×

ก้าวไกลชวนจับตา 2 ธ.ค. แนะนายกฯ ลาออกก่อนศาล รธน. ตัดสินกรณีบ้านพักค่ายทหาร

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2020
  • LOADING...
พรรคก้าวไกล

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 2 ธันวาคมนี้ เวลา 15.00 น. กรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านพักของข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ถือเป็นการรับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ

 

ธีรัจชัยกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีข้อห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญคือห้ามรับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท การอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการทหารภายหลังเกษียณอายุราชการมาแล้วหลายปีย่อมเกินมูลค่า 3,000 บาทอย่างแน่นอน

 

ธีรัจชัยกล่าวถึงข้อโต้แย้งที่มีการอ้างกันว่ากองทัพบกมีระเบียบว่าผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศสามารถพักอาศัยอยู่บ้านพักข้าราชการทหารได้ ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตคือแม้ระเบียบของทางกองทัพบกเสนอให้ได้ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ได้ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แม้มีผู้เสนอมาก็รับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาทไม่ได้ และไม่นับว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่มาทำให้ประเทศชาติมีปัญหาซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนสืบทอดอำนาจมาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ธีรัจชัยยังกล่าวด้วยว่า คสช. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้อำนาจกลไกของคณะรัฐประหารวางบุคคลใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็ได้รับการแต่งตั้งและได้รับผลพลอยได้มาจาก คสช. เช่น การสรรหาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย คสช. ออกคำสั่งที่ 48/2557 และมี สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ จึงหวังว่ากระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจให้กับผู้มีอำนาจ หรือใช้เป็นทางลงให้กับผู้มีอำนาจ เพราะจะเป็นการทำลายหลักการนิติรัฐของประเทศ ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน 

 

“แม้กองทัพบกจะให้สิทธิในการอยู่ แต่ก็ห้ามรับ นี่คือข้อกฎหมายที่สำคัญ เขาให้แต่รับไม่ได้ เช่น กรณีเบี้ยผู้สูงอายุที่รัฐบาลให้ผู้สูงอายุทุกคน สมมติว่าเกิน 3,000 บาท คนอายุเกิน 60 ปีสามารถรับเบี้ยตรงนี้ได้ แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีจะมารับไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญ จะตีความเป็นอย่างอื่นว่าเขาให้ มีสิทธิรับ ไม่ได้ ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ คิดได้ คงไม่ต้องให้เป็นภาระศาลในการวินิจฉัย แต่หาก พล.อ. ประยุทธ์ ปล่อยให้ศาลวินิจฉัยก็หมายความว่าต้องการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยเพื่อ หนึ่ง รับรองสิทธิตัวเอง สอง ตัดสิทธิตัวเอง กรณีนี้มีข้อเสี่ยงทางกฎหมาย สมมติว่ามีการใช้อำนาจตุลาการมาวินิจฉัยที่ดูแล้วฝืนความรู้สึกประชาชน คือมองว่าเขาให้ก็มีสิทธิรับ ก็จะทำให้กระทบกระเทือนถึงความน่าเชื่อถือไปยังองค์กรตุลาการ แต่หากตัดสินว่าผิด นายกรัฐมนตรีก็จะเสียเอง กลายเป็นคำถามว่าทำไมจึงทำผิด ข้อดีเรื่องนี้คือจะเป็นบรรทัดฐานต่อไป แต่กรณีนี้จะกระทบกระเทือนไปถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยในกรณีนาฬิกาเพื่อน ซึ่งเป็นการรับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท แม้ ป.ป.ช. จะบอกยุติเรื่องหรือบอกว่าเป็นการยืมใช้คงรูปก็แล้วแต่ แต่ก็ถือเป็นประโยชน์อื่นใดจากเพื่อน จากบุคคลภายนอก ถ้าปล่อยให้มีการสงสัยว่ามีการใช้กลไกช่วยเหลืออีกก็จะเป็นการทำลายระบบนิติรัฐของประเทศอย่างร้ายแรง และอาจจะเกิดวิกฤตขึ้นมาอีกในอนาคตก็ได้” ธีรัจชัยกล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising