ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 4.25% ตามรอยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ
การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ HKMA จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในฮ่องกงต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ยของตัวเองอีกครั้ง โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สองธนาคารขนาดใหญ่อย่าง HSBC และ Standard Chartered ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีเป็นครั้งแรกนับจากปี 2018
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจฮ่องกง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเปิดประเทศที่ล่าช้าจากมาตรการควบคุมโควิด และภาวะสมองไหลของแรงงานจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
Gary Ng นักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis SA ประเมินว่า ธนาคารในฮ่องกงจะมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นอีก 12.5 bps ในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าสินเชื่อต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีนี้ลงจากเดิม หลังการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าคาด ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นทำให้การลงทุนของภาคเอกชนหดตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ในวันเดียวกันธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็ได้ออกมาประกาศล่วงหน้าว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สู่ระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2009 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยสอดคล้องกับ Fed ล่วงหน้าคือ การอ่อนค่าของเงินสกุลเปโซที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยล่าสุดเงินเปโซเคลื่อนไหวอยู่ที่ 58.47 เปโซต่อดอลลาร์
อ้างอิง: