×

รู้จัก ‘Bubble and Seal’ มาตรการสกัดเชื้อโควิด ป้องกันลามสู่ภาคการผลิต บริหารจัดการอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง?

02.08.2021
  • LOADING...
Bubble and Seal

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ออกประกาศให้โรงงาน แคมป์คนงาน และบริษัทในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มต้องทำมาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศ หลังจากที่ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา มีโรงงานมากกว่า 1,600 แห่ง ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อ

 

หลายคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดอาจเกิดความสงสัยว่ามาตรการนี้คืออะไรและมีข้อดีอย่างไรบ้าง บทความนี้ของ THE STANDARD WEALTH จึงอาสาพาไปทำความรู้จักกับเจ้ามาตรการ Bubble and Seal นี้

 

Bubble and Seal คืออะไร?

 

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า Bubble and Seal เป็นแนวคิดในการควบคุมโรคสําหรับกลุ่มคนที่แข็งแรงและสามารถอยู่เป็นกลุ่มหรือจัดการให้อยู่ในกลุ่มได้ในพื้นที่จํากัด โดยใช้การสุ่มตรวจแบบ RT-PCR หรือ ATK เพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้ามีความชุกติดเชื้อประมาณ 10% ขึ้นไป ให้เอาคนที่มีผลเป็นบวกแยกออกไปอยู่ รพ.สนามที่เตรียมเอาไว้ ส่วนที่เหลือทํางานต่อไปโดยไม่ต้องตรวจคนที่เหลือทั้งหมดแต่ให้เฝ้าระวัง หากพบคนมีอาการให้ตรวจ ถ้าผลเป็นบวกให้แยกออกไปรักษา ซึ่งผลดีของมาตรการนี้คือ โรงงานไม่ต้องปิด แรงงานยังได้รับค่าจ้าง ไม่หนีไปแพร่โรค รวมทั้งลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการหยุดกิจการ

สำหรับสถานที่และกลุ่มก้อนที่แนะนําให้ดําเนินมาตรการ Bubble and Seal คือ สถานประกอบการ แคมป์คนงาน หรือสถานที่ที่มีคนทํากิจกรรมประจําวันร่วมกันจํานวนมากหรือแออัดมากกว่า 500 คนขึ้นไป และพบความชุกของการติดเชื้อสูงมากกว่า 10%

โดยปัจจุบันมาตรการ Bubble and Seal นี้มีการนํามาใช้ในหลายประเทศในลักษณะแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยได้นํามาตรการดังกล่าวมาใช้ครั้งแรกในการควบคุมการระบาดของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร และได้มีการประยุกต์ใช้สําหรับควบคุมการระบาดในเรือนจําหลายแห่ง

 

ก่อนเริ่ม Bubble and Seal ต้องทำอะไรบ้าง?

  • ก่อนเริ่มมาตรการจะต้องมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกําหนดแผนการดําเนินงาน ขั้นตอน และรายละเอียดเกี่ยวกับการทํา Bubble and Seal จนถึงแผนการปล่อยตัวออก (Exit Plan)
  • จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ

 

  • จัดเตรียมสถานที่พักในโรงงานหรือในชุมชนให้ชัดเจน พร้อมจัดทําทะเบียนพนักงานเพื่อใช้สําหรับการติดตามตัว รวมถึงแต่งตั้งผู้ควบคุมและจัดทําข้อมูลการลงทะเบียนเข้า-ออก

  • จัดระบบเดินทางรับ-ส่งคนงานจากที่พักถึงโรงงาน/สถานประกอบการ โดยสําหรับกลุ่มที่เดินเท้ากลับที่พัก ให้มีการตั้งแถวและมีผู้ควบคุมตลอดเส้นทางเดิน ส่วนพนักงานไป-กลับให้จัดหารถรับ-ส่งพนักงาน โดยไม่แวะทำธุระระหว่างเดินทาง และเมื่อกลับถึงที่พักต้องอยู่ภายในที่พักเท่านั้น

 

  • จัดเตรียมสิ่งอํานวยความสะดวกในการดําเนินชีวิตของคนงาน เช่น ร้านขายสินค้าราคาถูกในโรงงาน ร้านขายวัตุดิบเพื่อนำไปปรุงอาหาร

 

  • เตรียมความพร้อมด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ

 

Bubble and Seal บริหารจัดการอย่างไร?

  • หลังการสุ่มสารคัดหลั่งให้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อจะถูกคัดแยกเข้าสู่ รพ.สนาม จากนั้นทําการจัดกลุ่มคน (Bubble) ตามความเสี่ยงหรือกิจกรรม
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภาวะอ้วน ให้ทําการตรวจ PCR ทุกคน ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อให้เข้ารับการรักษา หากไม่พบการติดเชื้อและยังไม่ได้รับวัคซีนให้ฉีดวัคซีนและไม่ให้มีกิจกรรมข้ามกลุ่มโดยเฉพาะผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ

 

  • ผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงสามารถจัดให้เป็นกลุ่มย่อยๆ (Small Bubble) ตามกิจกรรม การทํางาน หรือการดําเนินชีวิต
  • ในแต่ละกลุ่มย่อย (Small Bubble) ให้มีผู้ทําหน้าที่ตรวจสอบอาการป่วย หากพบผู้มีอาการป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ให้เก็บตัวอย่างตรวจ

 

  • ควรสุ่มตรวจหาภูมิต้านทานเมื่อทําการ Bubble ไปแล้ว 14-21 วัน โดยแนะนําว่าหากการระบาดมีความรุนแรงกว้างขวาง (ความชุกของผู้ติดเชื้อสูงกว่าร้อยละ 10 จากการสุ่มตรวจหรือค้นหาผู้ติดเชื้อ) ให้สุ่มตรวจราววันที่ 14 หากการระบาดมีความรุนแรงน้อย (ความชุกของผู้ติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 10 จากการสุ่มตรวจหรือค้นหาผู้ติดเชื้อ) ให้สุ่มตรวจภูมิต้านทานราววันที่ 21

 

  • ผู้ที่มีผลตรวจภูมิต้านทานเป็นบวก ให้อยู่ใน Bubble อีก 7 วัน จากนั้นสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ผู้ที่มีผลการตรวจภูมิคุ้มกันเป็นลบ ให้สุ่มตรวจเพื่อประเมินโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ชุมชน

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าสามารถหยุด Bubble and Seal ได้แล้ว?

 

โรงงานและสถานประกอบการสามารถหยุดมาตรการ Bubble and Seal ได้เมื่อมีสัดส่วนคนที่มีภูมิต้านทานสูง ผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนครบถ้วน ซึ่งโรงงานจะต้องจัดทำทะเบียนประวัติพนักงาน เพื่อให้รู้ว่ามีใครเคยติดเชื้อ ใครได้รับวัคซีน และทำการสุ่มตรวจหาภูมิต้านทานในคนที่เหลือเป็นระยะ หากพบว่าคนติดเชื้อ คนมีภูมิ และคนได้รับวัคซีนรวมกันแล้วมากกว่า 70% ของพนักงานทั้งหมด อาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการนี้

 

อ้างอิง: กรมควบคุมโรค

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising