×

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต

26.09.2022
  • LOADING...
ฮ่องกง

HIGHLIGHTS

  • จุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นมาเป็น Financial Hub ของฮ่องกง อาจอยู่ที่ปี 1842 หลังการลงนามสนธิสัญญานานกิง ซึ่งจีนต้องยกฮ่องกงให้กับสหราชอาณาจักร 
  • ฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้งนับแต่ปี 1997 ภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมการเงินของฮ่องกงขยายตัวขึ้น 
  • ฮ่องกงเคยมีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจจีนถึงสูงถึง 18% ก่อนที่ปัจจุบันจะลดลงมาเหลือเพียง 2% จน Nikkei Asia มองว่าฮ่องกงกลายร่างจากศูนย์กลางทางการเงินมาเป็นเพียงกระเป๋าเงินของจีน 
  • ฮ่องกงเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากวิกฤตโควิดทำให้แรงงานจำนวนมากตัดสินใจย้ายออกจากฮ่องกง ซึ่งก็รวมถึงบริษัทการเงินบางแห่ง 
  • ล่าสุด ฮ่องกงถูกสิงคโปร์แซงขึ้นไปเป็นอันดับ 3 ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของโลก อิงจากดัชนี Global Financial Centres

ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญานานกิง (Treaty of Nanking) เมื่อปี 1842 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ระหว่างสหราชอาณาจักรกับจีน ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ฮ่องกงกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของเอเชีย 

 

สนธิสัญญานานกิงส่งผลให้จีนจำใจต้องยกฮ่องกงให้เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร หลังจากนั้นได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ช่วงปี 1856-1860 ซึ่งทำให้จีนต้องเสียดินแดนเพิ่มเติมคือคาบสมุทรเกาลูนและเกาะสโตนคัตเตอร์สตามสนธิสัญญาปักกิ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงที่ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ของโลกเช่นฝรั่งเศสและรัสเซีย ต่างต้องการดินแดนของจีน ด้วยการบีบให้จีนทำสัญญาปล่อยเช่าดินแดนระยะยาว 99 ปี ซึ่งสหราชอาณาจักรก็เข้ามาร่วมวงด้วยเช่นกัน โดยขอเช่าพื้นที่บริเวณ New Territories เป็นเวลา 99 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1898 

 

ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร ทำให้ฮ่องกงพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของเอเชียอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเดียวกันจีนก็ค่อยๆ พัฒนาประเทศจนมีแสนยานุภาพและอำนาจต่อรองที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งก็มีความต้องการที่จะได้พื้นที่ฮ่องกงกลับคืนมา 

 

แม้ว่าตามสนธิสัญญานานกิงและสนธิสัญญาปักกิ่ง พื้นที่ฮ่องกง เกาลูน และเกาะสโตนคัตเตอร์สจะเป็นของสหราชอาณาจักรโดยถาวร แต่ด้วยจุดยืนที่แข็งกร้าวของจีนซึ่งมองว่าสนธิสัญญาที่เคยทำไว้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ท้ายที่สุดสหราชอาณาจักรต้องยอมทำสัญญาส่งมอบดินแดนทั้งหมดคืนให้แก่จีนในปี 1997 หลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันมาก่อนหน้านั้น

 

ปัจจุบันฮ่องกงมีสถานะเป็น 1 ใน 2 เขตบริหารพิเศษของจีน อีกแห่งหนึ่งคือมาเก๊า แม้ว่าฮ่องจะกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีน แต่ยังได้รับการรับรองให้สามารถรักษาระบบการปกครองและเศรษฐกิจที่แยกไปจากจีนแผ่นเดินใหญ่ โดยอยู่ภายใต้หลักการที่เรียกว่า ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ 

 

การกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนแม้จะมีช่วงที่ผู้คนขาดความเชื่อมั่นไปบ้าง แต่ฮ่องกงยังคงมีสถานะเป็นศูนย์การทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ในปี 1997 เศรษฐกิจของฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนถึง 18% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด 

 

อย่างไรก็ตาม ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมภายในฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สถานะศูนย์การทางการเงิน (Financial Hub) ที่เป็นมาตลอดของฮ่องกง อาจจะกลายเป็นเพียงแค่อดีต

 

จากที่เคยมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจจีน ปัจจุบันสัดส่วนของเศรษฐกิจฮ่องกงต่อเศรษฐกิจจีนลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Nikkei Asia มองว่า ฮ่องกงกำลังกลายร่างจากศูนย์การทางการเงินของเอเชียมาเป็นเพียงกระเป๋าเงินของจีน

 

Terence Chong รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของ Chinese University of Hong Kong เคยกล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจของฮ่องกงแบ่งออกเป็น 3 ยุคสำคัญคือ ยุครุ่งเรืองของกิจการสหราชอาณาจักร ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 70 ถัดมาคือยุครุ่งเรืองของนักธุรกิจท้องถิ่นอย่าง ลีกาชิง ในช่วงทศวรรษที่ 80-90 และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของกิจการชาวจีนหลังจากปี 1997 

 

ที่ผ่านมา ฮ่องกงนอกจากจะเป็นศูนย์การทางการเงินที่สำคัญของเอเชียและของโลก ยังเป็นเหมือนประตูไปสู่การลงทุนในจีน ในปี 2021 การลงทุนโดยตรงในจีนเข้ามาผ่านฮ่องกงคิดเป็น 76% เพิ่มขึ้นจาก 46% เมื่อปี 1997 

 

ภายใต้การเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทำให้อุตสาหกรรมการเงินของฮ่องกงเติบโตขึ้น และมีภาพของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินชัดเจนขึ้น ปัจจุบัน GDP ของฮ่องกงมาจากอุตสาหกรรมการเงิน 23% เพิ่มขึ้นจากปี 1997 ที่มีสัดส่วน 10% 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจของฮ่องกงกลับมีความเป็นนานาชาติน้อยลงในระยะหลัง ด้วยสัดส่วนของนักลงทุนจีนในตลาดหุ้นฮ่องกงที่เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าครึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจาก Shanghai-Hong Kong Stock Connect เมื่อปี 2014 ที่เปิดให้นักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ซื้อหุ้นในตลาดหุ้นฮ่องกงได้โดยตรง 

 

ขณะที่จำนวนของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 101 บริษัทมาเป็น 1,370 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 78% ของมูลค่าตลาดของตลาดหุ้นฮ่องกง 

 

ไม่เพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่จีนเข้ามามีอิทธิพลกับฮ่องกงมากขึ้น แต่ยังมีประเด็นในเรื่องของสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐบาลฮ่องกงเสนอร่างรัฐบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้เกิดการตีความว่าฮ่องกงจะตกไปอยู่ภายใต้การครอบงำจากกฎหมายจีนแผ่นดินใหญ่ จนไปสู่การประท้วงของชาวฮ่องกงช่วงปี 2019-2020 

 

นอกจากนี้ สภาประชาชนจีน (NPC) ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2021 โดยมีสาระสำคัญคือการแบนกิจกรรมที่เข้าข่ายการปลุกระดม ก่อความไม่สงบ แบ่งแยกดินแดน บ่อนทำลาย หรือโค่นล้มรัฐบาลจีน พร้อมเปิดทางให้จีนสามารถเข้าไปตั้งหน่วยงานความมั่นคงในฮ่องกงเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย 

 

ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกระแสของการที่ชาวฮ่องกงเริ่มมีความคิดที่อยากจะย้ายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ก่อนที่ประเด็นนี้จะถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิดที่ทำให้แรงงานชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติย้ายออกไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากฮ่องกงเลือกที่จะใช้มาตรการควบคุมโควิดที่คล้ายกับมาตรการ Zero-COVID ของจีน 

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า นับแต่เดือนสิงหาคม 2018 แรงงานในฮ่องกงลดลง 6% เป็น 3.75 ล้านคน เกือบจะต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ ขณะที่สำนักข่าว The Korea Times ระบุว่า ในปี 2020 แรงงานต่างชาติออกจากฮ่องกงไป 93,000 คน ขณะที่ปี 2021 ออกไป 23,000 คน และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากพอสมควรคือ อุตสาหกรรมการเงิน

 

ฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของบรรดาเฮดจ์ฟันด์จากทั่วโลก ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารราว 8.02 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มูลค่าดังกล่าวลดลงมา 17% จากปี 2019 

 

ล่าสุด เมื่อ 22 กันยายนที่ผ่านมา มีรายงานออกมาว่า Rothschild & Co หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ กำลังตัดสินใจที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากฮ่องกงเพื่อไปยังดูไบ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่ตลาดหุ้น IPO ที่กำลังเติบโตอย่างมาก สวนทางกับในฮ่องกงที่ลดลง 78% จากปีก่อน 

 

จากการจัดอันดับศูนย์กลางทางการเงินของโลก ผ่านดัชนี Global Financial Centres ล่าสุด ฮ่องกงได้หล่นลงมาอยู่ในอันดับ 4 โดยถูกสิงคโปร์แซงหน้าขึ้นไปเป็นอันดับ 3 ในขณะที่อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นนิวยอร์กและลอนดอน

 

ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้เกิดการตั้งคำถามในวงกว้างว่าฮ่องกงที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียและของโลก กำลังจะสูญเสียสถานะดังกล่าวไปหรือไม่ ขณะที่ฮ่องกงเองก็พยายามกลับมาเร่งเปิดประเทศและดึงแรงงานที่ย้ายออกไปให้เข้ามาอีกครั้ง

 

ในยุคที่หลายประเทศต่างแย่งชิงเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ทำให้ฮ่องกงต้องเร่งทบทวนและหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าฮ่องกงจะรู้ตัวอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำได้ทันท่วงทีหรือไม่ 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising