×

เป็นไปได้อย่างไร ผมเกิด ED (Erectile dysfunction) ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 30

01.08.2020
  • LOADING...

ทุกวันนี้ความเครียดจากการทำงาน รวมไปถึงตารางชีวิตที่แน่นทุกเวลา ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียในเรื่องสุขภาพกายเพียงอย่างเดียว จากการพูดคุยกับคนรอบๆ ตัว สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจคือ ผู้ชายวัยต่ำกว่า 30 ปี พบว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องความต้องการทางเพศลดลง จึงอยากชวนพูดคุยถึงสาเหตุและแนวทางป้องกันในเรื่องนี้กันค่ะ

 

Q: ผมเป็นผู้ชายวัยทำงานอายุยังไม่ถึง 30 ปี มีปัญหาความต้องการทางเพศลดลง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความกระชุ่มกระชวยเหมือนเดิม ความถี่ในการช่วยตัวเองน้อยลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ทั้งเวลาช่วยตัวเองหรือขณะมีเพศสัมพันธ์ แบบนี้เป็นเพราะเหนื่อยจากงานหรือความเครียดรอบตัวใช่หรือเปล่าครับ พอเอาเรื่องนี้ไปลองปรึกษาคนใกล้ๆ ตัว พบว่าน้องในที่ทำงานอายุ 23 ปีเอง ก็เจอปัญหาใกล้เคียง รวมถึงเพื่อนๆ วัยเดียวกันหลายคนก็เป็น เลยเกิดความสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่อายุยังไม่เยอะด้วยซ้ำ จึงอยากถามคุณหมอว่าจากอาการที่เล่ามาข้างต้น 

 

  1. มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง 
  2. เรามีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไรที่จะทำให้กลับมากระชุ่มกระชวยได้เหมือนเดิม 

 

A: อาการเสื่อมสมรรถนะทางเพศในชาย มี 3 แบบ คือ 1. อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว หรือเราเรียกว่า ED (Erectile dysfunction) แบบนี้พบได้มากที่สุด รองลงมาคือ 2. ความต้องการทางเพศลด และ 3. การหลั่งอสุจิผิดปกติ เช่น หลั่งช้า หลั่งเร็ว หรือไม่หลั่ง ซึ่งอาจเป็นได้ว่าสำหรับบางคนมีอาการมากกว่า 1 ข้อจาก 3 ผสมกันเกิดเป็นอาการได้หลายแบบ

 

สำหรับ ED แล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลยค่ะ เพราะเกิดขึ้นได้กับชายทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่การงานเร่งรัด เจอกับความเครียดสูง ถึงแม้ว่าแนวโน้มของอาการจะมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่พบในคนอายุน้อย กลับกันคือ แม้อายุน้อยก็สามารถพบอาการนี้ได้ จากสถิติที่สำรวจชายจำนวน 27,839 คน ใน 8 ประเทศ อายุตั้งแต่ 20-75 ปี พบอัตราการเกิดเฉลี่ยร้อยละ 16 โดยในจำนวนของผู้ที่พบการเกิด ED นั้น ร้อยละ 8 พบในชายอายุ 20-30 ปี และร้อยละ 37 พบในชายอายุ 70-75 ปี

 

โดย ED ที่เกิดในคนสูงวัยส่วนใหญ่เกิดจากโรคทางกาย แต่ ED ที่เกิดจากคนอายุน้อยส่วนใหญ่เกิดจากโรคทางจิตวิทยา และหรือมีปัญหาที่อวัยวะเพศชาย และการเกิด ED อายุน้อยจะสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือดที่เกิดเมื่ออายุมากขึ้น

 

เราลองมาทำความรู้จักสาเหตุของการเกิดอาการกลุ่มชายที่มีความเสี่ยง และวิธีแก้ไขไปพร้อมๆ กัน 

 

สาเหตุ: เกิด ED จากปัญหาระบบต่างๆ ของร่างกายดังต่อไปนี้

  1. หัวใจหลอดเลือด เช่น มีโรคหัวใจ เส้นเลือดตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ เคยผ่าตัดหรือฉายแสงรักษามะเร็งในอุ้งเชิงกราน    
  2. สมองและเส้นประสาท เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ได้รับบาดเจ็บที่สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท
  3. ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโตสเตอโรนต่ำ โรคฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำ ไธรอยด์เป็นพิษ หรือโรคฮอร์โมนต่อมหมวกไตผิดปกติ
  4. จิตวิทยา เช่น ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล เหนื่อย นอนไม่หลับ ไม่ได้พักผ่อน หรือมีปัญหาคู่ครอง 
  5. ปัญหาอวัยวะเพศชาย เช่น มีพังผืดยึด (Peyronie’s disease, carvernous fibrosis) หรือแกนหัก (Penile fracture)  

 

คุณลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการ ED

  1. มีโรคอ้วน สุขภาพไม่แข็งแรง หรือหยุดหายใจเมื่อนอนหลับ
  2. สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ในจำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  3. พฤติกรรมที่นั่งนานไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ข้อนี้มีงานวิจัยที่พบว่าคนที่เป็น ED นั้นหากหันกลับมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะแก้ไขอาการ ED ได้ถึงร้อยละ 30
  4. วิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ 
  5. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคตับ ไต ปอด ไขข้อ ภูมิแพ้ และภูมิต้านทานบกพร่อง  
  6. รับประทานสารหรือยาบางชนิด งานวิจัยพบว่า ผลข้างเคียงของสารหรือยาใน 8 กลุ่มต่อไปนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิด ED ถึงร้อยละ 25 ของ ED ทั้งหมด ได้แก่ ยาลดกรด ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ยารักษาเชื้อรา ยารักษาต่อมลูกหมาก (ต้านฮอร์โมนเพศชาย) ยาเสพติด รวมถึงแอลกอฮอล์

 

วิธีแก้ไข

  1. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ปล่อยให้เป็นโรคอ้วน ลดการดื่มเหล้า ลดการสุบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารครบหมู่ มีวิธีรับมือกับความเครียดที่ได้ผล
  2. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ครอง มีเวลาให้กัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
  3. มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ งานวิจัยพบว่า ชายที่มีเพศสัมพันธ์น้อยกว่า 1 ครั้ง ใน1 สัปดาห์ เมื่อติดตามไปนาน 5 ปี มีโอกาสเกิด ED สองเท่าของผู้มีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละ 1 ครั้งขึ้นไป
  4. หากมีโรคประจำตัว การรักษาโรคให้ใกล้เคียงปกติ จะลดการเกิด ED ได้
  5. ระวังการซื้อสมุนไพรมาใช้ สมุนไพรที่แก้ไข ED มักมีฮอร์โมนเพศชายระดับสูง อาจจะทำให้เกิดต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ  
  6. พบแพทย์เพื่อตรวจรักษา นอกจากตรวจหาโรคที่เป็นสาเหตุ ปรับยาที่เป็นสาเหตุ แนะนำการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต แพทย์อาจใช้ยารักษา ยาแถวแรกที่นิยมเลือกใช้ (First Line Drug) ได้แก่ กลุ่ม PDE5 inhibitors เช่น Sildenafil, Vardenafil, Tadalafil, Avanafil ที่รู้จักกันดีในนาม ‘ไวอากร้า’ 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories