×

‘มรดกบาดแผล’ ประวัติศาสตร์ของความสูญเสียและความทรงจำอันเจ็บปวดที่ยังมีชีวิตอยู่

โดย Heritage Matters
19.01.2024
  • LOADING...

เมื่อนึกถึงคำว่า ‘มรดก’ เรามักจะมีภาพของโบราณสถาน ตึกเก่าสวยงาม นาฏศิลป์ตามแบบประเพณี อาหารเลิศรส และอื่นๆ มากมาย มรดกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นในอดีตและตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างภาคภูมิ ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ ตัวตนของเรา และส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมของสังคม

 

แต่บางครั้งอดีตก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องสุขสันต์ หากเต็มไปด้วยสงคราม การกดขี่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้คนถูกล่วงละเมิดสิทธิ หรือเกิดความอยุติธรรมมากมาย ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้มักนำไปสู่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน บางเรื่องถูกเข้าใจผิดๆ หรือมองข้ามไป บางเรื่องก็ถูกซุกไว้ใต้พรมโดยตั้งใจ

 

ประวัติศาสตร์ประเภทนี้มักหลงเหลืออยู่ในรูปของความสูญเสียและความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ในมรดกที่ตกทอดมา เช่น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วัตถุ สิ่งปลูกสร้าง กวีนิพนธ์ เพลง และเรื่องเล่า เมื่อสิ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรุนแรง มรดกเหล่านี้จึงจัดว่าเป็น ‘บาดแผล’ ที่ยากจะจดจำ สุ่มเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการบันทึก ถูกหลงลืม ทิ้งหาย ส่วนหนึ่งเพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ ทางการหรือพิพิธภัณฑ์เลี่ยงที่จะไปยุ่งเกี่ยว

 

แต่เราจำเป็นต้องรักษามรดกบาดแผลเหล่านี้ไว้ เพราะมันช่วยให้สังคมเข้าใจอดีตของตนเอง เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และเยียวยาจิตใจ

 

ในประเทศไทย อดีตอันเป็นบาดแผลมีหลายตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์และเกษตรกรช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนไม่ได้รับการพูดถึงหรือให้ความสำคัญจากทางการ ไม่ได้ปรากฏในหนังสือเรียนเพื่อให้เยาวชนได้ศึกษา ไม่ได้รับการจดจำผ่านนิทรรศการหรืออนุสรณ์อย่างเป็นทางการใดๆ

 

กระนั้นเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจริง มีผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่ยังไม่อาจลืมความทรงจำอันเลวร้ายได้ เรื่องราวเหล่านี้ประกอบกันเป็นอัตลักษณ์ เป็นมรดกร่วมของผู้ผ่านประสบการณ์เดียวกัน เราควรเคารพอัตลักษณ์และความรู้สึกของพวกเขาด้วยการช่วยกันรักษามรดกเหล่านั้นและทำให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ภาครัฐ สถาบันต่างๆ และแหล่งเงินทุน ควรหันมาสนับสนุนความพยายามสร้างสังคมที่โอบรับและเปิดกว้าง

 

ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์และพื้นที่นิทรรศการจำนวนมากทั่วโลกที่มีพันธกิจในการรักษาและนำเสนอมรดกอันน่าสลดใจสู่สาธารณะ ด้วยการสนับสนุนจากทางการและงบประมาณของรัฐ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และพิพิธภัณฑ์โพลินในกรุงวอร์ซอ ซึ่งนำเสนอเอกสาร บันทึกเสียง บันทึกภาพเคลื่อนไหว และวัตถุต่างๆ ที่ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และผู้ที่รอดชีวิตมาได้ เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันนับว่าน่าสะพรึงกลัวที่สุด พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่ช่วยให้ผู้มาเยือนได้เข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

 

ในประเทศไทย เราแทบจะไม่มีสถานที่ใดๆ สำหรับศึกษาประวัติศาสตร์บาดแผลของไทย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความที่ภาคการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งมรดกยังไม่แข็งแรง อย่างไรก็ดี แม้จะยังขาดความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่เรามีเครือข่ายอาสาสมัคร ผู้ร่วมสนับสนุน กลุ่มชุมชน ภัณฑารักษ์ นักวิจัย ที่พร้อมทำงานแทนเรียบร้อยแล้ว

 

ผู้เข้าชมนิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภาพ: ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล

 

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในปี 2544 เมื่อการเดินขบวนประท้วงกลายเป็นเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับทหาร มีผู้ร่วมเหตุการณ์ราว 1,370 คนถูกจับกุมและลำเลียงโดยให้นอนซ้อนทับกันบนรถบรรทุก เพื่อส่งไปคุมตัวยังฐานทัพในจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงที่หมายกลับปรากฏว่าผู้ถูกคุมตัว 77 รายเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ

 

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และทำให้ปัญหาความไม่สงบยิ่งเลวร้ายลงในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ชุมชนมาเลย์-มุสลิมพยายามเรียกร้องจากรัฐบาลกลางมายาวนาน เพื่อให้ยอมรับรองอัตลักษณ์ ภาษา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แน่นอนว่ามีบางกลุ่มที่สมาทานการใช้อาวุธรุนแรง ดังสถิติของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งแต่ปี 2544 จนถึง 2565 ชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงแล้วกว่า 5836 ราย ทั้งจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไ

 

สำหรับเหตุการณ์ที่ตากใบยังไม่เคยมีการนำผู้มีส่วนรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ครอบครัวของผู้สูญเสียยังคงต้องเผชิญกับความทุกข์ ความกลัว และไม่อาจปล่อยวางได้ นี่คือที่มาของโครงการมรดกบาดแผลชิ้นล่าสุด ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ (Heard the Unheard: Takbai 2004) เป็นตัวอย่างของนิทรรศการชั่วคราวซึ่งจัดขึ้นโดยคณะวิจัย ภัณฑารักษ์ และประชาชนชาวตากใบ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มุ่งจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

นิทรรศการนำเสนอของใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เสียชีวิต ประกอบกับเรื่องเล่าของมารดา ภรรยา พี่สาว น้องสาว ผู้สูญเสียคนในครอบครัว โดยมีนักวิจัยท้องถิ่นเป็นผู้สัมภาษณ์และขอให้นำเสนอวัตถุที่สัมพันธ์กับผู้เสียชีวิต มีครอบครัว 53 ครอบครัวให้ความร่วมมือกับนิทรรศการนี้

 

ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ ‘มาสุกรี’ ซึ่งเป็นลูกจ้างในโรงงานยางและรับจ้างทำการเกษตร ได้รับการถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของภรรยา พร้อมข้อความที่จัดแสดงอยู่ข้างโสร่งฝ้ายของเจ้าตัว “เขาเป็นคนขยันทำงานหาเลี้ยงครอบครัว…ชอบไปละหมาดที่มัสยิดและช่วยเหลือผู้อื่นตลอด…วันนั้นเขาบอกว่าจะไปเที่ยวที่ตากใบ…ตอนเย็นเขาก็ยังไม่กลับมา ก็เป็นห่วงมาก วันรุ่งขึ้นน้องสาวเขาส่งข่าวมาบอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ครอบครัวเขาเป็นคนไปรับศพ…ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก…ศพของเขาฝังไว้ที่กุโบร์บ้านแม่ หลังจากนั้นกลับมาที่บ้านก็ร้องไห้ เหมือนชีวิตจะหมดสิ้นทุกอย่าง” 

 

มีนักศึกษาและผู้เข้าชมหลายรายกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตากใบมาก่อน และประหลาดใจมากเมื่อได้รับรู้เรื่องดังกล่าวผ่านนิทรรศการนี้ นิทรรศการเผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในความขัดแย้ง ทำให้ผู้เข้าชมที่เป็นมารดา ภรรยา ลูกสาว มีความรู้สึกร่วมกับผู้สูญเสีย พวกเขานับถือความสามารถในการเยียวยาจิตใจของผู้ที่รอดจากเหตุการณ์

 

สำหรับครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นิทรรศการ นิทรรศการได้ทำหน้าที่แสดงพลังและเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เคยสูญเสียคนรักไปในเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

 

หลายปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ในไทยล้วนแต่ให้ความสำคัญกับศิลปะและโบราณคดี สถานที่เหล่านั้นสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันสิ่งที่เราต้องการมากขึ้นคือสถาบันทางวัฒนธรรมที่ช่วยสำรวจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผล สิ่งนี้จะช่วยให้สังคมไทยรู้จักการแก้ปัญหาจากแก่นราก มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ควรได้รับคำชื่นชมในฐานะผู้ร่วมจัดนิทรรศการนี้และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ เพราะยิ่งชี้ให้เห็นแล้วว่าหน่วยงานสาธารณะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้จริงๆ

 

งานด้านมรดกที่เปิดกว้างต้องอาศัยการทำงานแบบสหวิทยาการและความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย แม้อาสาสมัคร ผู้ให้ทุน และชุมชนท้องถิ่นจะพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ความรับผิดชอบไม่ควรตกอยู่กับพวกเขาแต่ฝ่ายเดียว

 

ประเทศไทยโชคดีที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถจำนวนมาก ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ภัณฑารักษ์ การจัดการวัฒนธรรม และการศึกษา เราควรให้การสนับสนุนบุคลากรเหล่านี้ผ่านนโยบายสาธารณะ ช่วยพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมเงินทุนและงบประมาณ เพื่อพัฒนาให้สังคมมีศักยภาพในการอนุรักษ์มรดกได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกบาดแผล

 

บทความโดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักมานุษยวิทยาสังคม อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

บทความนี้ได้แปลและดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

 

คำอธิบายภาพเปิด: มัสยิดกลางปัตตานี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising