×

ภาครัฐ-เอกชนไม่อิน! บทสรุป 1 เดือน หลัง Narayana Murthy ชูไอเดียทำงาน 70 ชั่วโมง/สัปดาห์ ทำไมองค์กรอินเดียไม่เล่นด้วย?

27.12.2023
  • LOADING...
Narayana Murthy

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • เป็นเวลาครบ 1 เดือนแล้วที่ Narayana Murthy ผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทไอทีรายใหญ่ ได้แนะนำให้ชาวภารตะทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มผลผลิตและแข่งขันกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ล่าสุดสื่อแดนโรตีติดตามอัปเดตเสียงตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน และฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหลายบริษัทในประเทศ ซึ่งปรากฏว่ายังไม่พบการนำแนวคิดจากนายทุนใหญ่ไปดำเนินการจริงจังในระดับชาติ
  • ฝั่งรัฐบาลอินเดียได้ปฏิเสธว่าไม่มีมติหรือการพิจารณาให้ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร สื่ออินเดียจึงแปลความหมายว่ารัฐบาลไม่ได้ขานรับหรือสนับสนุนไอเดียล่าสุดที่นักลงทุนรายใหญ่ในชาติเสนอมา
  • ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลหรือ HR แบ่งรับแบ่งสู้ว่าการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ควรยึดจากตัวเลขชั่วโมงทำงาน แต่ควรใช้ดุลยพินิจที่นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากบางทีมงานอาจสามารถผลิตงานดีได้ในเวลาไม่ถึง 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้นผลลัพธ์ของงานจึงไม่สามารถวัดเป็นจำนวนชั่วโมงได้โดยตรง พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีบริษัทใดต้องการทำลายสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงานแน่นอน

ถือเป็นข่าวในสังคมอินเดียที่ชาวโลกสนใจอย่างมาก สำหรับการที่รัฐบาลอินเดียชี้แจงว่ายังไม่มีข้อเสนอให้พิจารณาแนวคิดเรื่องการเปิดไฟเขียวกระตุ้นให้คนในชาติทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดย Rameswar Teli รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของอินเดีย ยืนยันว่าไม่มี ‘ข้อเสนอใดที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มเวลาทำงาน’ อยู่ระหว่างการพิจารณาแม้แต่เรื่องเดียว

 

คำชี้แจงนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อแนวคิดที่เสนอโดย N.R. Narayana Murthy ผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys ซึ่งแนะนำว่าเยาวชนอินเดียควรทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและแข่งขันกับนานาประเทศบนเวทีโลก โบราณว่าจิ้งจกทักยังต้องฟัง ดังนั้นคำแนะนำนี้จึงเป็นเหมือนเสียงกระตุ้นจากนายทุนใหญ่ระดับชาติที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ฝ่ายค้าน 3 คนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอจุดยืนของรัฐบาลอินเดียต่อข้อเสนอนี้ โดย สส. ฝ่ายค้านของอินเดียเชื่อว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลอินเดียต้องบอกให้ชัดเจนว่ากำลังประเมินข้อเสนอแนะการทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการผลิตในประเทศอยู่หรือไม่?

 

นอกจากจะปฏิเสธว่าไม่ได้พิจารณาข้อเสนอนี้แล้ว รัฐบาลอินเดียยังพยายามตอบกระทู้ที่ สส. อินเดียต้องการทราบแนวทางเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องชั่วโมงทำงาน เนื่องจากตามหลักการสากลนั้นมีกฎระเบียบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดให้จำกัดการทำงานของพนักงานไว้สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง โดยอาจขยายเวลาเป็น 48 ชั่วโมงหากทำงานล่วงเวลาได้ ซึ่ง Priyank Kharge รัฐมนตรีกระทรวงไอทีของรัฐกรณาฏกะ ได้แสงสปอตไลต์จากการอภิปรายหัวข้อนี้ไป เนื่องจากเขาเน้นว่าบริษัทต่างๆ ควรมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานมากกว่าการกำหนดให้ชั่วโมงทำงานยาวนานขึ้น

 

 

เอกชน (ก็) ไม่เอาด้วย

 

ไม่เพียงหน่วยงานภาครัฐ แต่องค์กรเอกชนในอินเดียก็ยังไม่เห็นด้วยกับไอเดีย ‘ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ โดยต้นเรื่องของกระแสนี้เริ่มมาจากที่พอดแคสต์ The Record บนช่อง YouTube ของ 3one4 Capital ซึ่ง Murthy ได้สนทนากับ Mohandas Pai อดีต CFO ของ Infosys เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ประสิทธิภาพการทำงานของคนอินเดียอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุดในโลก ภาวะนี้ทำให้ Murthy เชื่อว่าเยาวชนของประเทศจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานพิเศษในลักษณะเดียวกับที่คนญี่ปุ่นและเยอรมนีได้ลงมือทำในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหากทำได้ อินเดียจะมีโอกาสแข่งขันกับประเทศอย่างจีนได้ดีขึ้น 

 

ไม่มีใครรู้ว่าคำแนะนำนี้ได้ผลจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้คือคำว่า ‘ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ นั้นเป็นเหมือนมีดกรีดใจคนทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงพนักงาน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่ก็ไม่คล้อยตามด้วย โดยบางส่วนบอกว่าคำพูดของ Murthy ไม่ได้เกี่ยวกับแค่จำนวนชั่วโมงในการทำงาน แต่ไอเดียของเขากำลังสะท้อนผลกระทบสำคัญที่อาจเกิดจากเวลาทุกนาทีที่พนักงานจะต้องยอมสละให้กับงานที่ทำอยู่

 

Sushil Baveja ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Jindal Stainless บริษัทผลิตสเตนเลส แสดงความเห็นกับสำนักข่าว News18 ว่าในฐานะองค์กรที่มีความคิดล้ำสมัย บริษัท Jindal Stainless ได้สนับสนุนแนวทางเชิงปฏิบัติที่นอกเหนือไปจากเกณฑ์มาตรฐานนับชั่วโมงทำงานแบบดั้งเดิม เพราะเชื่อมั่นว่าภูมิทัศน์ทางธุรกิจในปัจจุบันได้มอบโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับเยาวชนในการเพิ่มความสามารถและปลดปล่อยศักยภาพ ดังนั้นการทำงานจึงไม่ใช่เรื่องของการนับว่าทำไปแล้วกี่สิบชั่วโมง แต่เป็นเรื่องของความเต็มใจที่จะใช้ความพยายามในการตัดสินใจ การริเริ่ม การสร้างคุณค่า และดำเนินการมอบหมายงานที่ขยายออกไป ควบคู่ไปกับการบูรณาการชีวิตการทำงานที่ยั่งยืน

 

ด้าน Hemalatha Raghuvanshi ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และผู้ร่วมก่อตั้ง Sekel Tech บริษัทไอที กล่าวถึงไอเดียการทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ว่า ชาวโลกไม่ควรแยกพิจารณาคำแนะนำนี้เป็นวลีเดี่ยว แต่จะต้องเข้าใจบริบทโดยรอบว่า Murthy หมายถึงอะไร ซึ่งส่วนตัวของ Raghuvanshi ไม่คิดว่าคำแนะนำนี้เป็นเรื่องของจำนวนชั่วโมง แต่เกี่ยวกับการทำงานเชิงรุก ความรับผิดชอบ และการยกระดับประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตของคนทำงานแต่ละคน

 

Raghuvanshi เชื่อว่าไม่มีบริษัทใดต้องการทำลายสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงาน และกล่าวเสริมว่าการทำงานแบบเชิงรุกที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของบริษัทนั้นจะช่วยพัฒนาและผลักดันพนักงานที่มีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เติบโตได้

 

“ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เราต้องเข้าใจด้วยว่าแทนที่จะนิ่งเฉย เราควรต้องออกจากเขตคอมฟอร์ตโซนที่เรารู้สึกสะดวกสบาย แล้วก้าวไปอีกขั้นเพื่อทำสิ่งต่างๆ” 

 

 

เช่นเดียวกับ Nivedita Kannan หัวหน้าฝ่ายบุคคลของบริษัท Mudrex มองว่าการทำงานในแต่ละสัปดาห์นั้นไม่สามารถประเมินผลได้โดยอาศัยจำนวนชั่วโมงสะสมที่พนักงานได้ทุ่มเทสละให้ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานไม่สามารถวัดปริมาณได้โดยตรงในรูปแบบเวลางาน จำนวนชั่วโมงจึงเป็นการวัดผลที่ไม่เป็นที่นิยม เพราะได้ละเลยบริบทหลักอื่นไปในหลายกรณี เช่น ในทีมงานของบางบริษัทที่มีการประสานงานดีเยี่ยมเต็มที่อาจทำงานได้มีประสิทธิผลมาก โดยมีจำนวนชั่วโมงทำงานลดน้อยลงใน 1 สัปดาห์ เมื่อพนักงานสามารถเข้าถึงเครื่องมือ ทรัพยากร และเครือข่ายที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม Vinod Khosla ผู้ร่วมก่อตั้ง Sun Microsystems กลับออกมาสนับสนุนมุมมองของ Murthy ว่าจะช่วยให้เยาวชนอินเดียเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก โดยระบุว่าหากต้องการมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ก็ควรต้องยอมรับระบบอัตโนมัติและต้องทำงานมากขึ้น

 

Khosla ยังอธิบายเพิ่มเติมบน X (Twitter) ว่าคนหนุ่มสาวที่มีความทะเยอทะยานควรทำงาน 70 ชั่วโมงเพื่อซื้อ ‘บ้านหรือรถยนต์ขนาดใหญ่’ จุดนี้ทำให้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยที่ Khosla ให้ความสำคัญกับวัตถุและงานมากเกินไป ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับ Bill Gates เจ้าพ่อ Microsoft ที่ย้ำว่างานไม่ใช่ส่วนสำคัญของชีวิต และพยากรณ์ว่าพัฒนาการของระบบอัตโนมัติที่ทำให้ผู้คนทำงานเร็วขึ้นนั้นอาจทำให้เวลางานในอนาคตลดเหลือเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ก็ได้

 

จากไอเดียข้างต้น มีชาวอินเดียรายหนึ่งให้ความเห็นติดตลกไว้ว่าทั้ง Murthy และ Gates กำลังเสนอให้ผู้คนทำงานนานขึ้นหรือน้อยลงตามโอกาสสร้างรายได้เข้าบริษัทของแต่ละคน เนื่องจากบริษัทของ Gates นั้นทำเงินจากโซลูชันซอฟต์แวร์ที่ทำให้คนทำงานเร็วขึ้น จึงมีการเสนอให้ผู้คนทำงานน้อยลง แต่ฝั่ง Murthy นั้นสร้างเม็ดเงินเข้าบริษัทตามจำนวนและปริมาณการใช้งาน แปลว่ายิ่งพนักงานใช้ระบบทำงานมากเท่าใด บริษัทของ Murthy ก็อาจยิ่งทำรายได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีการตอบโต้ความคิดเห็นนี้อย่างเป็นทางการ

 


ประชาชนไม่อิน ภาครัฐก็ไม่ชง


ไม่เพียงหน่วยงานเอกชนและภาคประชาชนทั่วไปที่ไม่อินหรือไม่มีอารมณ์ร่วมกับข้อเสนอให้ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ของ Murthy สื่ออินเดียยังตีความว่ารัฐบาลอินเดียปฏิเสธแนวคิดนี้อย่างชัดเจน โดยมองว่าการที่ Teli ยืนยันว่ารัฐบาลอินเดียยังไม่มีแผนสำหรับข้อเสนอแนะทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจไม่ได้มีสาเหตุที่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจิตประชาชนเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การป้องกันไม่ให้เกิดภาพลวงตาที่อาจชวนทำให้เข้าใจผิดว่าชั่วโมงทำงานมากขึ้นหมายถึงประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้น

 

ณ ตอนนี้สังคมอินเดียพยายามตั้งคำถามกับสมมติฐานที่ว่า ความสำเร็จในอาชีพเป็นตัวกำหนดจุดประสงค์ของชีวิต โดยมีเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาพิจารณาเรื่องคุณค่าของการทำงานหนักเกินไปและความพึงพอใจส่วนบุคคล ซึ่งที่สุดแล้วแม้ว่ามุมมองที่ทะเยอทะยานของผู้นำธุรกิจในอินเดียจะได้รับความสนใจ แต่หน่วยงานในแดนภารตะก็ยังเลือกที่จะปฏิเสธอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ให้เกิดสภาวะการทำงานหนักเกินไปตามคำสั่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้อินเดียควรจะพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นก็จริง แต่การทำงาน 70 ชั่วโมงนั้นย่อมเป็นทางเลือกที่พนักงานควรจะสามารถมีสิทธิ์เลือกทำหรือไม่ทำก็ได้

 

ที่สำคัญชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นไม่ควรแปลว่าได้งานมาก เพราะการทำงานที่ชาญฉลาดและมีความหมายซึ่งสร้างผลกระทบนั้นจะมีคุณค่ามากกว่าตัวชี้วัดด้วยชั่วโมงที่แสนจะตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ดังนั้นองค์กรจึงควรหาแนวทางอื่นเพื่อกระตุ้นการทำงานของพนักงานอย่างเหมาะสมแทน

 

สองสุดยอดแนวทางซึ่งผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลแทบทุกคนแนะนำในองค์กรลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจังคือการ ‘สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน’ และการ ‘ปลูกฝังกรอบความคิดในการเป็นเจ้าของงานนั้น’ ซึ่งทั้งสองแนวคิดนี้สามารถทำได้ทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่หน่วยงานอินเดียไปจนถึงสัญชาติอื่นทั่วโลก รวมถึงพนักงานไทยที่อาจทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากกว่าการนับชั่วโมง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising