×

ม.หอการค้าไทย คาด GDP ปีนี้ติดลบ 3.4-4.9% หลังโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลก

โดย efinanceThai
16.04.2020
  • LOADING...

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2563 ณ เดือนเมษายน 2563 ติดลบ 3.4-4.9% จากการประมาณการเดิมในเดือนมีนาคมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต 1.1% ส่วนตัวเลขส่งออกปีนี้คาดติดลบ 8.8-12% และเงินเฟ้อติดลบ 0.5-1% โดยปัจจัยกดดันหลักยังคงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงทั่วโลก

 

“การคาดการณ์ GDP ตอนแรกเราคาดติดลบถึง 8.8% เพราะยังไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาทออกมา” ธนวรรธน์กล่าว

 

โดยภาพรวมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทั่วโลกยังต้องเฝ้าระวัง แต่ประเมินว่าการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งคาดว่าภาคธุรกิจต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป ส่วนสถานการณ์ในยุโรปและสหรัฐฯ อาจเริ่มดำเนินการธุรกิจได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป

 

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มองว่าจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจไทยหายไปประมาณ 1.13 ล้านล้านบาท แต่ยังมีการนำเข้าสินค้าและบริการ รวมถึง พ.ร.ก. ช่วยเหลือต่างๆ เข้ามาทดแทน จึงคาดการณ์มูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยรวมทั้งหมดจะหายไป 7.52 แสนล้านบาท โดยคาดว่าอย่างเร็วสุดนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป

 

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยเหลือทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก เช่น ลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน, ชดเชยรายได้ให้แก่แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว, พิจารณาจ่ายเงินอุดหนุน 25-50% ของรายจ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน เพื่อชะลอการปลดคนงาน, รักษาอำนาจซื้อของประชาชน โดยควบคุมระดับราคาสินค้าที่จำเป็น, อนุมัติให้มีการจ้างงานแบบรายชั่วโมง (ชั่วคราว) เพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาเลิกจ้างแรงงานในภายหลัง

 

ส่วนภาคธุรกิจแนะลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคธุรกิจ, ลดค่าไฟฟ้า/น้ำประปา ปรับลดอัตราส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เลื่อนกำหนดเวลาในการจ่ายชำระภาษี, อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้าง สำหรับพนักงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (หรือตลอดช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19) เป็นต้น

 

สำหรับข้อแนะนำระยะที่สองสำหรับภาคครัวเรือน แนะเร่งการลงทุนภาครัฐ (โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กที่มีการจ้างงานภายในพื้นที่) เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน,อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างกรณีการจ้างงานใหม่ (เฉพาะคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน) มาหักภาษีได้ 2 เท่าในช่วง 1 ปีหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายเป็นปกติและ เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคน (โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนงาน/หางานใหม่)

 

ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ แนะสนับสนุนสินเชื่อ Soft Loan (ที่มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน) แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง, ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น ช้อปช่วยชาติ, ชิมช้อปใช้, ออกประกาศเพื่อจำกัดให้ส่วนราชการจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน/อบรมสัมมนาได้เฉพาะสถานที่ภายในประเทศเท่านั้น และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มช่องทางการขายไปยังระบบการค้าออนไลน์

 

รายงาน ชุติมา อภิชัยสุขสกุล  

เรียบเรียง จำเนียร พรทวีทรัพย์

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising