×

นั่งฟัง Greyhound Young Gen ทั้ง 7 เลาะวิธีคิดและการปั้นแบรนด์ KIN+HEY by Greyhound Cafe ให้เป็นวัฒนธรรมการกินรูปแบบใหม่ [Advertorial]

23.05.2018
  • LOADING...

หนึ่งสิ่งที่ทำให้ ‘KIN+HEY by Greyhound Café’ แบรนด์ร้านอาหารใหม่ล่าสุดจากชายคา Greyhound Café น่าสนใจ นอกเหนือจากคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนและคอนเซปต์ที่แข็งแรงแล้ว คงหนีไม่พ้นการได้เห็นวิธีคิดและวิธีการทำงานจากคนยุคใหม่ที่เรียกว่าเป็นเจเนอเรชันใหม่ของ Greyhound Café โดยพวกเขาฟอร์มทีมกันมาคิด ลงมือ และท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับภูมิทัศน์ของร้านอาหารในบ้านเราที่ไม่เคยมีใครทำที่ไหนมาก่อนในประเทศไทย และวันนี้ THE STANDARD มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับเจเนอเรชันใหม่ทั้ง 7 คน 7 บทบาท อันได้แก่

 

  • เบลล์-ชาคริยา อริยะสถิตย์มั่น Marketing Division Manager
  • แอมมี่-สมสุภัท ศิวะพิรุฬห์เทพ Senior Marketing Officer
  • หนัน-พิชญนันท์ อรัณยวงศกร Senior Creative Officer (Shop Image)
  • พิ้ง-พิสชา สมบูรณ์เวชชการ Senior Creative Officer (Brand Communication)
  • อ้อม-ชลรส โกสีหเดช Creative Division Manager (Brand Communication)
  • แบงค์-ภูริวัจน์ วิเชียรชัยยะ Area Manager (KIN+HEY)
  • เชฟอาร์ต-ณัชชนอง โกสุมสุริยา Assistant Executive Chef

 

เพื่อสำรวจหนทางการปลุกปั้นสตรีทฟู้ดและวัฒนธรรมที่จับต้องได้แบบไทยๆ ให้ออกมาน่าสนุก น่าอร่อย และน่าลิ้มลองสักครั้ง

 

 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ Greyhound Café เลือกเปิดแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า KIN+HEY by Greyhound Café นี้ขึ้นมา

เบลล์: หลักๆ คงเป็นเพราะโจทย์ที่เรามาคิดกันว่าตัวแบรนด์ Greyhound Café มีอยู่มาถึง 20 ปีแล้ว ปัจจุบันมีหลายสาขา และก็มีแบรนด์ใหม่อย่าง Another Hound Café ด้วย ซึ่งจริงๆ ทั้งสองแบรนด์ที่กล่าวมา พี่ๆ เขาก็จะมีฐานแฟนที่เหนียวแน่นและชัดเจนอยู่แล้ว แต่เราต้องการจะเปิดตลาดใหม่ๆ โดยเล็งเห็นว่าเรายังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเติบโต หรือเติบโตมากับแบรนด์นี้ของเรา

 

แอมมี่: อย่างตัวแอมมี่เองก็รู้จัก Greyhound Café มาตั้งแต่สมัยมัธยม จนตอนนี้เรียนจบจนเข้ามาทำงานที่นี่แล้ว เราก็เหมือนคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่กำลังอยู่ในวัยเริ่มการเป็นมนุษย์ทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นคนที่โตมากับ Greyhound เองก็ต่างโตขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงเราก็ยังเห็นกลุ่มคนทำงานอีกกลุ่มที่เราน่าจะลองคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ กับคนกลุ่มนี้ด้วย

 

เบลล์: เราอยากขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ แต่ทีนี้โจทย์ก็คือกลุ่มคนที่เรากำลังพูดถึง เขาต้องการร้านอาหารแบบไหนล่ะ กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่เป็นคนออฟฟิศ เราจะต้องไปโลเคชันไหน เราคิดถึงระยะเวลาอันแสนจำกัดในมื้อเที่ยงของพวกเขา หรือการใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหลังเลิกงานว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องการอะไร จึงเกิดเป็นแบรนด์ KIN+HEY by Greyhound Café นี้ขึ้นมา เราก็พยายามหาสิ่งที่มันทำให้คนได้ออกมาแฮงเอาต์กันได้ ออกมาสนุกกันได้ สร้างวัฒนธรรมคอนเซปต์นี้ขึ้นมาใหม่เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

 

 

ความยากง่ายในการทำงานอยู่ตรงไหน และดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ของทาง Greyhound Café ก็จะมอบโอกาสให้พวกคุณทำงานกันอย่างเต็มที่

เบลล์: ต้องบอกว่าที่ Greyhound ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรุ่นไหน พี่ๆ ทุกคนก็ยังมีความเป็นวัยรุ่นอยู่ในตัวอยู่แล้ว และค่อนข้างเปิดกว้าง รับฟังสิ่งที่พวกเรานำเสนอ พวกเขาเองก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ของเขา เปิดโอกาสให้พวกเราสนุกได้เต็มที่ แต่บางเรื่องที่ใหม่มากๆ ก็มีที่ไม่เข้าใจกันบ้าง เราก็ต้องอธิบายว่าคนวัยเรา กลุ่มลูกค้าที่เป็นคนวัยเดียวกันกับเรา เขาคิดยังไง หรือเขามองหาอะไรกันอยู่ ทีมของเรามีพี่ๆ ที่คอยเป็นโค้ชให้ พวกเราก็ค่อนข้างอุ่นใจ เลยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินไป แต่มันเป็นความท้าทายของพวกเรามากกว่าที่จะทำยังไงเพื่อเปิดมุมใหม่ๆ เพิ่มมิติให้แบรนด์ Greyhound ซึ่งเป็นแบรนด์หลักของเราให้รู้สึกเข้าถึงคนทำงานรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น โดยยังไม่ละทิ้งความครีเอทีฟแบบแบรนด์ Greyhound

 

คอนเซปต์ของคำว่า ‘กิน+เฮ’ คือสิ่งใหม่มากๆ ในบ้านเรา กับการนำอาหารสตรีทฟู้ดไทยๆ มาทำให้เป็นวัฒนธรรมการกินรูปแบบใหม่

เบลล์: คอนเซปต์เริ่มต้นของร้านคือการจับกลุ่มคนออฟฟิศ คนวัยทำงาน เราก็ตั้งโจทย์ว่า เวลาเขาพักเที่ยงเขากินอะไรกัน หรืออยากจะหาที่พักผ่อนหลังเลิกงาน เฮฮากับเพื่อนฝูงที่ไหนดี คืออย่างญี่ปุ่นเขาก็จะมีอิซากายะ เกาหลีมีโพจังมาจาที่เป็นเต็นท์สตรีทฟู้ดที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในซีรีส์ ทีนี้พอเป็นคนไทยเรา เอาจริงๆ ถ้าง่ายๆ เลยก็คืออย่างร้านส้มตำ ร้านจิ้มจุ่มหม้อไฟ หมูกระทะ หรือร้านข้าวต้มใกล้ๆ ออฟฟิศ ร้านเหล่านี้ก็มักจะเป็นที่สังสรรค์ง่ายๆ หลังเลิกงานของมนุษย์ออฟฟิศอย่างพวกเรา พวกเราเองก็ไปค่ะ เราก็เริ่มคิดว่าอยากให้มีร้านอาหารแนวแบบนี้ที่นั่งได้สบายๆ ไม่ต้องคอยยกขาหนีแมลงสาบ หรือกลัวหนูจะวิ่งผ่าน (หัวเราะ) มีเพลงแบบที่พวกเราชอบฟัง มีห้องน้ำสะอาดให้เราเข้า มีที่ให้จอดรถได้ เอ๊ะ มันจะเป็นไปได้ไหมนะที่จะมีร้านแบบนี้เพื่อตอบโจทย์มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ ยิ่งถ้าอยู่ในที่ที่เดินทางสะดวกด้วยยิ่งดี ก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด

 

การกินอาหารร่วมกันหลังเลิกงานมีผลต่อการทำงานเป็นทีมเวิร์กมากน้อยแค่ไหน ในความคิดของพวกคุณ

เบลล์: มีส่วนนะ คนไทยเองค่อนข้างใช้มื้ออาหารเป็นวาระในการเชื่อมสัมพันธ์ หรือ ใช้เวลาร่วมกันอยู่แล้ว เวลาเราเจอกัน เราก็จะถามว่ากินอะไรมาหรือยัง เวลาเราเห็นเพื่อนเหนื่อยๆ เราก็จะชวนเพื่อนว่าไปหาอะไรกินกันไหม จะไปเรียนต่อเมืองนอก แจกการ์ดแต่งงาน ลาออก เลื่อนตำแหน่ง เราก็นัดกันไปหาอะไรกินกันตลอด คนไทยใช้มื้ออาหารเป็นวาระต่างๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการได้พักเรื่องงานแล้วมาล้อมวงกินข้าว ได้คุยเรื่องเฮฮา มันก็ช่วยให้เราเหมือนสนิทกันมากขึ้น แชร์กันมากขึ้น ไม่ใช่มาถึง ทำงาน จบ เลิกงาน ต่างคนต่างไป กลับบ้านนอน

 

ทำไมต้อง ‘กิน’ และ ‘เฮ’

เบลล์: ก่อนจะมาเป็นชื่อนี้ เราตั้งชื่อกันมาหลายรอบมาก มีลิสต์เยอะมาก มีตั้งแต่ทองแดง ซู้ดซอย ข้ามเส้น มีเยอะมาก เราก็มาจบกันที่ชื่อง่ายๆ ร้านทุกคนมากินมาเฮกัน ซึ่งมันรวมถึงการบ่งบอกบรรยากาศของร้านด้วย และจากนั้นเราก็เริ่มแจกโจทย์ให้กับฝ่ายอื่นๆ ได้ทำงานต่อ อย่างฝั่งครีเอทีฟ น้องหนัน หรือทางเชฟอาร์ตเอง ก็มาร่วมกันทำงานมากขึ้น ตั้งโจทย์ให้เขาว่าถ้าเป็นสตรีทฟู้ดไทยๆ แล้วจะเป็นเมนูอะไร ก๋วยเตี๋ยวอะไร หรือเมนูที่กินง่ายๆ หรือมีเครื่องดื่มอะไรที่แตกต่างได้บ้าง อะไรที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

 

เชฟอาร์ต: อย่างที่เบลล์บอก เราเลือกอาหารที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันที่คุ้นมาตั้งแต่เล็กๆ จนโตมาถึงป่านนี้ นำอาหารสตรีทฟู้ดมาทำให้มีความพรีเมียมมากขึ้น แต่ยังคงความเป็น Greyhound ไว้อยู่ มาในราคาที่จับต้องได้ เราทำให้เมนูเดิมๆ มันมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างเมนูก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เราก็เลือกซี่โครงหมูคุโรบูตะมาทดแทนเนื้อสัตว์เดิมๆ หรืออย่างเนื้อพวง หมูพวง ที่หายไปจากท้องตลาดเรื่อยๆ หากินยาก ขนมโตเกียวที่เคยกินตามหน้าโรงเรียน เราจึงเอาอาหารเหล่านี้กลับมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้ดื่มด่ำกับรสชาติที่คุ้นเคย ทำให้มันมีสตอรีมากขึ้น เชฟทำให้รสชาติจัดจ้านไว้ แต่ยังเป็นรสกลางที่ทุกคนทานได้ไม่ว่าจะวัยไหนก็ทานได้ เราเทสต์กันหลายคน อย่างน้อยมันต้องจัดจ้านและจำได้

 

 

ใช้เวลานานแค่ไหนกับการศึกษาแนวทางของลูกค้า อาหาร หรือเรื่องราวของแบรนด์ใหม่นี้

แอมมี่: กว่าจะได้เปิดร้านก็ใช้เวลานานเป็นปีเหมือนกันค่ะ กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ทีมการตลาดก็ศึกษาอาหารสตรีทฟู้ดของไทย ทำโฟกัสกรุ๊ปย่อมๆ เพื่อหา ข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษากลุ่มเป้าหมาย ทางทีมครีเอทีฟกับทีมครัวก็ทำการบ้าน ลองทำเมนูมาให้ทางการตลาดชิม มาถกเถียงกัน เราก็เชิญผู้คนต่างๆ ในออฟฟิศเรา อย่างพี่ๆ แผนกบัญชี ไอที จัดซื้อ หรือฝ่ายบุคคลที่ยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับโปรเจกต์นี้มาก่อนให้มาลองชิมว่ารสชาติเป็นยังไง ราคาประมาณไหนที่โอเค ไม่แพงไป จ่ายได้สบายใจ ลองทำกันแล้วก็เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้

 

อ้อม: เราก็สรรหาอาหารกันมาเยอะมาก ก่อนจะมาสรุปเป็นลิสต์และนำสิ่งที่เรามี ค่อยๆ แตกความคิดออกไปให้ถึงลูกค้า

 

 

พอแตกยอดความคิดจากคอนเซปต์ ‘สตรีทฟู้ดแบบไทยๆ’ และ ‘วัฒนธรรมการกินดื่มหลังเลิกงาน’ ทำให้ ‘กิน+เฮ’ กลายมาเป็นร้านอาหารหนึ่งที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากทีเดียว

พิ้ง: เรียกได้ว่ารายละเอียดเยอะมากจริงๆ ซึ่งเราก็เริ่มจากการหาแรงบันดาลใจมาจากร้านอาหารไทยต่างๆ เหมือนเราเห็นวัฒนธรรมของคนไทยจากร้านอาหาร ทั้งเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ หรือแม้แต่ฟอนต์ร้าน เขาก็จะใช้ฟอนต์ที่มีความเป็นไทย หัวแหลมๆ ไทยประดิษฐ์ต่างๆ แต่พิ้งเอามาดัดให้มันโมเดิร์นมากขึ้น Mood and Tone ของแบรนด์เราอยากได้แบบไทยสตรีท เราก็ไปตะลุยเดินดูตามร้านอาหารไทยเก่าๆ แถวราชดำเนิน เยาวราช ของคนรุ่นก่อนๆ เขาจะมีบุคลิกของร้านที่มีเอกลักษณ์มาก เราเลยอยากดึงพวกนี้มาเล่น ดัดแปลงให้มันเก๋ขึ้นในแบบฉบับของเราเอง

 

อ้อม: หรือแม้กระทั่งในงานด้านการสื่อสารกับลูกค้า เราก็ใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่โลโก้ สีสันที่ใช้ การตั้งชื่อเมนู หรือว่าโควตคำที่ใช้ จริงๆ มีคำเยอะมาก ‘บรีฟพัง ชีวิตพัง ต้องมาปังที่ กิน+เฮ’ หรืออย่าง ‘ทำงานให้สุดแล้วมาหยุดที่หม้อไฟ’ ด้วยคอนเซปต์มันค่อนข้างสนุก มันเลยค่อนข้างจะเปิดกว้างกว่า และอีกอย่างมันค่อนข้างใหม่มาก

 

 

ซึ่งรายละเอียดที่ว่านั้นคงรวมไปถึงการออกแบบร้านด้วย เพราะดูเหมือนว่าตัวร้านจะนำเสนอวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยออกมาได้อย่างชัดเจนมากๆ เช่นกัน

เบลล์: ทุกคนต้องเคยเห็นทุกสิ่งที่อยู่ในร้านของเรา เบลล์เชื่อ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว หรือมันมีอยู่แต่ว่าเราไม่ได้ใช้งานกับมันแล้ว อย่างเก้าอี้เลกเชอร์ หยิบมาเล่นบ้าง ถัง ตะกร้า เราก็อยากให้คนเห็นว่ามันเป็น Creativity อย่างหนึ่งของแบรนด์ด้วย ว่าจะหยิบอะไรที่คนเห็นทั่วไปขึ้นมาเล่น ซึ่งถ้าพูดถึงคำว่าไทย คนจะรู้จักคนไทยก็คือรู้จักกรุงเทพฯ นี่แหละ ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองแบบ Chaotic Fun

 

หนัน: โจทย์ในการออกแบบร้านคือต้องมีความสนุกปนเปวุ่นวาย แต่สนุก เราก็คิดต่อว่าสนุกแบบกรุงเทพฯ เรานี่เป็นยังไง เราก็หยิบทุกอย่างที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาเล่นเกือบทั้งหมดเลยค่ะ ทั้งที่เคยเห็นตามถนน สติกเกอร์รถบรรทุก ประตูบานเฟี้ยม แกลลอน ตะกร้าลังในตลาด หรืออย่างการจัดโต๊ะในร้าน ก็จะมีโต๊ะใหญ่ๆ นั่งได้หลายๆ คน มีโต๊ะกลมด้วย เพราะเราเชื่อเรื่องของการแชร์กัน การมากินดื่มด้วยกัน สร้างบรรยากาศที่สามารถเติมเต็มให้ลูกค้าได้มีที่ปลดปล่อยให้เขาอีกที่หนึ่ง เราจึงเชื่อมั่นในคอนเซปต์ ‘อาหารสร้างชาติ’ กินให้มีความสุขพร้อมทำงานในวันต่อไป

 

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าที่นี่จะให้ความรู้สึกแบบร้านอิซากายะแบบไทยๆ เพราะฉะนั้นการบริการก็จะต้องมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นหรือไม่

แบงค์: คงไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะเราก็มีสไตล์ของเรา เราสนุกอย่างไทย เราพยายามจะสอดแทรกความครีเอทีฟลงไปในการบริการ เราก็จะมีการบรีฟการให้บริการกับลูกค้า คิดมาเยอะมาก ทำไงดี เราเองก็กลัวลูกค้าตกใจ และจะทำอย่างไรให้มันสนุกที่สุด ซึ่งเราก็ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดพนักงานเข้ามาทำงาน เราโฟกัสที่ทัศนคติของเขา เพราะสิ่งที่เราได้คือความเป็นตัวเขา และเราต้องการเด็กที่สนุกจริงๆ ซึ่งในแง่ของการบริการ เราสุภาพแต่สนุกสนาน เป็นกันเองขึ้น ไม่อยากให้ลูกค้ารู้สึกกดดัน อย่างเวลาสั่งถั่วทุกคนในร้านก็จะต้องส่งเสียงขึ้นมา ให้เกิดบรรยากาศของความเฮฮา เราอยากสร้างวัฒนธรรมให้ลูกค้าได้รู้ว่าตอนนี้ถั่วมาละนะ สร้างความสนใจให้คนรู้ว่าถั่วมาละนะ ลูกค้าเฮไปกับเราด้วย หรืออย่างเวลาเราเสิร์ฟน้ำจิ้มเราก็มีเป็นกลอน ‘น้ำจิ้มแจ่วสุดสะแด่วสุขอุรา แจ่วปลาร้าคลายความเหนื่อยเมื่อยล้า ศรีราชาเพิ่มเติมความเฮฮา ซีฟู้ดรสเด็ดที่นำมา จะนำพาความฟินและชื่นอุราแก่ทุกท่านเอย’ หรือ ‘กินให้เฮ เทให้สนุกนะครับ’

 

 

ถ้าให้เลือกหนึ่งเมนูที่คุณอยากจะกินเฮไปทั้งปี คุณจะเลือกกินอะไร

เชฟอาร์ต: ผมเลือกก๋วยเตี๋ยวต้มยำซี่โครงหมูหมูคุโรบูตะ ความเข้มข้นตามสไตล์ต้มยำของเราเสิร์ฟเข้าไปในจาน หาไม่ได้ในประเทศไทยในรสชาติแบบนี้

 

อ้อม: ต้องเป็นเต้าทึงนมสดหิมะเท่านั้นค่ะ (หัวเราะ) ชอบตั้งแต่ตอนเทสต์ ตัวเครื่องที่ใส่มันเยอะมาก และเป็นการทวิสต์ที่ดี ไม่หวานเกินไป

 

พิ้ง: กุ้งคั่วซีเรียล มันจะมีความหวานของซีเรียลที่เชฟเอาไปผัดคลุกเนยกระเทียม ผสมซีเรียล และมันจะ Caramelize หอม หวาน มันมาก

 

หนัน: โตเกียว ชอบมาก ชอบทุกไส้ มันเป็นไส้แปลกด้วยแหละ ทำให้เราคิดถึงสมัยเด็กๆ

 

เบลล์: เย็นตาโฟหม้อไฟค่ะ เพราะว่ามันเลือกได้ว่าเป็นข้าวหรือเส้น กินได้ทั้งปีจริงๆ นะ (หัวเราะ)

 

แอมมี่: ขอเลือกของทานเล่นค่ะ อย่างตะบองแดง เป็นเฟรนช์ฟรายส์คลุกเครื่องแกง พริกแดง

 

แบงค์: ของผมต้อง ‘ยำถั่ว’ เพราะเมื่อไรที่สั่งก็จะได้เฮได้ทุกรอบ เหมาะจะเป็นกับแกล้ม กินได้ตลอดอยู่คู่ทุกโต๊ะได้

 

FYI
  • KIN+HEY by Greyhound Café ตั้งอยู่บนชั้น 2 โครงการ Groove@CentralWorld พร้อมเสิร์ฟทั้งอาหารกลางวัน ของกินเล่นยามบ่าย และอาหารเย็นที่สามารถลากยาวไปถึงค่ำคืน โดยวันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 11.00-24.00 น. และวันอาทิตย์ถึงวันพุธ ตั้งแต่ 11.00-23.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/KINHEYBKK
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X