×
SCB Omnibus Fund 2024

ต่างชาติอาจ ‘ทิ้งหุ้นอาเซียน’ มุ่งสู่เอเชียเหนือ หลังปีก่อนแห่เข้าหุ้น ‘ไทย-อินโด’ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

05.01.2023
  • LOADING...

หลังจากกระแสเงินลงทุนทั่วโลกไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2022 แต่ล่าสุดดูเหมือนว่ากระแสเงินลงทุนที่เคยไหลเข้าจะเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะตั้งแต่ที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งดึงดูดให้เงินลงทุนไหลกลับไปหาตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือซึ่งมีมูลค่าถูกกว่า 

 

จากการวิเคราะห์สถานะการถือครองของกองทุนรวมในเอเชียโดย HSBC Holdings Plc. สะท้อนให้เห็นว่า กองทุนหลายแห่งลดการถือครองในตลาดหุ้นอย่างอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นตลาดหุ้นหลักที่กองทุน Overweight ขณะเดียวกันกองทุนเหล่านี้ได้เพิ่มการถือครองหุ้นไต้หวันและฮ่องกง

 

ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามและไทยเป็นเพียงสองตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

 

หากมองภาพรวมตลอดทั้งปี 2022 หุ้นไทยเป็นประเทศที่เงินทุนไหลเข้ามากที่สุดในอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 5.96 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ อินโดนีเซีย มูลค่า 4.26 พันล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 1.09 พันล้านดอลลาร์ และเวียดนาม 966 ล้านดอลลาร์ ส่วนฟิลิปปินส์ เงินทุนไหลออก 1.25 พันล้านดอลลาร์

 

ปัจจัยหนุนที่ทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังตลาดหุ้นอาเซียนมาจากทั้งค่าเงินในแต่ละประเทศที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับทั่วโลก และเงินเฟ้อที่ยังต่ำ แต่สถานการณ์ในปีนี้อาจจะเปลี่ยนไปเมื่อจีนตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ขณะที่กำไรของหุ้นเทคโนโลยีในไต้หวันและเกาหลีใต้อาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 

 

Herald van der Linde หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดทุนของ HSBC กล่าวว่า “ความน่าสนใจต่อหุ้นจีนและหุ้นในกลุ่มเอเชียเหนือเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการเปิดประเทศของจีน และอาจทำให้เงินทุนที่เคยลงอยู่ในอาเซียนไหลเข้ามาเพิ่ม” 

 

การไหลออกของเงินทุนจากอาเซียนในขณะนี้อาจทำให้สถิติสูงสุดของเงินทุนไหลเข้าในประเทศอย่างอินโดนีเซียและไทยในปีที่แล้วสิ้นสุดลง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติต่างเข้าซื้อหุ้นของทั้งสองประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังได้ซื้อสุทธิหุ้นมาเลเซียในรอบ 4 ปี ขณะที่หุ้นเวียดนามมีเงินไหลเข้ามากสุดนับแต่ปี 2018 

 

ในขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงแข็งแกร่ง แต่เงินเฟ้อที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลก อาจทำให้การเติบโตชะลอลงในปี 2023 โดยเฉพาะในเวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกหลักในภูมิภาค 

 

สำหรับตลาดหุ้นไทย หลังผ่าน 2 วันทำการแรกของปี 2023 (3-4 มกราคม) พบว่านักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิรวม 1.56 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนอีก 3 กลุ่ม คือ นักลงทุนสถาบัน, บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนภายในประเทศ ขายสุทธิ 513 ล้านบาท, 846 ล้านบาท และ 202 ล้านบาท ตามลำดับ 

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าปีนี้นักลงทุนต่างชาติน่าจะยังซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังจากที่ขายสุทธิออกไประหว่างปี 2020-2021 ราว 3 แสนล้านบาท และเป็นการขายสุทธิติดต่อกันมา 5 ปีก่อนหน้าปี 2022 

 

“ถ้ามองว่าต่างชาติขายหุ้นไทยเพราะโควิด เชื่อว่าต่างชาติยังมีแนวโน้มจะซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง ส่วนการเปิดประเทศของจีนก็เป็นประโยชน์ต่อไทยค่อนข้างมาก ส่วนตัวมองว่าเงินทุนอาจไหลไปจีนบางส่วน แต่โดยหลักน่าจะเป็นการโยกจากประเทศอื่น” 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต่างชาติจะซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 2 แสนล้านบาทเมื่อปีก่อน แต่ด้วยแรงขายของกองทุนในประเทศราว 1.6 แสนล้านบาท ทำให้หุ้นไทยไม่ได้ขยับไปไหน แต่ปัจจุบันกองทุนมีเงินสดในมือค่อนข้างมาก เชื่อว่าปีนี้น่าจะเห็นแรงซื้อกลับ โดยประเมินว่าหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสจะขยับขึ้นไปถึง 1,800 จุด หากมีการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และประเมินกรณีฐานของดัชนี SET ที่ 1,720 จุด 

 

ด้านณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินทุนมักจะไหลไปยังประเทศที่กลับมาเปิดประเทศในช่วงแรก อย่างที่เราเห็นจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งไทยเมื่อปีก่อน จึงมีโอกาสที่จะเห็นเงินทุนไหลเข้าจีนเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของนักลงทุนต่างชาติในไทยจะค่อนข้างต่างออกไป คือ 50-70% ของต่างชาติในไทยเป็นกลุ่ม High Frequency Trading (HFT) มากกว่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาว ฉะนั้นการซื้อหรือขายสุทธิของต่างชาติในปีนี้จะขึ้นกับ 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. การเก็บภาษี Transaction Tax หากเดินหน้าเก็บจริง ก็มีโอกาสจะเห็นต่างชาติซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่ม HFT ขายสุทธิหุ้นไทยได้ในปีนี้ 

 

  1. ค่าเงินบาท ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ไทยค่อนข้างได้เปรียบ เช่น การท่องเที่ยวฟื้นตัว ดุลการค้าที่มีโอกาสขาดดุลลดลงหรืออาจกลับมาเกินดุล เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงมาก ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่า ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติยังคงอยู่กับหุ้นไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising