×

เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization

01.10.2022
  • LOADING...
เวียดนาม

นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ภายหลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ออกแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองชื่อ ‘โด่ย เหมย’ ทำให้เวียดนามมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการเริ่มใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ลดการผูกขาดของภาครัฐ และเพิ่มเสรีทางการค้าและการลงทุนในภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นที่จับตามองของนักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลก 

 

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า ‘Made in Vietnam’ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยกว่า 40% ของรองเท้า adidas และ Nike ที่เราได้สวมใส่กันอยู่ทุกวันนี้ต่างถูกผลิตขึ้นที่ประเทศเวียดนาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​:


รวมไปถึงแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังอย่าง LG, Samsung และ Panasonic ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศเวียดนามเช่นเดียวกัน หากพิจารณาในปี 2020 พบว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คิดเป็น 38% ของการส่งออกสินค้าของเวียดนาม โดยเพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2010

 

รับอานิสงส์สงครามการค้า ‘จีน-สหรัฐฯ’

ปัจจุบันปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นปลายทางในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยในปี 2019 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนลดลง และนำเข้าสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์

 

สืบเนื่องมาจากแรงกดดันต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างมหาอำนาจที่นับวันมีแต่จะร้อนระอุขึ้น ค่าแรงที่แพงขึ้น ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของจีน นับเป็นอีกครั้งที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของโลกกำลังหนีออกจาก ‘จีน’ และเบนเข็มไปที่ ‘เวียดนาม’ แทน โดยล่าสุด Foxconn และ Pegatron ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของ Apple ซึ่งผลิต Apple Watch, MacBook และอุปกรณ์อื่นๆ กำลังสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในเวียดนาม นอกจาก Apple ก็มีบริษัทไอทีต่างชาติอีกหลายแห่งที่ตัดสินใจย้ายหรือหันไปเพิ่มโรงงานผลิตในเวียดนามแทน เช่น Dell, HP, Google, Microsoft และ Samsung 

 

ทั้งหมดนี้สามารถนำพาเวียดนามไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยทำให้ชาวเวียดนามหลายล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะเพิ่มความนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่ปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียวมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 1975 

 

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้คนเวียดนามมีความร่ำรวยมากยิ่งขึ้น รัฐบาลได้ตั้งเป้า GDP ต่อหัวมากกว่า 1.8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2045 ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านจากการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จากภาคการผลิตที่เน้นการใช้แรงงาน มาเป็นสินค้าไฮเทคที่มีมูลค่าสูงขึ้นนั่นเอง

 

โครงสร้างประชากรเอื้ออำนวย

โครงสร้างประชากรนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของเวียดนาม เวียดนามมีจำนวนประชากรมากถึง 100 ล้านคน และประชากรส่วนมากอยู่ในวัยทำงาน ภายใต้อัตราค่าจ้างแรงงานในระดับต่ำ อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนความตกลงการค้าเสรี ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ ผู้นำประเทศเวียดนามนั้นเข้มงวดเรื่องโควิดน้อยกว่าจีน เห็นได้ชัดจากกรณีที่เวียดนามเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม ในขณะที่ประเทศจีนยังคงมีอุปสรรคมากมายในการเข้าประเทศ

 

ทำเลทองเชื่อมประตูการค้า

เวียดนามตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดบนคาบสมุทรอินโดจีน ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่มีทำเลที่ได้เปรียบ ทำให้เวียดนามเป็นประตูสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยทางตอนเหนือของเวียดนามมีพรมแดนติดกับจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคน นอกจากนี้ยังขนานไปกับเส้นทางการค้าทางทะเลของเอเชียที่มีแนวชายฝั่งยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร และท่าเรือน้ำลึกระดับโลก เวียดนามจึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่มาจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ที่ต้องการติดต่อกับจีน ประเทศในเอเชียตะวันออก แอฟริกา และยุโรป

 

‘ทักษะแรงงาน’ อาจเป็นจุดก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอีกมากที่เวียดนามต้องทำหากโรงงานในเวียดนามต้องการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า เนื่องจากฐานการผลิตยังเล็กกว่าของจีนอย่างมาก อีกทั้งบริษัทต่างชาติต้องการซื้อชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้นเพราะจะสะดวกและรวดเร็วกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ ซึ่งยังนับว่าเป็นข้อจำกัดของเวียดนามในปัจจุบัน เนื่องจากแรงงานเวียดนามยังขาดความชำนาญในด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้หลายบริษัทซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ต้องนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ จากต่างประเทศ เพราะผลิตภัณฑ์ของเวียดนามไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่ต้องการ

 

ในส่วนของภาครัฐก็มีบทบาทเช่นกัน แรงงานในเวียดนามมีจำนวนมาก แต่หัวหน้างานและแรงงานที่มีทักษะนั้นหายาก 

 

Michael Nguyen Country Head ของ Boeing ในเวียดนาม แนะนำให้บริษัทต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อปรับปรุงการฝึกอบรมให้เข้ากับสิ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องการ หากเวียดนามจะเจริญรุ่งเรืองอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน เวียดนามต้องลงทุนไม่เพียงแต่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังต้องลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง​:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising