ในยุคที่ธุรกิจร้านอาหารต้องงัดกลยุทธ์ทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดลูกค้าและรับมือกับกำลังซื้อที่ชะลอตัว สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ‘ขยะอาหาร’ (Food Waste) คือผลกระทบที่มาพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจอาหารและการบริโภคในชีวิตประจำวัน
ขยะอาหารทั่วโลกและในประเทศไทย
UNEP (โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ) รายงานปี 2567 พบว่า ทั่วโลกสร้างขยะอาหารเฉลี่ย 79 กิโลกรัม/คน/ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 74 กิโลกรัม/คน/ปี แต่ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกมาก โดยอยู่ที่ 86 กิโลกรัม/คน/ปี เพิ่มขึ้นจาก 79 กิโลกรัม/คน/ปี และสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน
ในประเทศไทย ขยะอาหารคิดเป็น 38% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือประมาณ 10.24 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ และอาหารที่หมดอายุ ตัวเลขนี้เป็นความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเร่งลดขยะอาหารลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายย่อยที่ 12.3)
ความแตกต่างระหว่าง Food Waste และ Food Loss
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าขยะอาหารคือสิ่งเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วมีสองประเภทหลัก คือ
- ‘ขยะอาหาร’ (Food Waste) คืออาหารที่ยังรับประทานได้แต่ถูกทิ้ง ณ ปลายทางของห่วงโซ่อุปทาน เช่น ร้านค้าปลีก หรือผู้บริโภค สาเหตุอาจมาจากอาหารเสื่อมสภาพ หมดอายุ หรือไม่ได้ถูกบริโภคตามเวลาที่เหมาะสม เช่น อาหารที่หมดอายุในร้านค้าปลีก อาหารที่เหลือในร้านอาหาร หรืออาหารที่เหลือทิ้งที่บ้าน
- ‘การสูญเสียอาหาร’ (Food Loss) เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน เช่น ระหว่างการผลิต เก็บเกี่ยว แปรรูป หรือกระจายสินค้า ก่อนถึงมือผู้บริโภค ปัญหานี้มักเกิดจากระบบที่ไม่สมบูรณ์ เช่น โครงสร้างพื้นฐานไม่ดี ศัตรูพืช หรือความเสียหายจากสภาพอากาศ
ทั้ง Food Waste และ Food Loss ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 8-10% ของทั่วโลก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์/ปี ในขณะที่ประชากรเกือบ 800 ล้านคนทั่วโลกยังขาดแคลนอาหาร
แนวทางการลด Food Waste & Food Loss
การแก้ไขปัญหานี้ต้องจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
- ในภาคการเกษตร: ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต, ฝึกอบรมเทคนิคการจัดการผลผลิต และสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อลดความเสียหายตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
- สำหรับภาคการแปรรูปและการค้าปลีก: การบริหารจัดการสินค้าคงคลังและฝึกอบรมพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคยอมรับสินค้าที่อาจมีรูปลักษณ์ไม่สมบูรณ์แต่ยังคงคุณภาพ จะช่วยลดขยะอาหารได้อย่างมาก
สำรวจแบรนด์อาหารชั้นนำ ‘บริหาร Food Waste’
เมื่อพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสะดวกสบายมากขึ้น ขยะจากบรรจุภัณฑ์และเศษอาหารจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากจัดการไม่ถูกวิธี เศษอาหารจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก THE STANDARD WEALTH ชวนดูว่า 4 แบรนด์อาหารชั้นนำเหล่านี้มีวิธีจัดการ Food Waste อย่างไรบ้าง
โอ้กะจู๋ (Oh! Juice)
ชลากร เอกชัยพัฒนกุล CEO บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ (โอ้กะจู๋) เน้นนโยบาย ‘Zero Waste to Landfill’ โดยมุ่งนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตให้มากที่สุด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยระดับต้นน้ำ โอ้กะจู๋ จะนำเศษผักจากการตัดแต่ง เศษอาหารจากร้านและครัวเรือน รวมถึงใบไม้ กิ่งไม้ จาก 2 เทศบาลในอำเภอสารภี มาทำเป็น ปุ๋ยหมักอินทรีย์ เพื่อใช้ในโรงเรือน เริ่มมา 6-7 ปี และผลิตปุ๋ยได้เฉลี่ย 1,000-2,000 ตัน/ปี ล่าสุดปี 2567 ได้ถึง 2,527 ตัน นอกจากนี้ยังเปิดให้ชาวบ้านนำเศษขยะมาแลกปุ๋ย ช่วยลดการเผาขยะและฝุ่น PM 2.5
ส่วนระดับกลางน้ำ ใช้วิธีบริหารจัดการระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสีย
และระดับปลายน้ำ โอ้กะจู๋ สื่อสารกับลูกค้าเพื่อสร้างความตระหนัก เช่น สอบถามหากต้องการนำผักบางส่วนกลับบ้าน หากลูกค้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งช่วยลดขยะอาหารหน้าร้านได้ถึง 80% ส่วน 20% ที่เหลือจะถูกแยกทิ้งอย่างชัดเจน และอยู่ระหว่างหารือกับ กทม. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น มอบให้พนักงานกวาดขยะหรือคนไร้บ้าน นอกจากนี้ โอ้กะจู๋ยังลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งและหันมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษมากขึ้น
สุกี้ตี๋น้อย
นัทธมน พิศาลกิจวนิช ผู้ก่อตั้งสุกี้ตี๋น้อย เปิดตัวโปรเจกต์ ‘ร้านข้าวแกง’ ‘ตี๋น้อยปันสุข’ เพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบตัดแต่ง (เนื้อสัตว์และผัก) จากครัวกลางที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการเสิร์ฟในร้าน แต่ยังมีคุณภาพดี โดยนำมาปรุงเป็นเมนูกับข้าวจำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อลด Food Waste และช่วยให้ผู้คนเข้าถึงอาหารคุณภาพดี (ข้อมูลการจัดการขยะเพิ่มเติมคาดว่าจะเปิดเผยในรายงาน ESG หลัง IPO)
MK สุกี้
MK Restaurant Group มีนโยบายลด Food Waste 50% ภายในปี 2573 (เทียบปีฐาน 2566) โดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย
- การจัดการต้นทาง: พัฒนาระบบจัดซื้อ, จัดเก็บ, จัดส่ง และควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา
- การนำไปใช้ประโยชน์: นำอาหารส่วนเกินที่ยังอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยไปเป็นอาหารพนักงาน, จำหน่ายต่อ, หรือบริจาคให้สถานสงเคราะห์/มูลนิธิ บริจาคให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์หรือเป็นส่วนผสมในการเพาะปลูก นำวัตถุดิบที่เหลือไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น กากมะนาวใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ หรือนำไปวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
After You
After You (บมจ. อาฟเตอร์ ยู) เน้นแนวคิดใส่ใจสิ่งแวดล้อมและลดของเสียจากกระบวนการผลิต
- การลดของเสีย: ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดและหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- การจัดการ: ขยะทั่วไปและย่อยสลายได้มีรถจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมารับไปกำจัด
- การนำไปใช้ประโยชน์: นำเศษขนมปังที่เหลือให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงปลาในราคาถูก
แท้จริงแล้ว ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคล้วนมีส่วนสร้างขยะอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม เราทุกคนสามารถเริ่มต้นช่วยลดขยะอาหารได้ง่ายๆ เพียงแค่ ‘แยกเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป’ ซึ่งเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญในการช่วยโลกของเรา
ภาพ: Ekkasit A Siam / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.arda.or.th/detail/6545
- https://resourcecenter.thaihealth.or.th/content/5717-content-ขยะอาหารล้นโลก%20แต่ผู้คนยังอดอยาก%20ความเหลื่อมล้ำที่ต้องเร่งจัดการ
- https://investor.afteryoudessertcafe.com/th/download/one-report
- https://m.listedcompany.com/misc/flipbook/index.html?id=287611
- https://www.okjgroup.com/th/investor-relations/document/annual-reports
- https://investor.zengroup.co.th/th/publications-and-download/report/one-reports
- https://www.maguro.co.th/en/investor-relations/document/annual-reports