×

ดาวเทียม ERS-2 ของยุโรป ตกกลับสู่โลก ไม่ก่อความเสียหาย

03.03.2024
  • LOADING...

องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA รายงานว่า ดาวเทียม ERS-2 ที่ถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ปี 1995 ได้ตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างปลอดภัยโดยไม่มีความเสียหายใดๆ ต่อวัตถุในอวกาศหรือบนภาคพื้นโลก

 

ดาวเทียม European Remote Sensing-2 ออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1995 โดยเป็นหนึ่งในดาวเทียมสำรวจโลกชุดแรกของ ESA ตามรอยภารกิจ ERS-1 ที่ส่งขึ้นบินไปในปี 1991 ด้วยวัตถุประสงค์การเก็บข้อมูลพื้นดิน มหาสมุทร และชั้นโอโซนของโลก เช่นเดียวกับเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบนพื้นโลก

 

ตามเดิมมีการวางแผนให้ดาวเทียม ERS-2 ทำงานได้ 3 ปี แต่ทีมภารกิจสามารถยืดอายุให้ทำงานได้นาน 16 ปี จนกระทั่งวันที่ 5 กันยายน 2011 ที่ยานไม่เหลือเชื้อเพลิงให้ใช้งานอีกต่อไป และได้รับคำสั่งปิดระบบทั้งหมดไปตลอดกาล

 

ก่อนหน้านั้น ESA ได้ลดระดับดาวเทียม ERS-2 ลงสู่วงโคจรที่จะค่อยๆ ถูกแรงต้านอากาศ ทำให้ตกกลับมาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกภายในระยะเวลา 25 ปี เพื่อเป็นการลดขยะอวกาศในวงโคจรและความเสี่ยงที่อาจเกิดการพุ่งชนกับวัตถุต่างๆ โดยหากไม่มีการลดระดับวงโคจรก่อนสิ้นสุดภารกิจแล้ว ERS-2 อาจอยู่ในอวกาศได้อีกนานถึง 100-200 ปีด้วยกัน

 

ในท้ายที่สุด ERS-2 ที่มีความยาว 11.8 เมตร ได้กลับมาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อเช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 00.17 น. ตามเวลาประเทศไทย เหนือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก โดยไม่มีรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเศษซากของดาวเทียมดังกล่าว ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจนาน 29 ปีอย่างสมบูรณ์แบบ

 

ในปัจจุบันมีวัตถุไม่น้อยกว่า 29,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรกำลังโคจรรอบโลกของเรา ประกอบด้วย ดาวเทียมที่ยังใช้งานได้ สถานีอวกาศ เศษซากจากจรวด และดาวเทียมที่สิ้นสุดภารกิจไปแล้ว ทำให้หน่วยงานต่างๆ กำลังบังคับใช้มาตรการควบคุมจำนวนเศษซากขยะอวกาศ โดยการนำดาวเทียมกลับมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลก เป็นหนึ่งในวิธีการสิ้นสุดภารกิจดาวเทียมอย่างปลอดภัย

 

ภาพ: HEO

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising