×

จับตาสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ ‘เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย’ หลังผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนดักซุ่มรอที่หน้าบ้าน

โดย THE STANDARD TEAM
21.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 มกราคม) องค์กร Protection International (PI) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานร่วมกับผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นำโดย ศยามล ไกยูรวงศ์, ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ของ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย หลังถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มชายฉกรรจ์ ตามหนังสือที่ PI ได้ส่งเรื่องไปยัง กสม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

 

สุธีรา เปงอิน ตัวแทนจากองค์กร PI กล่าวว่า ผ่านมากว่า 17 ปี แล้วที่ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ต้องต่อสู้และเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องเผชิญการถูกคุกคามทั้งทางกายภาพ จิตใจ และถูกคุกคามโดยกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด

 

ที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย PI และ PPM ได้มีการประเมินสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยต่างๆ ร่วมกัน พบว่าขณะนี้มีสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มอย่างน้อย 2 คน ซึ่งทั้งสองเป็นผู้หญิงและเป็นกำลังหลักในการดูแลการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูหลังจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่

 

รวมถึงเป็นตัวแทนหลักในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและการเคลื่อนไหวต่อสู้ในชุมชน ซึ่งจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ประกอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เราจึงทำหนังสือเรียกร้องให้ กสม. หามาตรการในการคุ้มครองอย่างเร่งด่วนและขอให้ประสานงานและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม 2 ข้อ คือ

 

  1. ประสานงานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหามาตรการในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง รวมทั้งให้มีการยุติการใช้ความรุนแรง ยุติการข่มขู่ และการคุกคาม และทำให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิในการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้

 

  1. จัดประชุมหารือร่วมกับ PI ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และ PPM เพื่อหามาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมไปถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ เพื่อหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ ในกรณีดังกล่าว และกรณีอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงด้วย

 

ขณะที่ รจนา กองแสง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ได้กล่าวในการประชุมว่า ตั้งแต่ที่บริษัท บริหารและการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือเจนโก้ ประมูลสินแร่ได้ ชาวบ้านยังทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ในฐานะหนึ่งในเจ้าหนี้ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่เจนโก้กำลังจัดการเรื่องหาพนักงานรักษาความปลอดภัย

 

ช่วงนั้นมีกลุ่มคนที่เข้ามาลักลอบขโมยของในเหมืองประมาณช่วงเดือนกันยายน ซึ่งช่วงนั้นเราได้ขอความร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้านให้จัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อที่จะวนดูรอบเหมือง เมื่อเจอกลุ่มคนลักขโมย ชุด ชรบ. ก็ต้องติดต่อมาที่เรา เรามีหน้าที่ในการดูแลอยู่ตรงนี้เลยไปแจ้งความดำเนินคดี และเราแจ้งเจนโก้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะว่าตอนนี้ผู้ต้องหาก็มองว่าเราแจ้งจับเขา แต่คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์จริงๆ คือเจนโก้ กลับไม่ทำอะไรเลย ตำรวจที่ดูแลคดีก็เรียกเราไปสอบปากคำเพิ่มเติม และบอกว่าเราเป็นคนแจ้งความต้องไปดำเนินคดีต่อและต้องเป็นพยานในชั้นศาล

 

รจนายังได้เล่าเหตุการณ์ของการถูกข่มขู่คุกคามให้กับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐจากกรมการปกครองมายิงปืนใส่พวกเรา และแม้คนร้ายจะถูกจับกุมและให้ออกจากงานแล้ว หลังจากเหตุการณ์นั้นพวกเราก็โดนข่มขู่คุกคามมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในส่วนของพ่อค้าที่ต้องการเข้ามาดูสินทรัพย์ในเหมือง ตามไปหาไปข่มขู่เราถึงที่บ้าน เราบอกไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปดูได้เพราะต้องรอการประชุมและผู้มีอำนาจทุกภาคส่วนยินยอมก่อน เมื่อเราไม่ยอมก็โกรธและแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามเรา บางวันก็มีชายฉกรรจ์มาซุ่มดูที่หน้าบ้านเรา ที่เราทำคือรักษาบ้านของเรา อยากให้ทุกหน่วยงานเข้าใจว่าเราเจอการคุกคามอยู่แบบนี้ตลอดเวลา

 

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ยังได้บอกเล่าถึงความกังวลเพิ่มเติมอีกว่า ที่เจนโก้เข้ามาตอนนี้ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเขาไม่ทำตามแผนที่เราได้พูดคุยและวางร่วมกันไว้ ที่เราได้พูดคุยทำสัญญากันไปคือเขาต้องกำจัดสารพิษด้วย เพราะเขาเป็นบริษัทที่รู้เรื่องสารมลพิษดี ครั้งเมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ในโรงงาน ขณะที่บริษัทดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างเหมืองนั้นทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่าไม่มีการวางมาตรการอะไรรองรับสถานการณ์ไฟไหม้เลย ไม่มีถังดับเพลิงเตรียมไว้ ส่วนมากมีแต่บริษัทผู้รับจ้างงานช่วงเท่านั้นที่ดูแลอยู่ พวกเราถึงได้ยกหูโทรให้มาดับเพลิง

 

นอกจากนี้ในส่วนของการจัดการสารมลพิษที่เราเห็นคือไม่ได้มาตรฐานอะไรเลย ซึ่งหากเจนโก้ไม่ไปวางมาตรฐานในการรื้อถอนและการจัดเก็บสารมลพิษที่ปลอดภัยทั้งกับพื้นที่และคนงานเองให้กับบริษัทผู้รับจ้างงานช่วง และปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญหน้าเองกับบริษัทผู้รับจ้างงานช่วง ความโกรธก็จะมีมากขึ้นและการคุกคามที่จะมาถึงพวกเราก็จะมีมากขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือนานร่วมสองชั่วโมง ศยามลได้ออกมาเปิดเผยถึงผลสรุปในการหารือร่วมกันในครั้งนี้ว่า เราได้บทสรุปในการหารือที่เป็นรูปธรรมหลายส่วน โดยส่วนของการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รวมทั้งนายอำเภอวังสะพุง ได้มีข้อตกลงที่ชัดเจนร่วมกันว่าหากมีเหตุความรุนแรงหรือการถูกข่มขู่คุกคามเกิดขึ้น ให้แจ้งเรื่องไปที่ผู้ใหญ่บ้านที่กำกับควบคุมชุด ชรบ. ได้เลย 

 

หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านก็จะทำการแจ้งไปที่นายอำเภอ และสามารถสั่งให้คนมาลาดตระเวนได้ ส่วนในกรณีของ สภ.วังสะพุง ผู้กำกับมาเองและบอกว่าหากมีเหตุก็สามารถแจ้งไปที่ผู้กำกับได้เลย ซึ่งปกติจะมีตำรวจมาลาดตระเวนอยู่แล้ว แต่อาจไม่ทุกวัน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านและตำรวจ ซึ่งเรื่องนี้ทางรองผู้ว่าฯ ก็จะเข้าไปคุยกับคณะทำงานฟื้นฟูเหมืองแร่ ซึ่งรองผู้ว่าฯ รับปากว่าจะไปพูดคุยให้โดยเร็ว เน้นย้ำไปที่การรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ

 

หากในอนาคตมีการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิฯ เราจะเร่งดำเนินการภายใน 1 เดือน กรณีนี้ที่ลงมาเร่งด่วนเนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้มีการแจ้งไปที่ตำรวจ และทาง PI ก็ร้องไปที่กรมฯ ก็มีการแจ้งไปยังตำรวจเพื่อเข้ามาดำเนินการ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่หลายหน่วยงานเร่งดำเนินการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising