×

กฎหมายสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจ: ป้องกันมลพิษ ปิดความเสี่ยงข้อพิพาท

08.02.2023
  • LOADING...

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตเพื่อการค้าและการบริโภค เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องมีการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการผลิตที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ด้วยเหตุนี้ รัฐต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อมาควบคุมดูแลกิจกรรมและพฤติกรรมต่างๆ ของธุรกิจและประชาชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือทำลายสิ่งแวดล้อมจนเกินจำเป็น อันจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้นปรากฏอยู่ในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นหลักการอันเป็นสากลในปฏิญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ การรับรองและคุ้มครองสิทธิในรัฐธรรมนูญ การบัญญัติกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่บังคับใช้ในประเทศ รวมถึงกฎหมายลูก ประกาศ หรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดรายละเอียดและข้อบังคับในเรื่องต่างๆ

 

ในประเทศไทยมีกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษอยู่หลายฉบับ ในบรรดากฎหมายทั้งหลายนั้นอาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ เป็นกฎหมายหลักที่ใช้บังคับในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างครอบคลุม และได้ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างบ่อยครั้ง

 

พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ นั้นให้สิทธิทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการเรียกร้องค่าเสียหายตามหลัก ‘ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’ (Polluter Pays Principle) โดยเอกชนผู้ได้รับผลกระทบอาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ที่ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 96 ซึ่งกำหนดหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐ ไม่ว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม

 

โดยมีการกำหนดข้อยกเว้นที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษไม่ต้องรับผิดในความเสียหายเพียงในบางกรณี เช่น ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม หรือการกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายนั้นเองหรือของบุคคลอื่นซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อมในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น

 

นอกจากนี้ในมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ ยังได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือสาธารณสมบัติของรัฐต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปด้วย

 

จะเห็นได้ว่ามาตรการในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติข้างต้นนั้นกำหนดไว้อย่างกว้างขวางและเข้มงวด เพราะกฎหมายผลักข้อสันนิษฐานให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีความรับผิดและมีภาระการพิสูจน์ในทางคดี ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

 

ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับใหม่นี้จะมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) เพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าเสียหายที่แท้จริง ในอัตราไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อมได้กระทำโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยของชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือทรัพย์สินสาธารณะ และการกระทำดังกล่าวมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

 

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดขยายความรับผิดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ผู้ที่ทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือซ่อมแซมหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิมอีกด้วย (จากเดิมที่กำหนดว่าต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย เท่านั้น)

 

ในทางปฏิบัติยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือควบคุมมลพิษอีกจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484, พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.​ 2542 ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับก็อาจมีการประกาศหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยอีกด้วย

 

ธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต มักจะมีส่วนที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะในกระบวนการผลิตของธุรกิจอาจก่อให้เกิดภาวะมลพิษหรืออาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษในดิน หรือมีการใช้สารเคมีที่มีการควบคุม เป็นต้น

 

อีกทั้งในกรณีโครงการขนาดใหญ่ ก็อาจต้องจัดทำและปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report: EIA) ด้วย ในทางปฏิบัติ ธุรกิจต่างๆ อาจกำหนดข้อปฏิบัติหรือมาตรฐานในการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่บริษัทขาดตกบกพร่อง มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำกับดูแลกิจการหรือเกิดเหตุอันไม่คาดฝันนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางกฎหมายที่สูงเกินจะคาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีให้รับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายตามกฎหมายต่างๆ จากผู้ได้รับผลกระทบหรือภาครัฐ ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่สูงจากกรณีที่กฎหมายกำหนดความรับผิดโดยเข้มงวด ดังได้ยกตัวอย่างความรับผิดที่พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ กำหนดไปก่อนหน้านี้ การฟ้องร้องดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจโดยผู้ได้รับผลกระทบหรือโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Governmental Organizations: NGOs) ซึ่งบริษัทอาจต้องเข้าไปเป็นคู่ความร่วมในคดี ตลอดจนความเสี่ยงอันเกี่ยวกับการดำเนินการทางอาญา

 

ผู้ประกอบการที่มีกิจการซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อของสิ่งแวดล้อมจึงควรดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และบริหารความเสี่ยงอันอาจเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบกฎหมายและข้อปฏิบัติในการทำงานให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตาม ซักซ้อมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ ดำเนินการตรวจสอบภายในให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อปฏิบัติในการทำงานอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการจัดหากรมธรรม์ประกันภัยซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising