้วยท่อนเวิร์สที่ทำนองคล้ายๆ หรือเหมือนกันสัก 2-3 ท่อน แล้วหยอดท่อนคอรัสเข้าไป ก่อนจะกลับมาวนท่อนเวิร์สอีกหน่อย จากนั้นก็วนเวิร์สกับคอรัสสักรอบ ก่อนจะตามด้วยท่อนบริดจ์ เพื่อที่จะกลับไปวนท่อนเวิร์สและคอรัสได้อีกหน่อย จากนั้นก็จบเพลง

     อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่ช่างคิดช่างตั้งคำถามอาจจะนึกสงสัยขึ้นต่อว่า ถ้าสมองเราชอบความแปลกใหม่จริง เราจะวนซ้ำ AAA ก่อนเติม B ไปเพื่ออะไร? เราจะวน AB AB ซ้ำๆ เพื่ออะไร? ทำไมเราไม่แต่งเพลงให้มีแต่ทำนองใหม่ๆ ทั้งเพลงไปเลย เช่น ABCDEFG ทำเช่นนี้สมองจะไม่ชอบมากกว่าหรือ? เพลงจะไม่ติดหูง่ายกว่าหรือ? เป็นคำถามที่ดีมากครับ จะตอบคำถามนี้ได้ เราก็ต้องไปคุยกันต่อในตอนที่ 2

 

ตอนที่ 2 สมองชอบสิ่งที่คุ้นเคย

     สำหรับตอนที่ 2 นี้เข้าใจได้ง่ายมากครับ เพราะเชื่อว่าทุกท่านคงเคยมีประสบการณ์กับตัวเอง เคยไหมครับ ฟังเพลงใหม่ครั้งแรกแล้วไม่ชอบ แต่เมื่อได้ยินซ้ำๆ แล้วกลับรู้สึกชอบขึ้นมา เคยไหมครับที่กินอาหารต่างชาติครั้งแรกแล้วไม่ถูกปาก แต่เมื่อมีโอกาสกินซ้ำก็เกิดรู้สึกชอบอาหารจานนั้นขึ้นมา เคยไหมครับ เห็นหน้าเขาครั้งแรกไม่รู้สึกว่าหล่อหรือสวย แต่เมื่อคุ้นเคยมากขึ้นแล้วกลับรู้สึกว่าหน้าตาเขาน่ารักขึ้น

     สมองของมนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากโลกยุคหิน สิ่งแวดล้อมแบบยุคหินนั้นเต็มไปด้วยอันตรายจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา เราไม่รู้ว่าสิงโตจะโผล่ออกมาจากหลังพุ่มไม้เมื่อไร เราไม่รู้ว่าผลไม้หน้าตาแปลกๆ นี้กินแล้วจะตายหรือไม่ เราไม่รู้ว่าคนแปลกหน้าที่พบโดยบังเอิญในป่าและกำลังเดินตรงเข้ามาหาจะมาดีหรือมาร้าย (ส่วนใหญ่จะมาร้าย) สมองเราจึงมีแนวโน้มจะชอบสิ่งที่คุ้นเคย ภาวะที่สมองเราชอบสิ่งที่คุ้นเคยนั้น ในภาษาวิทยาศาสตร์จะใช้คำว่า mere exposure effect (คือสิ่งเดียวกับคำว่า brand awareness ในภาษาการตลาด) อาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า เจอซ้ำๆ จนคุ้นเคยแล้วก็จะชอบไปเอง

     ดังนั้นการที่เพลงเดิมมีการวนของทำนองซ้ำๆ เช่น AAA หรือมีแบบแผนของการวนซ้ำๆ เช่น A แล้วตามด้วย B เช่นนี้ซ้ำๆ จึงทำให้ทำนองนั้นติดหู (จริงๆ คือติดสมอง) ได้ง่ายขึ้น

     ถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะค้านขึ้นมาว่า แล้วภาวะ mere exposure effect หรือชอบสิ่งที่คุ้นเคย มันไม่ค้านกับตอนต้นที่บอกว่าสมองเราชอบความแปลกใหม่หรือ? คำตอบคือไม่ค้านครับ คำอธิบายแบบสั้นที่สุดอาจจะพูดได้ว่า สมองชอบทางสายกลาง คือสมองชอบสิ่งที่คุ้นเคย แต่ต้องไม่คุ้นเคยหรือถี่จนเกินไป ถ้าซ้ำมากไป สมองก็จะเลิกสนใจสิ่งนั้น ในขณะเดียวกันสมองก็ชอบสิ่งแปลกใหม่ แต่ความใหม่นี้ก็ต้องไม่ใหม่หรือแปลกจนเกินไป ถ้าสิ่งใหม่นี้ต่างไปจากเดิมมากๆ สมองจะรู้สึกไม่ไว้ใจและไม่ชอบ และถ้าเราสามารถหาส่วนผสมหรือจุดสมดุลระหว่างความใหม่และความเก่าที่ลงตัวได้ เราก็จะสามารถสร้างสิ่งที่ฮิต ติดหู ติดใจ หรือติดตลาดได้ง่ายขึ้น

 

     สุดท้ายก่อนจะจากกันไป ผมอยากจะชวนให้นำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘สมองและเพลงป๊อป’ ไปลองใช้มองสิ่งต่างๆในบริบทอื่นๆ ดูบ้าง แล้วคุณจะเห็นว่าหลายอย่างที่ทำให้คนชอบหรือทำให้ฮิตเป็นกระแสขึ้นมาสามารถเข้าใจได้ด้วยหลักการนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพลง ผลิตภัณฑ์ใหม่ ดีไซน์ใหม่ หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวอย่างความรักระหว่างคนสองคนก็ตาม

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

FYI
  • การทดลองในหนูที่พูดถึงในบทความนี้เป็นงานวิจัยของศาสตราจารย์เดวิด ฮูรอน (David Huron) แห่ง Ohio State University
  • ภาวะชอบสิ่งที่คุ้นเคย เป็นภาวะที่รู้จักกันทั่วไปในวิชาจิตวิทยาและวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม หาอ่านเพิ่มเติมได้ไม่ยากด้วยคีย์เวิร์ด ‘mere exposure effect’
  • ภาวะที่สมองเลิกสนใจสิ่งกระตุ้นที่คงที่ เป็นลักษณะการทำงานของสมองที่รู้จักกันทั่วไปในวิชาประสาทวิทยา หาอ่านเพิ่มเติมได้ไม่ยากด้วยคีย์เวิร์ด ‘habituation’
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising