×

เปิดปัจจัยเด่น ‘ หนุนโอกาสลงทุน หุ้นเวียดนาม ’ ท่ามกลางวิกฤต

04.11.2022
  • LOADING...

หากเอ่ยถึงตลาด หุ้นเวียดนาม เมื่อหลายปีก่อน เชื่อว่าผู้ลงทุนหลายคนน่าจะมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นประเทศนี้ไม่มากก็น้อย และเชื่อว่าหลายคนล้วนยอมรับฉายา ‘ตลาดหุ้นดาวรุ่ง’ ที่ตลาดหุ้นเวียดนามเคยครอบครองเป็นแน่ 

 

ทว่าสถานการณ์ปี 2565 ที่ผ่านมา ฉายาตลาดหุ้นดาวรุ่งนั้นห่างไกลจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดเวียดนามอย่างมาก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year to Date ถึงเดือนตุลาคม) ตลาดหุ้นเวียดนาม (VN Index) ให้ผลตอบแทนติดลบที่ -29.4% ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงที่หนักมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก เช่น อเมริกา S&P500 -23.1%, จีน CSI300 -24%, เกาหลีใต้ KOSPI -25.5%, ไต้หวัน TWSE -28.9%, และ ฮ่องกง Hang Seng -30.4% เป็นต้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


เมื่อประเมินถึงสาเหตุที่ตลาด หุ้นเวียดนาม ปรับลดลงอย่างหนักพบว่า เป็นสาเหตุเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งก็คือปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงในรอบหลายสิบปี ความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่นักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยทั่วโลกหยิบมาพูดถึงบ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลต่อเนื่องสู่ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและนโยบายลดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั่วโลก 

 

และหากประเมินจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกก็จะพบว่า ประเทศเวียดนามนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขเศรษฐกิจปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวที่ดีในหลายภาคส่วน โดยเวียดนามกำลังก้าวข้ามผ่านวิกฤตโควิดอย่างสมบูรณ์ กำลังเปิดประเทศรับเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก กำลังเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และที่สำคัญตลาดหุ้นเวียดนามกำลังปรับฐานผ่านรอบย่อจนกระทั่ง Valuation ไม่แพงแล้ว

 

ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่กำลังกลับเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น บวกกับการย่อตัวลงของดัชนีที่ลึกลงมาสู่ระดับที่น่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญ THE STANDARD WEALTH จึงรวบรวมปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งจะส่งอานิสงส์ไปยังตลาดหุ้น ดังนี้ 

 

  1. โครงสร้างเศรษฐกิจเอื้อต่อการเติบโต

เวียดนามเป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจมากประเทศหนึ่งของโลก มีภาคการผลิตและภาคส่งออกเป็นพระเอก ภาคบริการกำลังเติบโต ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 97 ล้านคน และโครงสร้างประชากรวัยทำงานและวัยหนุ่มสาวในสัดส่วนสูง โดยล่าสุด IMF ประมาณการการเติบโตของประเทศเวียดนามไว้สูงถึง 6-7% ทั้งปี 2565 และปี 2566 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงในภาวะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้มีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบต่างๆ รอบตัว ในขณะที่ประเทศเวียดนามยังคงมีมุมมองการเติบโตระยะยาวที่ดีได้อยู่ 

 

  1. GDP ขยายตัวในโมเมนตัมเชิงบวก

ภาพรวมของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงฟื้นตัวจากโควิดได้ดีอย่างต่อเนื่อง GDP ของเวียดนามยังคงมีโมเมนตัมที่ฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/65 GDP ขยายตัวได้ 5%, ไตรมาส 2/65 GDP ขยายตัวได้ 7.7% และไตรมาส 3/65 GDP ขยายตัวสูงถึง 13.7%

 

  1. การส่งออกแข็งแกร่ง-เงิน FDI ไหลเข้า

ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เป็นหัวใจสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม ผลพวงจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและเทคโนโลยี คาดการณ์ว่าการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) จะไหลเข้าสู่ภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง และเป็นประเทศที่ได้รับผลดีจาก Trade War และการลดการพึ่งพาจีนจากสายการผลิตซัพพลายเชนของผู้ผลิตระดับโลก 

 

  1. ท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวก้าวกระโดด

ภาคบริการกำลังขยายตัวได้ดี ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเวียดนามทั้งการบริโภคในประเทศ อัตราการเติบโตของยอดค้าปลีก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ล้วนแสดงในทิศทางเดียวกันว่าภาคบริการก็กำลังเติบโตและฟื้นตัวจากช่วงโควิดอย่างแข็งแรง

 

ขณะที่ความเสี่ยงที่ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลง จนทำให้หลายคนกังวลนั้น เกินครึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะถิ่นและเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา ดังนี้ 

 

  1. ภาครัฐเวียดนามตรวจสอบเข้มข้น 

ทางการเวียดนามเริ่มตรวจสอบตลาดหุ้น ตลาดหุ้นกู้ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ นำไปสู่การจับกุมนักธุรกิจหลายรายที่มีการฝ่าฝืนกฎระเบียบ ตลอดจนการอายัดทรัพย์สินของประธานบริษัทและผู้บริหารไปหลายราย ด้วยข้อหาปั่นหุ้น ข้อหาออกหุ้นกู้โดยนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันทางการเวียดนามยกระดับความเข้มงวดของนโยบายการออกหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จึงกระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นและตลาดหุ้นกู้

 

  1. นักลงทุนรายย่อยสูญเสียความเชื่อมั่นระยะสั้น

ผลกระทบจากการที่ภาครัฐตรวจสอบเข้มข้นก่อให้เกิดข่าวลือลามไปสู่บริษัทอื่นๆ ว่าอาจถูกสอบสวนด้วยคดีในลักษณะเดียวกัน ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยที่มีสัดส่วนกว่า 90% ของตลาดหุ้น ขาดความเชื่อมั่น จึงขายหุ้นออกมา 

 

  1. ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นดอกเบี้ยแรง 

ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 1% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศเวียดนามสูงถึง 6-8% ส่วนฝั่งอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนบางแห่งก็สูงเกิน 10% ซึ่งเป็นการซ้ำเติมตลาดทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย จึงเกิดแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักและโยกเงินมาฝากธนาคารแทน 

 

  1. ภาครัฐเวียดนามเข้มเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออสังหา

มีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในตลาดตราสารหนี้ ทำให้ออกหุ้นกู้ยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงถูกเทขายออกมา ซึ่งเป็น 2 กลุ่มที่มี Market Cap รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดหุ้นเวียดนาม

 

  1. ผิดหวังจากการขยับชั้นสู่ EM 

หนึ่งในความคาดหวังที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะได้ปรับขึ้นเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสรับเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบันต่างชาติได้อีกมาก แต่การปรับระดับยังคงไม่เกิดขึ้น โดย FTSE RUSSELL ยังคงระดับตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) ด้วยเหตุผลว่า ตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่ผ่านคุณสมบัติด้านระบบการชำระราคาและยังมีปัญหาด้าน Foreign Limited 

 

เมื่อพิจารณาทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจะเห็นตรงกันก็คือ ความเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงระยะสั้น แต่ปัจจัยบวกเป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งในจังหวะที่ VN Index ร่วงลงกว่า 30% จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมกับการทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นเวียดนามเพื่อรับผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุน SSF และ RMF จัดว่าเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ลงตัวที่สุดในจังหวะนี้ 

 

รู้จักกองทุน SCBVIET-SSF และ SCBRMVIET

กองทุน SCBVIET-SSF และ SCBRMVIET เป็นกองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนาม และ/หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม และ/หรือหน่วย CIS กองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในตราสารทุนประเทศเวียดนามโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน 

 

กองทุนมีความเสี่ยงระดับ 6 กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

 

กองทุนใช้กลยุทธ์การลงทุนด้วยการจัดการพอร์ตแบบสมดุล จากการจัดสรรเงินลงทุนแบ่งเป็น 3 ส่วน ใน ETF, Active Fund, และหุ้นรายตัว เพื่อหาผลตอบแทนในทุกสถานการณ์ในระยะยาว ตัวอย่างการลงทุน ได้แก่

  

  • ETF เช่น Diamond ETF, VN30 ETF, และ Vietnam Leading Financial ETF 
  • Active Fund เช่น Vietnam Equity Fund ของ Dragon Capital
  • หุ้นเวียดนามรายตัวที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น Vietcom Bank ธนาคารเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดตามมูลค่าตลาด มีผู้ถือหุ้นเป็นรัฐบาล และมีสาขามากที่สุด, VINHOMES บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม และเป็นบริษัทในเครือ Vingroup มีผลประกอบการเติบโตชัดเจน, PNJ ผู้นำธุรกิจเครื่องประดับ มี Market Share สูงถึง 38% มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและรายได้ของประชากรเวียดนามที่สูงขึ้น คนให้ความสนใจซื้อเครื่องประดับมากขึ้น

 

นอกจากนี้กองทุนยังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์โดยจัดพอร์ตให้มี Liquidity เพียงพอ เนื่องจากตลาดเวียดนามเป็น Frontier Market 

 

ความแตกต่างระหว่าง SCBVIET-SSF และ SCBRMVIET 

กล่าวได้ว่าทั้งสองกองทุนมี Underlying Asset เป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเหมือนกันและเป็นกองทุนประหยัดภาษีเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือระยะเวลาในการถือครองของผู้ลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ 

 

โดยผู้ลงทุนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี การลงทุนใน SCBVIET-SSF จะคุ้มค่ามากกว่า โดยสามารถถือกองสั้นกว่า เพราะใช้เวลาถือครองราว 10 ปีก็สามารถขายกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษี 

 

และสำหรับผู้ลงทุนอายุมากกว่า 45 ปี การลงทุนใน SCBRMVIET จะเหมาะกว่า โดยจะถือกองสั้นกว่า เพราะใช้เวลาถือครองน้อยกว่า 10 ปีก็สามารถขายกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษี 

 

ทั้งนี้ สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนใน SCBVIET-SSF หรือ SCBRMVIET เพราะเป็นการต่อยอดการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ และเป็นการจัดสรรเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในระยะยาว 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: 

 

คำเตือน:

  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน RMF/SSF ก่อนตัดสินใจลงทุน 
  • กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • กองทุนบางกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวนรวมถึงบางกองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ดังนั้นควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวได้ รวมทั้งสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนหลักได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมและรายละเอียดเพิ่มเติมของกองทุนผ่าน SCB EASY App
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising