×

อัครนันท์ชู 3 แนวคิด ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ไม่กระทบต่อหลักความเชื่อศาสนา-วัฒนธรรม-วิถีชีวิต ชี้เป็นกฎหมายทางเลือกให้คนได้เลือกใช้

21.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (21 ธันวาคม) ที่อาคารรัฐสภา อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส. กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับรัฐบาล ว่า เรื่องราวของกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเสน่ห์ให้กับคนรักเพศเดียวกันที่สามารถแต่งงานกันได้ แต่ในยุคนั้นสังคมยังไม่เปิดเผยเหมือนยุคนี้ ข้อเสนอนั้นเลยต้องยุติไป จนมีเหตุการณ์สำคัญในปี 2566 คือคู่รักเพศเดียวกันเดินทางไปยังอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อขอจดทะเบียนสมรส แต่อำเภอแจ้งว่าไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้เพราะว่าขัดต่อกฎหมาย

 

ซึ่งขณะนั้นนายกรัฐมนตรีคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ทำการศึกษาข้อกฎหมายการแต่งงานของคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันไว้ด้วย แต่ก็เกิดรัฐประหาร แนวคิดนั้นก็ไม่ได้สานต่อ จนกระทั่ง 11 ปีผ่านไป กฎหมายที่จะให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ หรือสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นและกำลังจะสำเร็จในวันนี้ ตนจึงขออภิปรายว่าทำไมประเทศไทยต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

อัครนันท์ระบุอีกว่า สถาบันครอบครัวถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การจำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน และความรักนั้นไม่ได้แบ่งเพียงชายหรือหญิงเพียงอย่างเดียว มันยังมีความหลากหลายทางเพศที่มีการได้อยู่ด้วยกัน การดูแลกัน การช่วยเหลือกัน ไม่ต่างจากชายและหญิง และหากมองไปรอบตัวของเราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่สีฟ้าหรือสีชมพูอีกต่อไป ไม่ได้มีเพียงคำว่าชายหรือหญิงอีกต่อไป รวมทั้งด้วยวัฒนธรรมประเพณีและบรรทัดฐานทางสังคมทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ และก่อให้เกิดการล้อเลียน รังแก การปฏิเสธการทำงาน และสิทธิในการรักษาสุขภาพที่เหมาะสม การถูกปฏิบัติตัวอย่างไม่เป็นธรรมแตกต่างกันไป

 

“และการที่กฎหมายยังไม่มีการรับรองสิทธิและหน้าที่ของคู่รักเพศเดียวกันก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล, สิทธิในการดูแลเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน, สิทธิในการจัดทรัพย์สินทรัพย์ร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก” อัครนันท์กล่าว

 

อัครนันท์กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเกิดอะไรขึ้น ตนมีประชาชนที่ประสบปัญหาโดยตรงจากคำจำกัดความเพียงแค่ ‘สามีภรรยา’ เช่น คู่ชีวิตจะต้องผ่าตัดเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่สามารถเซ็นยินยอมรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินได้เฉกเช่นสามีภรรยาตามกฎหมายบัญญัติ แล้วทำไมเขาถึงไม่มีสิทธิที่จะปกป้องคนรัก ทำให้ต้องสูญเสียคนรักเพียงเพราะเข้าไม่ถึงสิทธิสมรสตามกฎหมาย

 

การที่ประชาชนจะต้องเผชิญหน้ากับคำจำกัดความเหล่านี้ก่อให้เกิดความสูญเสีย พวกเขาเพียงต้องการเติมพื้นที่ให้เต็มและเท่ากันโดยสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยไม่ได้ลดทอนพื้นที่ของใคร และเชื่อว่าสมรสเท่าเทียมคือก้าวแรกของการสร้างบรรทัดฐานของสังคมไทยให้เปิดรับความแตกต่าง นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ซึ่งบัญญัติสิทธิของบุคคลไว้ว่า บุคคลทุกคนต้องเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ บุคคลได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันในเรื่องปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่างในเรื่องของถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา อายุ ความพิการ จะกระทำไม่ได้

 

แต่วันนี้การที่รัฐธรรมนูญเขียนบัญญัติไว้เพื่อขจัดอุปสรรคและการส่งเสริมให้บุคคลสามารถมีสิทธิและเสรีภาพ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรับรองคู่สมรสเพศเดียวกันให้สามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเพศใดโดยการแก้ไขกฎหมายอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด คือ

  1. ความเท่าเทียม
  2. ไม่ลดทอนความศรัทธา
  3. สิทธิในการเลือกใช้ มาตรา 66

 

“ผมเข้าใจดีว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจจะทำให้พี่น้องบางคนไม่สบายใจในเรื่องของหลักศาสนา และในเรื่องของความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งหากไปดูร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยรัฐบาล ได้รับฟังความเห็นจากผู้แทนกลุ่มศาสนาที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับนี้”

 

โดยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะไม่ใช่ข้อบังคับแก่กรณีที่มีกฎหมายกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะไม่กระทบต่อหลักความเชื่อของศาสนา โดยจะไม่กระทบต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต พิธีกรรมทางศาสนา ความรู้สึก เพราะกฎหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนกฎหมายทางเลือกให้กับคนได้เลือกใช้ หากดูการแก้ไขจะเห็นได้ว่าเราได้มีการเปลี่ยนการบัญญัติกฎหมายของครอบครัวคนในทุกๆ ด้าน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising