เรียนฟรี ไม่มีการบ้าน ไม่มีการสอบวัดเกรด…
คำเหล่านี้ที่เราได้ยินกันหนาหูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมทั้งหมดของประเทศเล็กๆ ในกลุ่มนอร์ดิกที่ได้ชื่อว่า ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
แต่ด้วยความที่ ‘ฟินแลนด์’ มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน การพัฒนาด้านต่างๆ จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลก็พร้อมทุ่มเทและทุ่มทุนต่อการพัฒนามนุษย์ เพราะรู้ดีว่าคือทรัพยากรสำคัญที่มีคุณค่าและจะนำพามาซึ่งการพัฒนาประเทศในทุกด้าน รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ปริมณฑลใหม่ในวันที่ธุรกิจผลิตไม้หรือเทคโนโลยีสารสนเทศแบบเดิมที่เคยทำเงินให้ประเทศเริ่มซบเซา
ดร.พาซี ซาห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาการศึกษาของฟินแลนด์ อดีตอธิบดีกระทรวงศึกษาธิการประเทศฟินแลนด์ ศาสตราจารย์รับเชิญภาคปฏิบัติให้กับบัณฑิตวิทยาลัยด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักวิชาการติด 1 ใน 3 ของโลก ผู้ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาและวิเคราะห์การปฏิรูปการศึกษาจากทั่วมุมโลกจะมาเฉลยว่า ฟินแลนด์สร้างระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกได้อย่างไร
และโดยไม่ตั้งใจ บางคำตอบของ ดร.พาซี ก็แง้มให้เห็น ‘จุดบอด’ ว่าทำไมการศึกษาไทยใน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านการปฏิรูปครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงยังไม่ไปไหน…
สังคมทั้งหมดมีส่วนในการโฟกัสกับความสุข ความเป็นอยู่ และสุขภาพที่ดีของเด็กๆ ในประเทศร่วมกัน
ครูของฟินแลนด์คือทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างมากในระบบการศึกษาของประเทศ ฟินแลนด์มีหลักการพัฒนาบุคลากรครูเป็นอย่างไร
ผมยอมรับว่าครูเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพยากรที่ดีที่สุดที่เรามี แต่อย่าลืมความจริงที่ว่า สังคมทั้งหมดมีส่วนในการโฟกัสกับความสุข ความเป็นอยู่ และสุขภาพที่ดีของเด็กๆ ในประเทศร่วมกัน หน้าที่ครูจะง่ายขึ้นถ้าได้สอนเด็กที่มีความสุข มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อนที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากการนำเด็กที่มีพื้นฐานหรือมีภูมิหลังที่แตกต่างกันมารวมอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน เป็นการผสมผสานทางสังคมด้วยภูมิหลัง ความสามารถ และฐานะของเด็ก และสิ่งที่เราวางแผนกันไว้คือ ครูจะต้องมีความสามารถในการรับมือกับห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนี้ได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือรูปแบบการสอนที่ดีขึ้นไปกว่าเดิม เมื่อประเทศอื่นๆ อย่างนอร์เวย์หรือสวีเดนตัดสินใจที่จะออกแบบหลักสูตรครูให้เข้มข้นขึ้น ต้องเรียนถึงระดับปริญญาโทเหมือนเรา แต่พวกเขากลับไปเน้นที่รายวิชาอย่างคณิตศาสตร์หรือวรรณกรรมแทน ไม่ได้ให้ความสนใจกับความรู้ในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางภูมิหลังของเด็กเหมือนอย่างที่ฟินแลนด์เป็น
ครูของเรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความแตกต่าง การให้ความช่วยเหลือพิเศษ จิตวิทยาเด็ก เพื่อช่วยให้ครูได้เข้าใจการผสมผสานในสังคมและความหลากหลายในห้องเรียน นี่เป็นเหตุผลอันดับ 1 ว่าทำไมครูถึงต้องเรียนให้ลึกและรู้ให้จริง
เราไม่สามารถสรุปได้เลยว่าคนที่ได้คะแนนดีที่สุด หรือฉลาดมากในห้องเรียนจะสามารถมาเป็นครูที่ดีได้
จริงหรือไม่ ที่คนเป็นครูในฟินแลนด์ได้ต้องเป็นนักเรียนคะแนนสูงสุดของคณะ
ไม่เป็นความจริงเลย ในความเป็นจริงคือเราสามารถรับครูได้เพียง 10% จากใบสมัครทั้งหมดที่ส่งมาในโรงเรียนประถม และ 10% ที่รับเข้ามานั้นก็ไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นมีคะแนนสูงสุดในคณะ มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการอ้างอิงว่ามีคะแนนสูงสุด ส่วนที่เหลือคือรับเข้าเพราะความสามารถในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเชิงวิชาการ เราไม่สามารถสรุปได้เลยว่าคนที่ได้คะแนนดีที่สุด หรือฉลาดมากในห้องเรียนจะสามารถมาเป็นครูที่ดีได้
คุณอาจถนัดการสอนฟุตบอล สอนดนตรี สอนเด็กให้ทำงานร่วมกับชุมชน พวกเขาอาจเป็นครูที่ดีในความสนใจอื่น เมื่อมีใครสักคนเป็นแบบนี้และสมัครเข้ามาในระบบการเรียนการสอน ถ้าหากคุณมีประสบการณ์ มีภูมิหลัง มีวัตถุประสงค์ในสิ่งที่คุณทำ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการมีเกรดที่ดีหรือคะแนนสูงลิบ
เด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนของเราด้วยเกรดที่สูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถถูกยอมรับให้เป็นครูได้ พวกเขาอาจเป็นทนายหรือหมอ แต่การเป็นครูคือเรื่องที่ต่างออกไป คุณต้องแสดงให้เห็นว่าทำอะไรได้ และจะประยุกต์ความถนัดของตัวเองในเรื่องการสอนได้อย่างไร
ในแง่การปฏิรูปการศึกษาที่เป็นระดับนโยบายรัฐ คุณสร้างความร่วมมือหรือเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร
ถ้าหากคุณลองดูการปฏิรูปการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่ผู้คนจะคิดว่าเป็นรัฐบาลที่ริเริ่ม ตัวอย่างคือการที่รัฐบาลสามารถปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ได้เกือบทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่คำถามต่อมาคือ การนำไปใช้จริงล่ะ จะมีการปรับใช้อย่างไร?
ผมกลับคิดว่าเป็นเรื่องสายเกินไปที่จะมาคิดเรื่องว่าใครคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะสร้างความร่วมมือกับพวกเขาได้อย่างไร ถ้าหากเป็นครู ครอบครัว ลูกจ้าง และชุมชนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยส่วนมากแล้วก็ทำให้การปฏิรูปการศึกษาทั่วโลกล้มเหลว กรณีที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นสิ่งเกิดขึ้นยากมาก นั่นเป็นเพราะการปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นเรื่องของการวางแผนและการออกแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จได้โดยไม่มีการพิจารณาอย่างเป็นทางการหรือการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนหน่วยงานที่หลากหลาย
สิ่งสำคัญจริงๆ จึงไม่ใช่การหาวิธีการที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลายและพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยวางแผน ออกแบบ เตรียมความพร้อม ไม่ใช่เลย จากประสบการณ์ของผม สิ่งสำคัญคือการหาวิธีการปรับใช้ได้จริงผ่านการมีส่วนร่วมต่างหาก
แล้วฟินแลนด์สร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างไร
ฟินแลนด์มีประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากที่บอกไปข้างต้น อย่างน้อยก็ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยออกตัวว่าเรากำลังปฏิรูป หรือเรามีพาร์ตเนอร์ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมคิดหรือวางแผน นี่คือกุญแจสำคัญ
เมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์การปฏิรูปการศึกษาที่ต้องพึ่งพาความร่วมมือหรือแผนตัดสินใจร่วมสารพัด คุณจะค้นพบว่าการปรับใช้จริงไปเลยนั้นง่ายกว่ามาก ครูโดยส่วนใหญ่จะอยู่กับสหภาพครู และสหภาพจะเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับรัฐบาล ร่วมคิดและเปลี่ยนแปลงการศึกษา บางครั้งก็เกิดขึ้นจากผู้มีส่วนร่วมที่ต่างกันออกไปในการช่วยคิดและวางแผน สิ่งสำคัญจริงๆ จึงไม่ใช่การหาวิธีการที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลายและพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยวางแผน ออกแบบ เตรียมความพร้อม ไม่ใช่เลย จากประสบการณ์ของผม สิ่งสำคัญคือการหาวิธีการปรับใช้ได้จริงผ่านการมีส่วนร่วมต่างหาก
รัฐบาลของคุณและผมสามารถใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ที่เรียกว่า ‘การสำรวจความคิดเห็นออนไลน์’ ที่สามารถส่งให้กับครู ครอบครัว และลูกจ้างต่างๆ เพราะผู้คนจะรู้สึกดีเมื่อคุณถามความคิดเห็นจากพวกเขา ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะทำให้สิ่งที่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาบอกจริงๆ หรือไม่ แต่พวกเขาจะเกิดความรู้สึกที่ดี อย่างน้อยก็ตอนที่ถูกถาม นี่คืออีกระดับของการมีข้อตกลงร่วมกันภายในกลุ่ม ถ้าหากคุณไม่เคยถามอะไรกับผู้คนเลย แค่พูดเรื่องการปฏิรูปใหม่และบอกพวกเขาว่าต้องนำไปปรับใช้ในโรงเรียน พวกเขาจะมีคำถามแน่นอนว่าทำไมต้องทำด้วย
แล้วถ้ามีคนไม่เห็นด้วย เราต้องเปลี่ยนทัศนคติผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ทัศนคติหรือวิธีคิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติได้มากขนาดไหน ถ้าหากว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มคิดได้ว่า ใครก็ตามที่มีส่วนต่อการปฏิรูปนั้นให้ความสำคัญกับความคิดเห็น เหมือนกับเวลาที่เราถามเด็กหรือคนรุ่นใหม่ว่า “ชอบทำอะไร?” แล้วพวกเขาก็ตอบในสิ่งที่พวกเขาชอบหรือต้องการ อย่างน้อยก็สร้างให้เกิดบทสนทนา
รัฐบาลคือตัวแทนของการส่งสัญญาณว่าเสียงของทุกคนเป็นเรื่องสำคัญ และพวกเราให้ความสนใจกับความคิดเห็นของคุณ เหมือนเด็กวัยรุ่น ถ้าหากคนเป็นพ่อแม่หมั่นถามความคิดเห็นจากพวกเขา เด็กจะรู้ทันทีว่าตัวเองนั้นมีความสำคัญ เป็นไอเดียเดียวกัน
การพูดเรื่องทัศนคติเป็นตัวอย่างที่ดีเมื่ออยู่ในบริบทของการศึกษา พ่อแม่หรือครอบครัวส่วนใหญ่เมื่อถามเรื่องระบบการศึกษา พวกเขามักจะคิดเกี่ยวกับลูกของพวกเขาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเด็กคนอื่น ถ้าหากพ่อแม่ทุกคนคิดกันแบบนี้ จะไม่มีระบบการศึกษาที่ดีเกิดขึ้นได้จริง พวกเขาจำเป็นต้องใส่ใจหรือนึกถึงเด็กคนอื่น และครอบครัวอื่น
ตัวอย่างที่ดีคือโครงการ London Challenge ของประเทศอังกฤษ เป็นระบบย่อยที่มีชื่อเสียงมากด้านการเปลี่ยนแปลง มีหัวใจสำคัญคือ ครูใหญ่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อโรงเรียนอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนของตัวเอง ในฟินแลนด์ เมื่อคุณได้รับการว่าจ้างเป็นครูใหญ่ สิ่งที่จะเจอคือคำถามที่ต้องตอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาจะสามารถรับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วยได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องเดียวกับการเปลี่ยนทัศนคติของครอบครัวที่บอกไปข้างต้น ยิ่งคนเป็นพ่อแม่เริ่มต้นที่จะคิดถึงคอมมูนิตี้มากเท่าไร และสำหรับระดับประเทศแล้วเป็นเรื่องดีกว่าที่จะคิดถึงครอบครัวอื่นๆ อย่างเช่นครอบครัวที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว โรงเรียนจะมีบทบาทในการดูแลเด็กที่โตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องการทัศนคติใหม่
ไอเดียของโรงเรียนเป็นเรื่องของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี สำคัญสุดคือการรู้จักตัวเอง (Self-Awareness) มากกว่าอ่าน เขียน หรือเรียนเลข
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์กลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชาติ กลายเป็นต้นแบบการเรียนการสอนให้กับอีกหลายประเทศ แต่จะเป็นไปได้จริงหรือ ในเมื่อแต่ละประเทศก็มีบริบทเฉพาะของตัวเอง
คำตอบที่ดีที่สุดคือ อย่าแม้แต่จะพยายาม ผู้คนส่วนใหญ่หรือประเทศส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เข้าใจระบบการศึกษาของฟินแลนด์อย่างแท้จริง 99% ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือนักวิจัย พวกเขาลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรียนเพียง 5 โรงเรียน และเห็นการสอนรายวิชาอย่างคณิตศาสตร์ 5 นาที ประวัติศาสตร์ 4 นาที ความจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น ไอเดียของโรงเรียนเป็นเรื่องของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี สำคัญสุดคือการรู้จักตัวเอง (Self-Awareness) มากกว่าอ่าน เขียน หรือเรียนเลข ไอเดียเรื่องการปรับประยุกต์ใช้ระบบการสอนของเราเข้ากับประเทศตัวเองจึงเป็นไอเดียที่ไม่ดีนัก แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือการพยายามระบุสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ของฟินแลนด์ ไม่ได้หมายความให้ลอกเลียนแบบ แต่เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้มากกว่า
ฟินแลนด์มีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อใจ ผมต้องไปที่หน่วยงานรัฐเพื่อทำให้พวกเขาแน่ใจว่าโรงเรียนต่างๆ ในประเทศนั้นเป็นไปตามมาตรฐาน ผมเคยตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจรับผิดชอบว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่าโรงเรียนหรือครูนั้นดำเนินงานไปตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้? คำตอบคือ แน่ใจอยู่แล้ว เพราะพวกเขารู้ดีว่าครูจะต้องทำงานในสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด นี่คือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากวัฒนธรรมความเชื่อใจกันจากฟินแลนด์
สิ่งที่เสียไปสำหรับฟินแลนด์คือการอ่าน การอ่านที่หายไประหว่างการใช้โซเชียลมีเดียหรือเล่นเกม การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมจะส่งผลกับสมองหรือการพัฒนาทางอารมณ์ของผู้เล่น ประชากรของยุโรปตะวันตก 20-25% ของเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาสุขภาพจิตเพราะโซเชียลมีเดีย
เด็กนักเรียนในฟินแลนด์ติดโซเชียลมีเดียกันบ้างไหม คนเป็นครูรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
จริงๆ ฟินแลนด์รับมือกับเรื่องนี้ได้ไม่ค่อยดี อาจเป็นเพราะนี่คือเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องไม่ดี แต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ครูในฟินแลนด์อาจรับมือได้ไม่ดีนัก นักเรียนกว่าครึ่งของเราหรือเด็กรุ่นใหม่นั้นใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าหากการใช้เวลาในโรงเรียนคือ 6 ชั่วโมงต่อวัน นอน 8 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากนั้นเราจะเหลือเวลา 8 ชั่วโมงในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ นั่นหมายความว่าต้องมีบางสิ่งที่เสียไประหว่างการที่เราออนไลน์อยู่ สิ่งที่เสียไปสำหรับฟินแลนด์คือการอ่าน การอ่านที่หายไประหว่างการใช้โซเชียลมีเดียหรือเล่นเกม การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมจะส่งผลกับสมองหรือการพัฒนาทางอารมณ์ของผู้เล่น ประชากรของยุโรปตะวันตก 20-25% ของเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาสุขภาพจิตเพราะโซเชียลมีเดีย
ผมคิดว่าถ้าเด็กได้ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงไปกับการแก้โจทย์เลข หรือใช้เวลาไปกับการเขียนจดหมายด้วยลายมือถึงแม่ของพวกเขาในทุกสัปดาห์ นั่นคือโรงเรียนในฝันเลย พวกเราจะสอนให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน และประเด็นต่างๆ ในสังคม นั่นต่างหากคือสิ่งที่เด็กต้องการ
ถ้าลองดูมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการลดละการใช้ไอแพดหรืออุปกรณ์อื่นๆ ผมเคยใช้เวลา 3 ปีในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยที่นักศึกษาอายุราวๆ 25 ปี กว่า 95% นั้นมีแล็ปท็อป โดยในระหว่างที่ผมสอน นักศึกษาส่วนใหญ่ก็ช้อปปิ้งออนไลน์ เล่นโซเชียลมีเดีย เช็กอีเมล นี่เป็นสิ่งที่แย้งกับ ‘Multitask’ (การทำกิจกรรมได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน) เพราะไม่มีใครที่จะสามารถช้อปปิ้งไปพร้อมกับฟังอาจารย์สอนได้จริง เป็นเรื่องง่ายกว่าที่ระดับโรงเรียนจะปฏิเสธเทคโนโลยี ยิ่งถ้าหากคุณดูตัวอย่างจากบิล เกตส์, สตีฟ จ็อบส์ คนที่ไฮเทคมากๆ กลับส่งลูกของพวกเขาเข้าเรียนในโรงเรียนที่ไม่ใช้เทคโนโลยี เป็นเพราะพวกเขารู้ว่าอะไรคือผลที่ตามมากับการใช้อุปกรณ์เหล่านั้น และเด็กๆ ก็ไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอจะรับมือ นี่เป็นคำถามที่ดีว่า ทำไมคนอื่นถึงยังส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการใช้เทคโนโลยี และทำไมผมถึงจะส่งลูกของผมเข้าโรงเรียนที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยี ถ้าหากผมมีทางเลือก ผมก็จะเลือกให้ลูกผมเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีเทคโนโลยีหรือจำกัดการใช้งานเมื่อจำเป็นเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าเด็กได้ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงไปกับการแก้โจทย์เลข หรือใช้เวลาไปกับการเขียนจดหมายด้วยลายมือถึงแม่ของพวกเขาในทุกสัปดาห์ นั่นคือโรงเรียนในฝันเลย พวกเราจะสอนให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน และประเด็นต่างๆ ในสังคม นั่นต่างหากคือสิ่งที่เด็กต้องการ
เช่นเดียวกับในฟินแลนด์ที่ผมบอกว่าเรายังรับมือกับเรื่องนี้ได้ไม่ดีนัก เรายังไม่มีการรับรู้ในระดับชาติและความเข้าใจร่วมกันถึงข้อดีของโซเชียลมีเดีย ที่ต้องมาพร้อมกับข้อควรระวังและความกังวลด้วยเช่นกัน ถ้าหากคุณเดินไปในโรงเรียนที่ฟินแลนด์ในวันนี้แล้วถามว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นกังวลที่สุดในตอนนี้? คำตอบจะไม่ใช่เรื่องหลักสูตร แต่จะเป็นเด็กกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะควบคุมหรือจัดการการใช้งาน เพราะผู้มีอำนาจในประเทศของเราได้ให้ความเห็นไว้ว่า การแบนหรือห้ามใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียนนั้นเป็นการผิดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องอิสรภาพในการแสดงออก ครูใหญ่ในบางโรงเรียนก็บอกว่าไม่ควรสั่งห้ามหรือตั้งกฎการใช้งานแต่อย่างใด นี่ยังเป็นเรื่องที่เราต้องแก้ไขร่วมกันต่อไป
คุณมาประเทศไทยหลายครั้ง มีความคิดเห็นอย่างไรต่อระบบการศึกษาของประเทศไทยบ้าง
จริงๆ ผมยังรู้ไม่มากพอ แต่สิ่งที่ผมได้จากนักศึกษาในชั้นเรียนที่บอกผมว่า ประเด็นสำคัญของการศึกษาในประเทศไทยคือความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองอย่างกรุงเทพฯ และโรงเรียนชนบท นี่เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดในฟินแลนด์เลย ผมอ่านบทความหนึ่งที่เขียนถึงเรื่องมาตรฐานที่แตกต่างกันของโรงเรียนในประเทศไทย ในตอนแรกผมไม่เชื่อ แต่ในรายงานนั้นระบุว่า เด็กชนบทจะไม่เข้าเรียนเพราะเลือกที่จะช่วยพ่อแม่ทำงานในไร่นา ต่างกับเด็กในกรุงเทพฯ ผมอาจไม่มีความเห็นต่อเรื่องนี้มาก แต่คิดว่าระบบการศึกษาไทยตอนนี้ต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นอีก
ความยืดหยุ่นในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนจะสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ แต่หมายถึงการมีกรอบวิธีคิดที่ใช้ภายในโรงเรียนว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถให้กับเด็กๆ หรือชุมชนได้ โดยไม่ต้องสูญเสียมาตรฐานหรือคุณภาพ แต่ทำให้แน่ใจได้ว่าสามารถสนับสนุนโรงเรียนและครูในท้องถิ่น อะไรที่พวกเขาควรสอนให้กับเด็กๆ ในกรณีที่โรงเรียนหรือชุมชนมีความเห็นร่วมกันว่าเด็กควรจะเรียนรู้ในทักษะอื่นๆ นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าความยืดหยุ่น ซึ่งระบบการศึกษาควรพยายามที่จะมีตรงนี้
อะไรคือสิ่งที่เป็นกังวลที่สุดในตอนนี้? คำตอบจะไม่ใช่เรื่องหลักสูตร แต่จะเป็นเด็กกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะควบคุมหรือจัดการการใช้งาน เพราะผู้มีอำนาจในประเทศของเราได้ให้ความเห็นไว้ว่า การแบนหรือห้ามใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียนนั้นเป็นการผิดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องอิสรภาพในการแสดงออก
ระบบการสอนที่เรียกว่า การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) หรือ การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning) กรณีในฟินแลนด์ คุณว่าระบบการสอนแบบนี้จะช่วยเตรียมตัวให้เด็กสามารถมีอาชีพหรือทำงานในอนาคตได้อย่างไร
ทั้งการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและการเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นนอกฟินแลนด์ แต่แน่นอน สำหรับผมสิ่งที่น่าสนใจคือการร่วมมือ แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบไหน คำตอบของคำถามนี้คือ ผมคิดว่าถ้าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ช่วยให้ครูและเด็กมีส่วนร่วมระหว่างกันมากขึ้นในการเรียนและการสอน จะช่วยให้พวกเขาพร้อมกับการใช้ชีวิตในอนาคต แน่นอนว่าทีมเวิร์กคือระบบสำคัญที่เราอยากให้นักเรียนของเราเข้าใจ นี่จึงเป็นข้อดีของการเรียนร่วมกับผู้อื่นในห้องเรียน แต่ผมจะพูดอีกว่า ระบบการสอนแบบเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก มีโรงเรียนในประเทศอื่นที่ทำมาก่อน ในฟินแลนด์ก็มีโรงเรียนที่ปรับใช้เพียง 5% เท่านั้น
จากจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเมื่อ 40 ปีก่อน โรงเรียน หน่วยงาน หรือครูในฟินแลนด์ได้มีการติดตามผลจากนักเรียนบ้างไหม
การติดตามผลในเรื่องนี้ใช้เวลาและเงินจำนวนมาก และเป็นเรื่องยากเสมอที่จะวัดผลที่ได้จากระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย หรืออื่นๆ คำตอบที่น่าเชื่อถืออาจไม่มีสำหรับคำถามนี้ แต่ถ้าหากคุณมองฟินแลนด์ในสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษา แต่เป็นความสำเร็จในด้านอื่นที่สามารถบ่งชี้ได้ในระดับนานาชาติ เทคโนโลยี การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความโปร่งใส รัฐบาลที่ดี สิทธิสตรี ฟินแลนด์เราทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี นี่อาจเป็นคำตอบว่าการศึกษาที่ดีได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานตรงนี้ให้แข็งแรง
- การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) คือ วิธีการเรียนรู้ที่มีรูปแบบการนำปัญหามาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ จากการใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลกเป็นบริบทของการเรียนรู้ (Learning Context) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหา กระบวนการค้นคว้าหาความรู้ใหม่เพื่ออธิบายปัญหาที่พบ
- การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning) คือ วิธีการเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3-6 คน โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในการร่วมมือหรือช่วยกันในการเรียนรู้ มีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยกันในการเรียนรู้ มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด มีการสัมพันธ์กัน มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการวิเคราะห์กระบวนการของกลุ่ม และมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบงานร่วมกัน
- การสร้างความมีส่วนร่วม แคนาดาคือหนึ่งในประเทศที่ชาญฉลาดมากในการทำเรื่องนี้ โดยเปิดการมีส่วนร่วมกับสังคมทั้งหมดก่อนที่จะปรับใช้การปฏิรูปจริงในระดับปฏิบัติ พวกเขามีแบบฟอร์มออนไลน์ให้กรอกข้อมูลและเปลี่ยนให้เป็นสถิติ เพื่อที่ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่คิดได้ และใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงสิทธิ์ ความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ส่วนรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการปฏิรูปที่เริ่มต้นคิดถึงเรื่องการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานระดับสูงให้มามีส่วนเกี่ยวข้องจึงสายเกินไป ส่วนใหญ่ทุกอย่างมักสำเร็จลงไปแล้ว และการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจึงไม่ทันการณ์