×

จับตาสถานการณ์ ‘EU ปั่นป่วน ราคาก๊าซพุ่ง’ หลังรัสเซียระงับส่งก๊าซ อ้างเหตุผลตะวันตกคว่ำบาตร

06.09.2022
  • LOADING...
ราคาก๊าซ

สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในสหภาพยุโรป (EU) พุ่งสูงกว่า 30% เมื่อวานนี้ (5 กันยายน) หลังจากที่รัสเซียยังคงระงับการส่งก๊าซผ่านท่อส่ง Nord Stream 1 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซหลักไปยัง EU โดยอ้างเหตุผลจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิคของอุปกรณ์ใบพัดในท่อส่ง และการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่ทำให้การซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ขัดข้องนั้นทำได้ยากลำบาก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือความกังวลต่อวิกฤตพลังงานที่กำลังทวีความรุนแรงไปทั่วภูมิภาค

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ EU กล่าวหารัสเซียว่าพยายามจะใช้ก๊าซเป็น ‘อาวุธ’ เพื่อข่มขู่ชาติตะวันตกให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากกรณีของสงครามยูเครน

 

ที่มาที่ไปของสถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และผลกระทบจากการระงับส่งก๊าซของรัสเซียจะรุนแรงมากหรือน้อยแค่ไหน THE STANDARD จะมาสรุปให้เข้าใจกัน

 

รู้จักท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1

 

  • ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 เป็นของบริษัท Gazprom ผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2011 มีความยาวถึง 1,198 กิโลเมตร ทอดยาวจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กผ่านใต้ทะเลบอลติกไปยังเมืองลุบมิน ใกล้กับไกรฟส์วาลด์ ในรัฐเมคเลินบวร์คฟอร์พ็อมเมิร์น (Mecklenburg-Vorpommern) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี

 

  • Nord Stream 1 เป็นท่อส่งก๊าซหลักจากรัสเซียไปยังยุโรป และมีเยอรมนีเป็นผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ที่สุด ขณะที่รัสเซียเองก็เป็นผู้จัดส่งก๊าซรายเดียวที่ใหญ่ที่สุดของ EU โดยมีสัดส่วนก๊าซที่ส่งให้ EU คิดเป็นกว่า 40% ของปริมาณก๊าซที่มีการใช้งานทั้งหมด

 

  • เดิมที Gazprom มีแผนจะสร้างท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่อีกแห่งคือ Nord Stream 2 เพื่อเพิ่มกำลังการจัดส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปตะวันตกเป็นเท่าตัว แต่แผนถูกพับไปหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากทำสงครามบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

 

  • ขณะที่สหราชอาณาจักรไม่ได้พึ่งพิงก๊าซจากท่อ Nord Stream 1 แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดหรือระงับการจัดส่ง ซึ่งจะทำให้ราคาขายส่งก๊าซในยุโรปพุ่งสูงขึ้น

 

ปัญหาการจัดส่งก๊าซระหว่างรัสเซีย-EU เริ่มขึ้นตอนไหน?

 

  • การจัดส่งก๊าซจากรัสเซียไปยัง EU ลดลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

  • หลังเผชิญการคว่ำบาตรด้านการเงินอย่างหนักจากชาติตะวันตก รัฐบาลเครมลินเรียกร้องให้ชาติยุโรปและชาติที่ไม่เป็นมิตร จ่ายค่าก๊าซที่ซื้อด้วยสกุลเงินรูเบิล เพื่อพยายามพยุงเสถียรภาพของค่าเงิน แต่ก็มีหลายประเทศ EU ที่ไม่ยอมทำตาม เนื่องจากอ้างว่าเป็นการผิดข้อตกลงดั้งเดิมที่ทำไว้ 

 

  • ผลจากการไม่ยอมซื้อก๊าซรัสเซียด้วยเงินรูเบิล ทำให้จนถึงตอนนี้มีหลายประเทศและบริษัทพลังงานใน EU ที่ถูกรัสเซียตัดการจัดส่งก๊าซ เช่น บัลแกเรีย, ฟินแลนด์, โปแลนด์, บริษัท Orsted ของเดนมาร์ก, บริษัท Gasterra ของเนเธอร์แลนด์ และบริษัท Shell ที่มีสัญญาจัดส่งก๊าซกับเยอรมนี

 

  • ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Gazprom ได้ระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปเป็นเวลา 10 วัน เนื่องจากการซ่อมบำรุงท่อ Nord Stream 1 ประจำปี ก่อนจะกลับมาเปิดท่อส่งอีกครั้งในวันที่ 21 กรกฎาคม แต่ลดปริมาณการส่งก๊าซลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 20% ของกำลังการจัดส่งของท่อ Nord Stream 1 โดยอ้างว่าเป็นเพราะอุปกรณ์เกิดการชำรุดหรือสูญหาย

 

  • บริษัท Engie ของฝรั่งเศส กลายเป็นบริษัทล่าสุดที่ Gazprom แจ้งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าจะได้รับการจัดส่งก๊าซน้อยลงเนื่องจากข้อขัดแย้งในสัญญา

 

  • ผลที่ตามมาทำให้ อานเญส ปานนิเยร์-รูนาเชยร์ (Agnès Pannier-Runacher) รัฐมนตรีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของฝรั่งเศส แสดงท่าทีว่าประเทศต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดของการหยุดส่งก๊าซจากรัสเซียทั้งหมด และกล่าวหารัสเซียว่ากำลังเล่นเกมการเมืองโดยใช้ก๊าซเป็นเครื่องมือ

 

เหตุผลของรัสเซียในการปิดท่อ Nord Stream 1

 

  • การระงับส่งก๊าซรอบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Gazprom ประกาศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ว่าจะระงับการส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 ช่วงระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม จนถึง 2 กันยายน หรือเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำการซ่อมบำรุงในสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติปอร์โตวายา (Portovaya) ซึ่งเป็นสถานีเดียวที่อยู่ใกล้กับนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย

 

  • แต่ในวันที่ 2 กันยายน รัสเซียตัดสินใจฉีกเส้นตาย โดยประกาศว่า ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 จะถูกปิดและระงับการจัดส่งก๊าซต่อไปอีก เนื่องจากพบน้ำมันรั่วที่ใบพัดของท่อส่งก๊าซที่สถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติปอร์โตวายา

 

  • Gazprom อ้างว่า เหตุขัดข้องทางเทคนิคและความยากลำบากในการซ่อมแซมอุปกรณ์ใบพัดดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของ EU สหราชอาณาจักรและแคนาดา และท่อ Nord Stream 1 จะไม่มีการจัดส่งก๊าซจนกว่าการซ่อมแซมจะเสร็จสมบูรณ์

 

  • ตัวการหลักของปัญหาในครั้งนี้ Gazprom ระบุว่า เป็นเพราะชิ้นส่วนใบพัดขนาดยักษ์ SGT-A65 (Trent 60) ความยาว 12 เมตร หนัก 20 ตัน ที่ผลิตโดยบริษัท Siemens Energy ของเยอรมนี ซึ่ง Gazprom ได้ส่งไปซ่อมบำรุงในแคนาดาเมื่อเดือนกรกฎาคม หลังได้รับการยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตร

 

  • โดยชิ้นส่วนใบพัดยักษ์ดังกล่าว จำเป็นต้องส่งกลับมายังสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติปอร์โตวายาภายหลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุง แต่ Gazprom อ้างว่า มาตรการคว่ำบาตรของ EU สหราชอาณาจักรและแคนาดา ทำให้การจัดส่งใบพัดกลับไปยังรัสเซียไม่สามารถทำได้

 

  • เมื่อไม่สามารถจัดส่งใบพัดกลับไปยังรัสเซียได้ ตัวเลือกอื่นที่เหลือก็คือการซ่อมแซมใบพัดและอุปกรณ์ที่เสียหาย แต่ อเล็กเซ มิลเลอร์ (Alexei Miller) CEO ของ Gazprom ก็อ้างว่า มาตรการคว่ำบาตรหลายประการ ทำให้บริษัท Siemens Energy ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซ่อมบำรุงใบพัดของท่อ Nord Stream 1 ไม่สามารถเข้าทำการซ่อมบำรุงได้ตามปกติ 

 

  • ในขณะที่ทาง Siemens Energy บอกว่า ทางบริษัทนั้นไม่ได้รับมอบหมายหรือเกี่ยวข้องกับงานซ่อมบำรุงใบพัดตามที่ Gazprom กล่าวอ้าง แต่ก็แสดงความพร้อมที่จะช่วยหากมีความจำเป็น และยืนยันว่างานซ่อมบำรุงนั้นไม่ถูกรวมอยู่ในมาตรการคว่ำบาตร

 

ยุโรปมีท่าทีอย่างไร?

 

  • ท่าทีของรัสเซียที่อ้างเหตุผลจากการคว่ำบาตร ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูการจัดส่งก๊าซได้ ทั้งที่ EU ก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรหลายอย่างเพื่อเปิดทางให้มีการซ่อมบำรุง ส่งผลให้ผู้นำยุโรปกล่าวหารัสเซียว่ากำลังใช้การส่งออกก๊าซเป็น ‘อาวุธ’ สำหรับต่อรองและเล่นเกมการเมือง

 

  • โดย Gazprom ยืนยันหนักแน่นว่า ทางบริษัทไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการเริ่มต้นการจัดส่งก๊าซได้ สอดคล้องกับท่าทีของ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นยืนยันว่า รัสเซียไม่อาจฟื้นฟูการจัดส่งก๊าซเต็มรูปแบบผ่านท่อ Nord Stream 1 จนกว่าชาติตะวันตกจะยกเลิกการคว่ำบาตร และกล่าวโทษชาติตะวันตกว่าเป็นตัวการให้เกิด ‘ความวุ่นวาย’ จากการปฏิเสธการรับประกันตามกฎหมายว่าใบพัดที่ส่งไปซ่อมยังแคนาดานั้นจะถูกส่งกลับมายังรัสเซีย

 

  • อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก EU นั้นเป็นลูกค้าหลักที่นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ทำให้การระงับจัดส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 ดังกล่าว ก็หมายถึงรัสเซียไม่สามารถขายก๊าซไปยังประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน

 

  • โดยนักวิเคราะห์จาก Rystad Energy เผยว่า รัสเซียนั้นยอมที่จะเผาก๊าซของตนทิ้งดีกว่าส่งไปยุโรป ซึ่งโรงงานผลิตก๊าซแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนฟินแลนด์มีการเผาก๊าซทิ้ง คิดเป็นมูลค่าประมาณวันละ 10 ล้านดอลลาร์ มาตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม

 

  • ที่ผ่านมาหลังเกิดสงครามยูเครน หลายชาติ EU ตัดสินใจเดินหน้าความเคลื่อนไหวในการทยอยยุติการพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2027 และหาทางรับมือกับวิกฤตด้านพลังงานที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดส่งก๊าซของรัสเซีย แต่ขั้นตอนต่างๆ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการและต้องใช้เวลา

 

  • จากข้อมูลของ Gas Infrastructure Europe พบว่าปัจจุบัน EU มีก๊าซเก็บสะสมในคลังสำรองแล้วกว่า 81% โดยเยอรมนีมีกว่า 85% แต่ เคลาส์ มุลเลอร์ ประธานของ Federal Network Agency หน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซของเยอรมนี เตือนว่า แม้ก๊าซในคลังสำรองของเยอรมนีจะเต็ม 100% แต่ก็จะหมดลงภายใน 2.5 เดือน หากรัสเซียระงับการจัดส่งก๊าซทั้งหมด

 

  • การระงับจัดส่งก๊าซที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศ EU ต้องประกาศมาตรการฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับราคาก๊าซที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วและเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูหนาวยาวนานที่จะมาถึง

 

  • โดยรัฐบาลเยอรมนีประกาศทุ่มงบประมาณ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ในการรับมือกับราคาก๊าซและภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง อาทิ การอุดหนุนงบประมาณสำหรับระบบขนส่งสาธารณะและการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เช่น แจกเงินช่วยเหลือด้านพลังงานมูลค่า 300 ดอลลาร์ สำหรับแรงงานที่เสียภาษี และมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวต่างๆ ที่มีบุตร จำนวน 100 ดอลลาร์ ต่อเด็ก 1 คน

 

  • ส่วนอิตาลีทุ่มงบประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับแพ็กเกจช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูง

 

  • ฟินแลนด์ได้ประกาศแผนเสนอการรับประกันสภาพคล่อง วงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับบริษัทพลังงานในประเทศของตน เช่นเดียวกับสวีเดนที่ประกาศทุ่มงบประมาณ 2.32 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อรับประกันสภาพคล่องแก่บริษัทพลังงานในประเทศ

 

  • สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงบางอย่างในยุโรป เช่น ผู้ผลิตปุ๋ยและผู้ผลิตอะลูมิเนียม ได้ลดปริมาณการผลิตลง ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะประสบปัญหาการขาดแคลนชิปและปัญหาด้านโลจิสติกส์อยู่แล้ว ยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอีก

 

  • ด้านรัฐมนตรีพลังงานของประเทศ EU มีกำหนดที่จะประชุมฉุกเฉินที่กรุงบรัสเซลส์ ในวันที่ 9 กันยายนนี้ เพื่อหาทางรับมือกับวิกฤตราคาแก๊สและไฟฟ้าที่พุ่งสูง โดยอาจมีการพิจารณาตัวเลือกหลายอย่าง เช่น การจำกัดราคานำเข้าก๊าซและราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้า หรือการนำโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซออกจากระบบกำหนดราคาไฟฟ้าของ EU ในปัจจุบัน

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระงับส่งก๊าซของรัสเซีย

 

  • ผลจากการระงับจัดส่งก๊าซส่งผลให้ราคาขายส่งก๊าซในตลาดซื้อขายล่วงหน้าก๊าซ TTF ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดัชนีหลักของยุโรป พุ่งสูงขึ้นกว่า 30% ในการเปิดตลาดซื้อขายวานนี้ (5 กันยายน) ขณะที่ราคาในสหราชอาณาจักรพุ่งขึ้นสูงสุดมากถึง 35%

 

  • ขณะที่สกุลเงินยุโรปก็อ่อนค่าลงอย่างหนักเช่นกัน โดยต่ำสุดในรอบ 20 ปี อยู่ที่ 0.98 ดอลลาร์ต่อยูโร ในช่วงแรกของการเปิดตลาดซื้อขาย ก่อนจะดีดตัวขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 0.99 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งนักวิเคราะห์มองความเป็นไปได้ที่สกุลเงินยุโรปจะอ่อนค่าลงไปถึงต่ำกว่าระดับ 0.97 ดอลลาร์ต่อยูโร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising