×

รับมือโควิด-19 สมาคมประกันวินาศภัยไทยแนะแนวเอกชนทบทวนระบบ 8 ด้าน

06.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (6 มีนาคม) อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สมาคมประกันวินาศภัยไทยมีหนังสือขอความร่วมมือจากบริษัทสมาชิกในการทบทวนแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

ทั้งนี้เป้าหมายในการทำ BCP ควรคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

1.การกำหนดระบบงานที่สำคัญ (Critical Business Function Identification) และระบุทรัพยากรที่จำเป็น ซึ่งระบบงานที่สำคัญจำเป็นต้องใช้เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ เช่น บุคลากร เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลที่จำเป็น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้รองรับระบบงานที่สำคัญ ขนาดของแบนด์วิดท์ที่เหมาะสม รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์ การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลใช้บังคับในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

 

2.การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) บริษัทสมาชิกควรต้องประเมินความเสี่ยง และโอกาสที่โรคโควิด-19 จะทำให้ระบบงานที่สำคัญหยุดชะงัก และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว นอกจากนี้ ยังควรกำหนดสถานการณ์วิกฤตร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การประกาศการเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรค หรือการปิดกรุงเทพฯ หากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด รวมทั้งประเมินข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ความเสียหาย ความเพียงพอของมาตรการควบคุม และการบริหารความเสี่ยงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และการประเมินทรัพยากรที่บริษัทต้องใช้เพิ่มเติมหากเกิดสถานการณ์ขึ้น

 

3.การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact Analysis) หรือความสูญเสียทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นกับทุกธุรกรรมงานที่สำคัญ เพื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของธุรกรรมงานที่สำคัญ และผลกระทบจากการหยุดชะงักของระบบงานที่สำคัญนั้น และจะช่วยให้บริษัทสมาชิกสามารถกำหนดลำดับความสำคัญของการดำเนินงาน และจัดสรรทรัพยากรในการเรียกคืนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

4.การกำหนดกลยุทธ์การเรียกคืนการดำเนินงานให้กลับสู่ภาวะปกติ (Recovery Strategy Setting) บริษัทสมาชิกควรมีการกำหนดแนวทางในการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของระบบงานที่สำคัญ รวมถึงกำหนดระยะเวลาหยุดดำเนินงานที่ยอมรับได้ของแต่ละระบบงานที่สำคัญ เพื่อจะได้นำระยะเวลาดังกล่าวมาใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของระบบงานดังกล่าว และกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการเรียกคืนการดำเนินงาน และทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้การดำเนินงานของระบบงานเหล่านั้นกลับคืนสู่สภาวะปกติ

 

5.การทบทวนกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Process and Procedure Revision) ในทุกระบบงานที่สำคัญ ทั้งระบบงานภายใน และระบบงานที่ใช้บริการจากบุคคลภายนอก โดยกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และรายละเอียดของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนอย่างชัดเจน

 

6.การทบทวนมาตรการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Measure Revision) ทั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและมาตรการฯ เพิ่มเติมเพื่อให้ระบบงานที่สำคัญสามารถดำเนินต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เช่น การแบ่งแยกทีมทำงานออกเป็นทีมย่อย แทนที่จะให้บุคลากรทุกคนในทีมทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกัน การทดสอบให้พนักงานทำงานนอกสถานที่เป็นกลุ่มย่อย ฯลฯ หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้บริษัทสมาชิกต้องมีการใช้แผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การจัดหาศูนย์ปฏิบัติงานสำรองที่พร้อมใช้งานหากมีพนักงานในบริษัทได้รับเชื้อโรคโควิด-19 และอาจแพร่กระจายในบริษัท ส่งผลให้บริษัทสมาชิกจำเป็นต้องปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อกักกันโรค และทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

 

7.การจัดทำแผนการติดต่อสื่อสาร (Communication Planning) เพื่อแจ้งเหตุต่อผู้เอาประกันภัย รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกบริษัท และผู้กำกับดูแลได้อย่างทันท่วงที 

 

8.การจัดอบรมและการสื่อสาร (Training and Communication) เกี่ยวกับแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนเข้าใจ และรับทราบถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตน หากเกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของการดำเนินงาน

 

นอกจากนี้ บริษัทสมาชิกควรมีการสื่อสารให้พนักงานทุกคนทราบเกี่ยวกับสถานการณ์และความคืบหน้าของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานทุกคนจะทราบถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับเชื้อดังกล่าว และปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีมาตรการในการดูแลและป้องกันสุขภาพของพนักงานตลอดระยะเวลาที่พนักงานมาปฏิบัติงานที่บริษัทด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

          

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising