×

ชมคลิป: เปิดบทสัมภาษณ์ เจมส์ นาคท์เวย์ ช่างภาพสงครามระดับตำนาน | GLOBAL FOCUS #41

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2023
  • LOADING...

“ผมเป็นพยาน และภาพเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานของผม เหตุการณ์ที่ผมบันทึกไว้ไม่ควรลืมและจะต้องไม่เกิดซ้ำ”

 

นี่คือคำกล่าวจาก เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) หนึ่งในช่างภาพสงครามที่มีความสามารถและผลงานอัน ‘ยิ่งใหญ่’ และ ‘ยอดเยี่ยม’ ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา

 

THE STANDARD พาไปพูดคุยกับชายที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘พยานแห่งสงคราม’ จากการทำงานบันทึกภาพในพื้นที่สงคราม ความขัดแย้ง และภัยพิบัติเกือบทุกมุมโลกตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา สงครามกลางเมืองในซูดาน โคโซโว วิกฤตการเมืองอินโดนีเซียและไทย ภัยพิบัติสึนามิ และล่าสุดคือสงครามในยูเครนจากการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งเขาเดินทางไปถึงพื้นที่แนวหน้าของสมรภูมิ เพื่อบันทึกภาพความเลวร้ายและโศกนาฏกรรมจากสงคราม

 

อีกทั้งยังเคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมากมาย ทั้งถูกยิงที่ขาระหว่างถ่ายภาพวิกฤตประท้วงในไทย บาดเจ็บจากระเบิดในเอลซัลวาดอร์ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนครกในเบรุต ระเบิดโจมตีขบวนรถในอิรัก

 

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในเรื่องราวการทำงานของเจมส์ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายอันน่าทึ่ง ทั้งบอกเล่าเรื่องราว สื่ออารมณ์ และฉายให้เห็นภาพสะท้อนของนานาชีวิตที่ยังคงได้รับผลกระทบจากร่องรอยของสงครามและภัยพิบัติ

 

ขณะเดียวกันยังสะท้อนความเชื่อของเขา ที่มองว่า “”ภาพถ่ายภาพนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงหลากหลายสิ่งบนโลกใบนี้ได้”” รวมถึง ‘มโนสำนึก’ และ ‘พฤติกรรม’ ของมนุษย์ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งต่างๆ

 

ทั้งนี้ ผลงานภาพถ่ายของเจมส์ ถูกนำมาจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในไทย และครั้งแรกในเอเชีย-แปซิฟิก ในชื่องาน ‘เจมส์ นาคท์เวย์: ห้วงความทรงจำ’ หรือ ‘James Nachtwey: Memoria’ ซึ่งรวบรวมเอาภาพถ่ายของสงครามและภัยพิบัติตลอดชีวิตการทำงานเป็นช่างภาพสงคราม และช่างภาพข่าวกว่า 42 ปี จำนวน 126 ภาพ รวมถึงผลงานล่าสุดจากสงครามและโศกนาฏกรรมในยูเครน ที่ถูกนำมาเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลก

 

งานนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Photographic Society of Thailand), มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ (Photographic Arts Foundation) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre: BACC) โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการ มีต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน – 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเปิดให้ชมฟรี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rpst.or.th/

 

📌 พิเศษ! ซื้อบัตร Early Bird THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ได้แล้วที่ https://thestandard.co/zipeventapp/e/…

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising