×

ESA พบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเฉียดใกล้ที่ระยะ 4,000 กิโลเมตร

08.09.2023
  • LOADING...
ESA

เมื่อเวลา 21.25 น. ของคืนวันที่ 7 กันยายน องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ระบุว่ามีดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกที่ระยะห่าง 4,000 กิโลเมตร และผ่านพ้นไปอย่างปลอดภัย

 

ฝ่ายพิทักษ์ดาวเคราะห์ของ ESA ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อชั่วคราวว่า C9FMVU2 เพียงไม่กี่ชั่วโมงล่วงหน้า เข้ามาเฉียดใกล้ที่ระยะห่างเพียง 4,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก หรือใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมบางดวงในอวกาศเสียอีก

 

ริชาร์ด มอยส์ล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์ดาวเคราะห์ของ ESA เปิดเผยว่า “ดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อโลก แต่มันเข้ามาใกล้โลกมากกว่าดวงจันทร์ถึง 100 เท่า ถือเป็นระยะที่ใกล้มากๆ ก่อนที่แรงโน้มถ่วงของโลกจะเปลี่ยนวงโคจรของมันไปตลอดกาล”

 

ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวมีขนาดเพียง 0.9-2 เมตรเท่านั้น ต่อให้อยู่ในเส้นทางพุ่งชนโลกจริง ก็มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศไปเกือบหมด กลายเป็นลูกไฟบนท้องฟ้าแทน

 

อย่างไรก็ตาม มอยส์ลระบุเพิ่มเติมว่า “การตรวจพบดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กเช่นนี้ได้ล่วงหน้า แสดงให้เห็นความสามารถในการตรวจหาวัตถุใกล้โลกที่ดียิ่งขึ้นของเรา” ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของฝ่ายพิทักษ์ดาวเคราะห์ประจำหน่วยงานอวกาศต่างๆ ทั่วโลก ที่คอยติดตามตำแหน่งและตรวจหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่อาจเป็นอันตรายอยู่ตลอดเวลา

 

มีดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 20 ดวง ที่จะมาเฉียดใกล้โลกระหว่างวันที่ 8-30 กันยายน ด้วยขนาดระหว่าง 4.8-170 เมตร แต่จุดใกล้สุดของดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดก็ยังอยู่ห่างไกลจากวงโคจรของดวงจันทร์เสียอีก เนื่องจากศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลกของ NASA กำหนดให้วัตถุที่เข้ามาใกล้โลกมากกว่า 7.5 ล้านกิโลเมตร หรือ 19.5 เท่าของระยะห่างโลก-ดวงจันทร์ เข้าข่ายว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตราย และได้รับการตรวจตราอย่างต่อเนื่อง

 

ก่อนหน้านี้ NASA ระบุว่า มากกว่า 99% ของดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตราย ไม่มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกในเวลาอีก 100 ปีต่อจากนี้ แต่หน่วยงานอวกาศจากนานาประเทศก็ยังเตรียมซ้อมแผนรับมือทั้งเชิงรับและเชิงรุก เช่น ภารกิจ DART ที่ถูกส่งไปทดสอบการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเมื่อปี 2022 

 

ภาพ: NASA

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising